ส.ว.สหรัฐเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ หยอดคำหวานเห็นพัฒนาการสำคัญทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หวังสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติต่อเนื่อง ขณะที่บิ๊กตู่ชวนเนเธอร์แลนด์ร่วมลงทุนใน EEC โต้เสียงวิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แก้ปัญหา บอกต้องดูในรายละเอียด กระทรวงเกษตรฯ หยุดเลือดชาวสวนยาง ทุ่มงบ 3.3 หมื่นล้านประกันราคายางแผ่น กก.ละ 60 บาท ในห้วง 6 เดือน
เมื่อช่วงสายวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เปิดทำเนียบรัฐบาลให้คณะผู้นำภาคราชการพลเรือนอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยมคารวะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำภาคราชการพลเรือนอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 (The 3rd Heads of Civil Service Retreat) โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย จากนั้น นางแทมมี ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาราชการที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค.นี้ โดยนางแทมมีกล่าวว่า ยินดีที่การเดินทางมาไทยในครั้งนี้ ได้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญของไทย ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ยินดีที่ไทยและสหรัฐดำเนินความสัมพันธ์ได้เต็มรูปแบบ เชื่อมั่นว่าไทยและสหรัฐในฐานะมิตรประเทศที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันมายาวนานจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกันในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค เพื่อสร้างสรรค์เสถียรภาพ ความมั่นคง ซึ่งจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ อาเซียนมี ASEAN Outlook on the Indo-Pacific เป็นกรอบแนวทาง
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญชวนสหรัฐดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับอาเซียน รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค อาทิ ACMECS เป็นต้น
ในช่วงบ่าย นายเฟอร์ดินาน ครัปเปอร์เฮาส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและความมั่นคง ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยและเนเธอร์แลนด์ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างกัน โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยสูงที่สุดในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวเชิญชวนเนเธอร์แลนด์ขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการ EEC ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น โลจิสติกส์ การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นต้น
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยนายกฯ ชี้แจงว่าเรื่องนี้ต้องศึกษาเนื้อหาของชุดมาตรการกันให้ละเอียด ขอความร่วมมือสื่อมวลชนอย่านำเสนอกันแค่ว่า คณะรัฐมนตรีนำเสนอมาตรการออกไปเท่านั้น แต่ขอให้ร่วมกันนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของชุดมาตรการด้วย ซึ่งครอบคลุมหลายภาคส่วนและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ชุดมาตรการนี้เป็นเพียงการกระตุ้นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่การแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ วิธีคิดและวิธีการทำงานไปพร้อมๆ กัน ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือชาวนาเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการช่วยเรื่องปาล์มน้ำมันและยางพาราตามมาอีก โดยมาตรการที่ทำมาทั้งหมด ต้องการพยุงให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เพราะกว่าที่รัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณประจำปี 2563 ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า
นางนฤมลกล่าวว่า มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องเป็นรายไตรมาส หากช่วงไหนเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องเข้าไปดูว่ารัฐบาลจะทำอะไรได้บ้าง บางอย่างก็ต้องคิดทบทวนให้ละเอียด เช่น ฟรีวีซ่า ที่มีผลกระทบหลายด้าน แม้ว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเตือนว่าหากไม่ดำเนินมาตรการ อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง แต่ ครม.ก็ได้พิจารณากันอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสียในทุกมิติ ตั้งแต่ความมั่นคง ความพร้อมของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อพิจารณารอบด้านแล้ว จึงไม่เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว และรัฐบาลก็คงต้องหามาตรการเสริมอย่างอื่นเข้าไปแทนอีกต่อไป เช่นเดียวกับข้อเสนอให้เปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ก็ต้องไปทบทวนดูว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะไม่อยากให้การแก้ปัญหาหนึ่งนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสังคม
