Anti-Fake News Center


เพิ่มเพื่อน    

 ได้รับฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) มีดำริที่จะก่อตั้ง Fake News Center ขึ้น ก็ต้องขอชมเชยว่าเป็นความคิดที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เพียงแต่อยากแสดงความคิดเห็นว่าน่าจะชื่อว่า Ant- Fake News Center มากกว่า ทั้งนี้เพราะหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ “ต่อต้าน” Fake News หรือข่าวปลอม ข่าวลวงทุกประเภท คำว่า “ต่อต้าน” น่าจะตรงกับคำว่า “Anti” ดังนั้นศูนย์นี้จึงสมควรที่เรียกว่า “Anti-Fake News Center” ในภาคภาษาไทยว่า “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” และศูนย์ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่หลายๆ อย่างที่เป็นการต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอมต่างๆ ที่ทำความเสียหายให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีเรื่องราวที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้เพราะว่าในปัจจุบันสังคมมีพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นสื่อเปิดที่ทำให้ประชาชนทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่สามารถผลิตข่าวนำเสนอแก่สังคมได้โดยไม่มีบรรณาธิการเป็นผู้ คัดสรรข่าวที่จะนำออกมาเผยแพร่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สื่อสังคมออนไลน์ให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวให้แก่ประชาชนทุกคนในสังคมประชาธิปไตย การต่อต้านข่าวปลอมบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

คำว่า ข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ปรากฏบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์นั้นมีหลากหลายรูปแบบที่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทัน

                · ข่าวปลอม คือ ข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย คนที่นำข่าวนี้มาเผยแพร่จงใจที่จะทำให้ประชาชนเชื่อและเข้าใจผิด สร้างความเสียหายให้บุคคลหรือหน่วยงานในข่าว

                · ข่าวลวง คือ ข่าวที่จงใจให้คนเข้าใจผิด แล้วกระทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร สร้างความเสียหายให้แก่คนที่เชื่อข่าวลวงดังกล่าว และเมื่อมีความผิดหวัง ไม่ได้รับอะไรบางอย่างที่ข่าวลวงบอกว่าพวกเขาจะได้รับ ก็จะก่อให้เกิดความเกลียดชังหน่วยงานที่พวกเขาหวังว่าจะให้อะไรบางอย่างกับพวกเขา

                · ข่าวลือ คือ ข่าวที่ไม่ใช่เรื่องจริง แต่มีคนบางคนนำมาเผยแพร่ โดยใช้คำว่า “ได้ยินมาว่า” หรือ “เขาเล่าว่า” หรือ “เขาพูดกันว่า” ข่าวแบบนี้จะทำให้คนแตกตื่น เป็นกังวล

                · ข่าวผิด คือ ข่าวที่คนนำเสนอเข้าใจผิด ฟังไม่เข้าใจ แล้วนำมาเผยแพร่ผิดๆ อย่างที่คำพังเพยของไทยบอกว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด” เป็นการนำเสนอของคนที่ไม่รู้จริง

                · ข่าวบิดเบือน คือ ข่าวที่ผู้นำเสนอรู้ดีว่าความจริงคืออะไร แต่นำข่าวนั้นไปเสนอแบบจงใจบิดเบือน จงใจตีความข่าวจริงให้มีความหมายเชิงลบ เพื่อให้คนในข่าวหรือหน่วยงานในข่าวได้รับความเสียหาย เป็นการเสนอข่าวของคนที่จงใจทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบุคคลที่อยู่ในข่าว

                · วาทกรรม เป็นการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่ข่าว แต่ก็เป็นการสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดทัศนคติที่ผิดๆ ความเชื่อที่ผิดๆ นำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดๆ ทั้งที่เรื่องจริงไม่เป็นไปตามวาทกรรมเหล่านั้น เช่น “สืบทอดอำนาจ” “ลิดรอนเสรีภาพ” “เป็นเผด็จการ” “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นต้น

                ข่าวประเภทต่างๆ เหล่านี้เข้าข่ายเป็น Fake News ที่ควรจะต้องมีศูนย์ต่อต้านข่าวทั้งหลายเหล่านี้ โดยศูนย์ดังกล่าวนี้จะต้องทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

                · Monitoring เฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารต่างๆ เพื่อจะรู้ได้ทันทีที่มีการนำเสนอ Fake news

                · Fact Finding ต้องหาข้อเท็จจริงทันทีว่า หากข่าวนั้นเป็น Fake News ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วความจริงคืออะไร

                · Communicating ต้องสื่อสารชี้แจงให้ประชาชนได้รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ให้เจ้าของเรื่องในข่าวออกมาชี้แจงพร้อมด้วยหลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริงตามความจริง

                · Identifying แสวงหาต้นตอของ Fake News เหล่านั้น แล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเป็นใคร และมีเจตนาอะไรที่ปล่อยข่าวแบบนั้น

                · Enforcing ใช้กฎหมายในการจัดการกับคนที่ปล่อยข่าวดังกล่าวเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด ต้องทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงมีความศักดิ์สิทธิ์ ต้องเอาจริงในการใช้กฎหมายลงโทษคนที่ปล่อย Fake News อย่าเพิกเฉยละเลยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำให้ปริมาณ Fake News บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มีมากขึ้นเรื่อยๆ

                · Campaigning ทำการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน Fake News อย่าให้พวกเขาเชื่ออะไรง่ายๆ จะต้อง “เช็ก” ให้ “ชัวร์” ก่อนที่จะ “เชื่อ” และอย่าด่วน “แชร์” ก่อนที่จะมั่นใจว่าเรื่องที่ได้รับรู้นั้นไม่ใช่เรื่องจริง และต้องช่วยกันประณามคนเหล่านั้น และทำหน้าที่รายงานไปยัง Facebbok, Instagram และ YouTube ให้ Block คนเหล่านั้น

                การทำงานดังกล่าวข้างต้นของศูนย์ต่อต้าน Fake News จะต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะสังคมปัจจุบันเป็นสังคม Real Time ถ้าหากตอบโต้ อธิบาย ชี้แจงล่าช้าอาจจะไม่ทันการณ์ ทั้งนี้เพราะว่าข่าวสารบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์นั้น คนที่ได้พบเห็นจะกด Share ทำให้ข่าวสารนั้นกลายเป็น Viral Message ที่กระจายไปอย่างกว้างขวางรวดเร็วมาก ระวัง “วัฒนธรรมระบบราชการ (Bureaucratic Culture) ที่อาจจะเป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ของศูนย์ต่อต้าน Fake News ที่ทางกระทรวง DE จะจัดตั้งขึ้น รีบทำนะคะ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"