ทางเลี่ยง ทางหลบ ทาง(ไม่)รอด “ประยุทธ์”ลุยไฟการเมือง–ถวายสัตย์ฯขัดรธน..?


เพิ่มเพื่อน    

          เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจะได้อภิปรายซักถามแบบซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติในประเด็นปัญหาถวายสัตย์ฯ และการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา

ขัดรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนสภาจะปิดสมัยประชุมวันที่ 18 กันยายน

                ญัตติของพรรคฝ่ายค้านมี ส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อ 214 คน ยื่นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 บัญญัติว่า

                มาตรา 152 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้

                พรรคฝ่ายค้านระบุไว้ในญัตติ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีกล่าวตามนั้น ถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

                อีกประเด็นคือ การแถลงนโยบายรัฐบาลไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 162

                พิจารณาจากเงื่อนไขการยื่นญัตติ พรรคฝ่ายค้านมีสิทธิอภิปรายทั่วไปในประเด็นที่ข้องใจ สงสัย กรณีปมถวายสัตย์ฯ ต้องการจะทราบข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ฯ ด้วยถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 หรือไม่

                ทำไมจึงเพิ่มถ้อยคำ “ตลอดไป” เข้ามาในตอนท้ายของคำถวายสัตย์ฯ ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติคำนี้ไว้

                เหตุใดรัฐธรรมนูญบัญญัติถ้อยคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับตัดทิ้งไปเฉยๆ

                ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เป็นอันใช้บังคับมิได้

                นอกจากนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านยังจะซักถามข้อเท็จจริงเรื่องการอ่านข้อความถวายสัตย์ฯ จากแผ่นกระดาษที่ พล.อ.ประยุทธ์เอามือล้วงออกมาจากกระเป๋าเสื้อ แทนที่จะจัดทำให้เรียบร้อยสมพระเกียรติยศ ด้วยการวางไว้บนแฟ้มปกกำมะหยี่สีน้ำเงินเหมือนที่เคยเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ครั้งที่ผ่านๆ มาในยุค คสช. ซึ่งก็กล่าวถ้อยคำครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญไม่ขาดๆ เกินๆ เหมือนครั้งล่าสุด

                แน่นอนว่า ฝ่ายค้านจะต้องหยิบยกสารพัดถ้อยคำมาอภิปรายโจมตี เช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์, การละเมิดต่อพระมหากษัตริย์, การบังอาจกระทำในสิ่งที่ไม่บังควร ฯลฯ

                พล.อ.ประยุทธ์จะชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไร

                มีเจตนาเช่นใดในการกระทำเช่นนั้น

                ทำไมจึงไม่ยอมรับผิดชอบแล้วแก้ไขโดยฉับพลันทันทีที่รู้ว่าได้กระทำในสิ่งไม่บังควรขึ้น

                ดูเหมือนประตูที่จะเป็นทางออกนั้นค่อนข้างจะแคบหรือตีบตันเอามากๆ

                จะอ้างว่าทำถูกตามขั้นตอน ครบถ้วนทุกกระบวนการก็พูดได้ไม่เต็มปาก

                จะบอกว่า สามารถกระทำได้และได้ถวายสัตย์ฯ เสร็จสิ้นไปแล้ว ก็อาจถูกโต้แย้งว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กระทำได้ ไม่มีความผิดใดๆ ไม่ถือเป็นสิ่งไม่บังควร อาจมีคำถามย้อนกลับว่า

                องคมนตรีก็ดี ตุลาการและผู้พิพากษาก็ดี ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 13 และ 191 บัญญัติให้ต้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามรัฐที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ก็สามารถเพิ่มเติมข้อความขึ้นเองและตัดข้อความบางวรรค ประโยค ให้ต่างไปจากรัฐธรรมนูญบัญญัติก็ได้ใช่ไหม

                ในประเด็นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาก็จะได้ฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากรัฐบาลว่า ได้แถลงที่มาของรายได้ไปแล้วหรือยังในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25–26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

                ถ้าแถลงแล้วอยู่ตรงส่วนไหน ทำไมฝ่ายค้านบอกว่าไม่ได้แถลง เมื่อชี้แจงแล้วฝ่ายค้านจะยอมรับหรือไม่ และจะยังไงกันต่อ...

                ในการอภิปราย ส.ส.ฝ่ายค้านคงหวดเต็มแรงให้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีขอพระราชทานอภัยโทษ หรือให้ลาออกจากนายกฯ เพื่อสรรหานายกฯ กันใหม่

                ปัญหาสำคัญคือ ถ้าถือว่าการถวายสัตย์ฯ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การเข้าปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นต้นมา เป็นอันโมฆะ

                องค์กรที่จะชี้ขาดเรื่องนี้ไม่ใช่สภา แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ

                แต่กรณีนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, อัยการสูงสุด, ป.ป.ช. องค์กรเหล่านี้จะมีท่าทีอย่างไร

                กล่าวสำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งว่า วันที่ 27 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีข้อสรุปเรื่องปมถวายสัตย์ฯ

                ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบก็ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด จะยังมีประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งต่อไป

                มีการทำนายกันว่า ข้อสรุปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะชี้ออกมานั้นไม่แคล้วฝ่ายค้านจะต้องผิดหวัง เหมือนกับเคยผิดหวังมาแล้วเมื่อครั้งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

                แต่ในทางการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

                ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติได้เกาะติดปมถวายสัตย์ฯ ขัดรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม

                แม้ว่าการอภิปรายทั่วไปในต้นเดือนกันยายนนี้จะไม่มีการลงมติเหมือนการเปิดซักฟอกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าจะเกิดการขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านที่ต้องการอภิปรายและแสดงภาพและคลิปในที่ประชุม กับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่จะยกมือและลุกขึ้นพูดประท้วงเป็นพัลวันเพื่อขัดขวางฝ่ายค้านไม่ให้อภิปราย หรือแสดงภาพหรือคลิปให้ประชาชนและสื่อได้ดู

                ตกหนักที่คนทำหน้าที่ประธานจะคุมเกมให้สภาเรียบร้อยได้อย่างไร

                จุดที่จะเพิ่มความเข้มข้นของศึกวิวาทะในสภาดุเดือดร้อนแรงยิ่งขึ้นคือ ปัญหาความขัดแย้งกินใจระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศตัดพี่ตัดน้องไปแล้ว

                นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังยื่นหนังสือให้นายชวน หลีกภัย ลาออกจากประธานสภาฯ

                ความชุลมุนวุ่นวายในสภาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

                การอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ไม่มีการลงมติก็จริง แต่ด้วยประเด็นที่ยื่นซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประเด็นร้อนและเปราะบาง เพราะเกี่ยวเนื่องกับเบื้องสูง

                เป็นเรื่องใหญ่ชนิดคอขาดบาดตายถึงขั้นที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ได้เลย

                สถานการณ์ขณะนี้เปรียบได้กับ พล.อ.ประยุทธ์กำลังเดินลุยฝ่าเปลวเพลิงอันร้อนระอุ

                เสถียรภาพของรัฐบาลย่อมสั่นสะเทือนไม่มากก็น้อย

ความชอบธรรมในทางการเมืองจะอยู่กับฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน?

                ศึกอภิปรายส่งท้ายก่อนสภาปิดสมัยประชุมมีโอกาสที่จะมีลูกติดพัน เปิดช่องให้ฝ่ายค้านนำไปขยายผลขย่มรัฐบาลต่อ รอโอกาสเปิดสมัยประชุมอีกครั้งต่อไปในเดือนตุลาคมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งสภาต้องลงมติ

                รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะฝ่ามรสุมฝ่ายค้านได้หรือไม่

                การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะจะเป็นคิวเชือดที่จะต้องบังเกิดขึ้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"