"พล.อ.ประยุทธ์ยังฝากให้ทุกคนช่วยสื่อสารเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้โดยละเอียดด้วย อยากให้พวกเราร่วมมือกันทุกภาคส่วน ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นตามมา การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบชีวิตคนไทย จึงศึกษาเรื่องเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน และพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนจะทำการตัดสินใจในเรื่องใด ขอให้คำมั่นว่า ไม่มีสิ่งใดจะสามารถทำให้นายกฯ ตัดสินใจในหนทางที่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนได้" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมาตรการรักษาเสถียรภาพยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ในราคายางแผ่น 60 บาทต่อกิโลกรัม จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างเร่งด่วน เพราะเกษตรกรสวนยางได้รับความเดือดร้อนมากว่า 5 ปีแล้ว เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล แต่ต้องการให้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด อีกทั้งต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน โดยขั้นตอนการปฏิบัติต่อไปให้มีกฎหมายรองรับจะเชิญผู้แทนภาคเกษตรกรมาร่วมหารือด้วย
"โครงการประกันรายได้จ่ายตามจริง ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนบัตรสีเขียว ที่มีเอกสารสิทธิกว่า 1.1 ล้านราย พื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งเกษตรกรถือบัตรชมพูที่ไม่มีเอกสารสิทธิเข้าโครงการประกันรายไม่ได้กว่า 3 แสนราย ก็จะพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ต่อไป พื้นที่ขึ้นทะเบียนสำหรับพื้นที่มีเอกสารสิทธิ 13,326,540 ไร่ พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 3,874,850.77 ไร่ รวม 17,201,390.77 ไร่ ระยะเวลา 1 ตุลาคม 62- กันยายน 63 และประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 50 บาทต่อกิโลกรัม คิดพื้นที่ยางจากสวนยางที่อายุ 7 ปีขึ้นไปการจ่ายเงินชดเชย 2 เดือนครั้ง คือ ตุลาคม 62-พฤศจิกายน 62, ธันวาคม 62-มกราคม 63 และกุมภาพันธ์ 63 วิธีการจ่ายนั้นจะจ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)" นายเฉลิมชัยกล่าว
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กรอบงบประมาณนั้นให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 ประกอบด้วย งบประมาณสำหรับประกันรายได้ตามโครงการ งบประมาณชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ค่าใช้จ่ายในการโอนเงินให้เกษตรกร และค่าบริหารโครงการเหมาจ่ายร้อยละ 1 ของวงเงินชดเชยรายได้เกษตรกรสวนยางในพื้นที่บัตรสีเขียวใช้งบประมาณรวม 33,223,564,056 บาท ผลผลิต 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ได้ปริมาณผลผลิตรวม 267,000,000 กิโลกรัม
สำหรับกระบวนการดังนี้ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์และผู้มีสิทธิ์แจ้งเข้าร่วมโครงการ 7-14 วัน ขั้นตอนตรวจสอบสิทธิ์จะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร คณะทำงานระดับตำบลรับรองพื้นที่กรีดยางเดือนละ 1 ครั้ง ตรวจสอบพื้นที่ปลูกและพื้นที่เปิดกรีด กยท.จังหวัดนำรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านการรับรองคณะทำงานระดับตำบลส่งให้ กยท.สำนักงานใหญ่ เพื่อส่งให้ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ ประกาศราคาอ้างแต่ละเดือน กยท.ประมวลผลและรวบรวมข้อมูลส่ง ธ.ก.ส.และ ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร แล้วแจ้ง กยท.ทราบ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวแทบทุกวันว่าคนไทยฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ รู้สึกเป็นห่วงว่าหากเศรษฐกิจไทยแย่ลงตามเศรษฐกิจโลกที่ทำท่าจะแย่ลงจากสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะยิ่งมีปัญหาการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไปอีก จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยด่วน ซึ่งหากเห็นว่าบุคลากรที่บริหารเศรษฐกิจชุดเดิมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว เช่น ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เพิ่งจะพูดว่าเศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อรัฐบาลเก่าและใหม่กำลังไปด้วยดี แต่จีดีพีกลับโตได้แค่ 2.3% เท่านั้น เหมือนกับถูกตบหน้าดิสเครดิตอย่างรุนแรง ดังนี้ จึงควรหาบุคลากรชุดใหม่ให้เข้ามาช่วยแก้ไขเศรษฐกิจแทน ตามที่ในสภามีการนำคำพูดที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดไว้ว่า คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม แต่หวังผลที่เปลี่ยนแปลงคงเป็นไปไม่ได้ เช่นไหนก็เช่นกัน ใช้คนชุดเดิม คิดและทำแบบเดิมมา 5 ปี หวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นคงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |