กกต.จ่อชงเรื่องยุบพรรคประชาชนปฏิรูปเข้าที่ประชุม 27 ส.ค.นี้ "ไพบูลย์" มั่นใจยุบพรรคเข้าเงื่อนไข กม. "ป้อม" เปิดไต๋ให้มาช่วยงานด้านกฎหมาย พปชร. หลายฝ่ายจวกเละหวั่นเปิดช่องพรรคเล็กซบพรรคใหญ่ "สมชัย” จี้ กกต.เคลียร์ปมคำนวณคะแนนใหม่ เชื่อถึงศาล รธน. นักวิชาการเตือนป่วนแน่จะแทรกอยู่ตรงไหนของบัญชีรายชื่อ พปชร. "เพื่อไทย" ฟันธงขัด รธน.และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ห้ามควบรวมพรรค ส.ส.ปชป.ซัดเร่ขายตัวทรยศเสียง ปชช. จับตา 7 พรรคฝ่ายค้านกางตารางสัญจร 4 ภาคปลุกแก้รธน. "สมศักดิ์" สวน "ประวิตร" ลั่น 5 รมต.ไม่ลาออกอ้างควบ ส.ส.ทำงานภาพรวมได้ดีกว่า
เมื่อวันศุกร์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 27 ส.ค.นี้ จะนำเรื่องการเสนอขอยุบเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เข้าเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อให้พิจารณาตามมาตรา 91 ซึ่งเป็นเรื่องพรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีทั้งหมด 7 กรณี เบื้องต้นนายไพบูลย์ได้จัดส่งเอกสารครบแล้ว และพร้อมที่จะนำเข้าพิจารณา ที่คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเป็นการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกต. ในส่วนของการยื่นขอยุบพรรค ก็มีพรรคการเมืองอื่นยื่นเรื่องมาเช่นกัน ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มี ส.ส. โดยการพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมาย
ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เดินทางมาที่สำนักงาน กกต. พร้อมเปิดเผยว่า มาเซ็นเอกสารในการแจ้งยุบพรรคเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้เซ็นชื่อในสำเนาบัตรประชาชน พร้อมมั่นใจว่าการยื่นครั้งนี้น่าจะสามารถดำเนินยุบพรรคประชาชนปฏิรูปได้ เพราะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย และทันทีที่ กกต.ประกาศยุบพรรคในราชกิจจานุเบกษา ก็จะเดินทางไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทันที
นายไพบูลย์ยอมรับว่า ไม่สามารถนำคะแนนของพรรค ปชช.โอนไปให้พรรค พปชร.ได้ และหากภายใน 1 ปีมีการเลือกตั้งใหม่ มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ คะแนนของพรรคที่มีอยู่กว่า 45,000 คะแนนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส. ก็ยินดีที่จะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนบัญชีรายชื่อของพรรค พปชร. ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่การที่ตนไปสมัครทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคเพิ่มเท่านั้น ไม่ได้ไปอยู่ในบัญชีของพรรค พปชร. และการย้ายพรรคในครั้งนี้ เพราะการยุบเลิกพรรคไม่ได้ เพราะหนีความเสี่ยงที่จะหลุดจาก ส.ส. เพราะคะแนนของพรรคตนยังอยู่ในเซฟโซน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์เตรียมมาร่วมงานกับพรรค พปชร.ว่า นายไพบูลย์จะมาดูในเรื่องกฎหมาย ส่วนตามกฎหมายสามารถย้ายพรรคได้ใช่หรือไม่ ไม่รู้ ต้องถามนายไพบูลย์ เพราะเป็นนักกฎหมาย แต่เราไม่ขัดข้อง และตอนนี้นายไพบูลย์ได้ยกเลิกพรรคไปแล้ว
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างให้กับพรรคเล็กที่เหลือหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะไปรู้ได้อย่างไร เราไม่ใช่พรรคเล็ก ส่วนสมาชิกพรรคอื่นเข้ามาร่วมกับพรรค พปชร.หรือไม่ ยังไม่รู้ แต่ยังไม่มีใครติดต่อเข้ามาเพิ่มเติม ขณะนี้มีเพียงนายไพบูลย์ ส่วนเหตุผลของนายไพบูลย์คืออะไรนั้น ต้องไปถามเจ้าตัวเอง
เมื่อถามถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุจะเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุกนัด เพื่อคุมเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะทำให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลเข้มแข็งและชนะโหวตทุกครั้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนถามกลับว่า "แล้วเมื่อวาน (22 ส.ค.) เป็นอย่างไร แค่นั้นก็จบ"
ถามว่า หากเป็นเช่นนี้มั่นใจว่าต่อไปฝ่ายรัฐบาลจะชนะโหวตทุกครั้งใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะไปรู้ได้อย่างไรกับเหตุการณ์ข้างหน้า ไม่มีใครตอบได้ สื่อชอบถามเหตุการณ์ในอนาคต
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่ระบุว่าอาจโหวตสวนทางกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในบางกรณี พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจใหม่
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เตรียมยื่นยุบพรรคเพื่อมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐว่า ขณะนี้นายไพบูลย์ได้กรอกใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการคำนวณ ส.ส.ใหม่ของพรรค เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนการย้ายพรรคของคนอื่นๆ นั้น ตอนนี้ยังไม่ทราบ เพราะขณะนี้มีเพียงนายไพบูลย์คนเดียวเท่านั้น
จี้ กกต.เคลียร์คะแนนใหม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ภายหลังนายไพบูลย์ยื่นเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปว่า ให้ถามกกต.ดีกว่า เขาจะเป็นคนชี้ในเรื่องนี้ว่าจะต้องเอาคะแนนมาเฉลี่ยแบบไหน เขาเตรียมแก้ปัญหาไว้แล้ว ในรัฐธรรมนูญให้ กกต.เป็นฝ่ายคำนวณและเป็นคนตอบ เริ่มต้น กกต.จะเป็นคนชี้ หลังจากนั้นถ้าเห็นว่ากกต.ชี้ไม่ถูก ก็ต้องไปศาล เหมือนการนับคะแนนครั้งที่แล้วก็เริ่มจาก กกต.ก่อน กกต.ว่าอย่างไร ถ้าเห็นด้วยก็จบ ไม่เห็นด้วยก็ไปศาล ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ขั้นตอนต้องใช้เวลา ต้องมีกระบวนการ
เมื่อถามว่า รูปแบบนี้จะกลายเป็นโมเดลให้พรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ พรรคอื่นคงไม่คิดทำอย่างนี้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่บังเอิญตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ฉบับนี้ใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นจะทำอย่างไรก็ให้กกต.เป็นคนตอบ
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวว่า การยุบพรรคมี 2 กรณี คือยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญและตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เห็นว่าไม่สามารถบริหารจัดการภายในพรรคได้ เช่น มีหนี้สิน และไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้จึงยื่นยุบต่อ กกต. ซึ่งเมื่อพรรคยุบพรรคแล้ว ส.ส.ยังมีสถานะความเป็น ส.ส.อยู่ โดยจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน แต่จะมีปัญหากรณีที่ ส.ส.เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมาจากคะแนนรวมทุกเขตของทั้งประเทศที่ถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี
“คำถามคือ ส.ส.ดังกล่าวจะไปอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าไหร่ของพรรคการเมืองใหม่ที่ไปสังกัด เพราะจะมีปัญหาหากมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น ที่ต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เช่น กรณีจังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่าเกิดการปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพราะเมื่อคำนวณคะแนนใหม่ทั้งประเทศ ทำให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 คน แต่พรรคที่ ส.ส.หายไปคือพรรคไทรักธรรม แสดงให้เห็นว่าแม้คะแนนเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่สามารถสร้างผลกระทบได้” นายสมชัยกล่าว
อดีต กกต.กล่าวอีกว่า หากยุบพรรคของนายไพบูลย์แล้ว จะต้องลบคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปกว่า 45,000 คะแนนออก และนำไปคำนวณใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์สามารถไปสังกัดเฉพาะพรรคที่จะได้ ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่านายไพบูลย์ต้องการจะไปอยู่พรรคนั้นหรือไม่ หากได้ไปอยู่พรรค พปชร. นายไพบูลย์จะแทรกลำดับของผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนส.ส.ของพรรคอย่างแน่นอน
“กรณีนายไพบูลย์จะเข้าข่ายเป็นการควบรวมพรรคหรือไม่ เพราะพรรคประชาชนปฏิรูปมี ส.ส.เพียงคนเดียว ดังนั้นการที่นายไพบูลย์ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จะเท่ากับการย้ายพรรค 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากในทางการเมือง เนื่องจากพรรคใหญ่จะใช้วิธีการเดียวกันนี้ให้พรรคเล็กยุบและดึง ส.ส.เข้ามาอยู่ในพรรคใหญ่ เพื่อเลี่ยงกฎหมายการควบพรรคการเมือง หรือพรรคเล็กอยากจะหนีความเสี่ยงว่าจะหลุดออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะได้คะแนนรวมของพรรคต่ำไปสังกัดพรรคใหญ่แทน ซึ่งจะทำให้หลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายผิดเพี้ยนไปหมด และอยากให้ กกต.มองในทางรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบที่ตามมาภายหลังด้วย เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นเรื่องที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยคาดคิดมาก่อน จึงไม่มีบทบัญญัติใดๆ เกี่ยวกับกรณีนี้" นายสมชัยกล่าว
เปิดช่องพรรคเล็กซบพรรรคใหญ่
นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. กล่าวว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 91 วรรคท้าย เปิดช่องให้สามารถทำได้ โดยไม่ผิดกฎหมายพรรคการเมืองโดยนายไพบูลย์จะต้องไปยื่นจดทะเบียนสิ้นสภาพพรรคกับ กกต. แล้วก็สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ถามว่าเมื่อย้ายพรรคแล้วต้องมีการคำนวณ ส.ส.พึงมีหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องมีการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีใหม่ โดยสิ่งที่จะตามมา ให้จับตาดูว่าอีก 10 พรรคเล็ก จะทำแบบเดียวซ้ำรอยพรรคของนายไพบูลย์หรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขการหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5,000 คน และมีสาขาพรรคทั้ง 4 ภาค พรรคเล็กอาจดำเนินการได้ยากกว่าพรรคการเมืองใหม่
"หากทั้ง 10 พรรคเล็กดำเนินการตามพรรคประชาชนปฏิรูป ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะกลายเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไป แต่ก็มีข้อเสียที่พรรคเล็กจะต้องไปคิดว่าหากย้ายยกเลิกพรรคย้ายไปซบพลังประชารัฐจริง อำนาจต่อรองของพรรคเล็กก็จะหมดไปโดยปริยาย พรรคเล็กจะต้องคิดให้หนัก ทั้งนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกมีความฉลาดล้ำลึกเป็นอย่างมาก มีการวางหมากหลายชั้น คาดการณ์ล่วงหน้าหลายช็อต ล็อกให้กลายเป็นแบบนี้ หากเป็นความเห็นส่วนตัว ถ้าไม่มีวรรคท้ายของ ม.91 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ก็คงต้องมีการคำนวณ ส.ส.ใหม่ พอมีวรรคท้าย ก็เลยเป็นการเลี่ยงประเด็นนี้ไปโดยปริยาย" นางสดศรีกล่าว
นายสติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลิกกิจการพรรคหรือทำให้พรรคสิ้นสภาพทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งเปิดช่องไว้และกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองสถานภาพของ ส.ส.เมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 60 วัน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่ กฎหมายพรรคการเมืองได้ระบุถึงการยุบพรรคไว้ชัดเจนว่าการสิ้นสภาพกับการถูกคำสั่งยุบเพื่อป้องกันในเรื่องการไม่ให้ควบรวมกันระหว่างพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะในอดีตเคยมีประสบการณ์มาแล้ว เพียงแต่ว่ากรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการควบรวม แต่นัยก็ถือเป็นการเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้กับพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่า เท่ากับว่าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน
"มีแนวโน้มว่าพรรคเล็กจะใช้วิธีเดียวกับกรณีของนายไพบูลย์ ซึ่งในส่วนของ ส.ส.เขต ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออาจจะเป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกัน เพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองสถานะของ ส.ส.แต่คะแนนจะเป็นปัญหา และเมื่อนำคะแนนไปรวมกับพรรคใหม่ ก็จะมีปัญหาการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าแล้วคุณจะไปแทรกอยู่ตรงไหนของบัญชีรายชื่อ และจะเกิดปรากฏการณ์ว่า ส.ส.ที่มาจากระบบย้ายเข้า จะกลายเป็น ส.ส.อมตะ ไม่มีวันตาย พูดง่ายๆ ว่าคนอื่นๆ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง และต้องมีการคำนวณคะแนนใหม่ คนอื่นมีโอกาสหลุดออกจากบัญชี แต่คนที่ลอยมาจากพรรคอื่นอยู่นอกบัญชี แปลว่าสถานะเขาคงที่ตลอดไป ทั้งๆ ที่ถ้าเขาอยู่พรรคเดิมอาจหลุดจากการเป็น ส.ส. ถ้ามีการคำนวณคะแนนใหม่” นายสติธรกล่าว
นายสติธรกล่าวอีกว่า วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการเทียบเคียงกับระบบที่วางเอาไว้ แต่เราไม่ควรตีความกฎหมายที่สร้างความจูงใจให้พรรคเล็กทำตาม แต่ควรตีความและสร้างแนวปฏิบัติให้เกิดแนวบรรทัดฐาน ยอมรับว่าเกิดความไม่ชัดเจนจากข้อกฎหมาย ซึ่งยังมีอีกหลายมาตราที่ไม่ได้ระบุไว้ โดยคนที่ลองทำอาจจะอยากให้เกิดการตีความแล้วเกิดแนวปฏิบัติ ต้องรอดู กกต.จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งผลออกมาถ้านายไพบูลย์พอใจเรื่องก็จบ แต่ถ้าไม่พอใจ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ก็อาจจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกฎหมายหรือไม่
ชี้ควบรวมพรรคขัด รธน.
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ในฐานะฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ได้เปิดรัฐธรรมนูญดูข้อกฎหมายแล้ว การที่ ส.ส.ที่สังกัดพรรคเดิมจะย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้มีอยู่ 2 กรณีคือ 1.กรณีถูกขับออกจากพรรคที่สังกัดด้วยเสียงสามในสี่ของคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ที่สังกัดพรรคนั้นต้องไปหาพรรคอื่นสังกัดให้ได้ภายในสามสิบวัน และ 2.กรณีที่พรรคการเมืองที่ ส.ส.คนนั้นสังกัดถูกยุบ เนื่องจากกรณีไปทำอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงตาม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ต้องหาพรรคเข้าภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค
"ส่วนกรณียื่นขอเลิกกิจการพรรคหรือร้องขอให้ยุบพรรคที่ตัวเองสังกัด แล้วจะย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ไม่น่าจะทำได้ แม้จะอ้างว่าทำตามข้อบังคับพรรคที่เขียนไว้ก็ตาม ซึ่งนอกจากจะขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังห้ามควบรวมพรรคหลังเลือกตั้งจะควบรวมได้ต้องหลังสภาสิ้นวาระหรือหลังมีการยุบสภา ไม่ว่าจะโดยลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงกระทำไม่ได้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะเปิดช่องให้มีการกวาดต้อน ส.ส.จากพรรคเล็กเข้าพรรคใหญ่ด้วยวิธีขอเลิกกิจการพรรคกันหมด ยังไม่พูดถึงว่าจะเอาคะแนนบัญชีรายชื่อจากพรรคเดิมไปรวมกับพรรคที่จะย้ายเข้าไปสังกัดได้อย่างไร จะตรงเจตนาของเสียงประชาชนที่เลือกสนับสนุนพรรคที่ถูกเลิกกิจการเองนั้นได้หรือ ทำให้เรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด และหากทำได้หลักการจะเสียหายหมด" นายสามารถกล่าว
นายวัฒนา เมืองสุข ประธานยุทธศาสตร์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัยเขียนเริ่มพ่นพิษออกมาเรื่อยๆ นอกจากจะบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกคนอื่นแต่ได้ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ แล้ว ล่าสุดคือ ส.ส.ปัดเศษจะขอยุบพรรคหนีตายเพื่อไปหาพรรคใหม่อยู่ เพราะมีข่าวว่า ส.ส.นครปฐมที่ป่วยอาจจะลาออก ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ ส.ส.ปัดเศษที่ได้คะแนนน้อยที่สุดอาจถูกปรับออกแบบที่เคยเกิดเมื่อเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่
"ความอุบาทว์ของรัฐธรรมนูญที่นายมีชัยเขียนยังมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามคือ 84 เสียง ก็คนเหล่านี้เข้ามาได้เพราะรัฐธรรมนูญแบบนี้ จึงไม่มีทางจะยกมือหนุนให้มีการแก้ไขเพื่อทุบหม้อข้าวตัวเอง คือความเลวของรัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อแช่แข็งประเทศ ออกแบบการเลือกตั้งที่มีแห่งเดียวในโลก ทำให้ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ขาดเสถียรภาพ เพราะวันๆ ต้องแก้ปัญหาให้ตัวเองโดยวิธีซื้อตัวหรือดูด ส.ส.ฝ่ายค้านมาเติมเสียงให้รัฐบาล สวนทางกับแนวทางปฏิรูปการเมืองที่ทุกฝ่ายอยากเห็นและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ขอใช้คำหยาบว่าวิธีการที่อัปรีย์ขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่คนที่สุดๆ จริงๆ ไม่มีทางคิดออก นั่นคือเหตุผลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอญัตติเพื่อขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาใช้บังคับต่อไป" นายวัฒนา ระบุ
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Boonyod Sooktinthai แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยระบุว่า "รัฐธรรมนูญ 60 เขียนไม่ให้ควบรวมพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะมันเคยมีการรวมพรรค ให้จำนวนสมาชิกมีมากจน หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา เหมือนในอดีต และ ส.ส.จะไม่เร่ "ขายตัว" ในสภา มาวันนี้มีพรรคการเมืองประกาศจะยุบพรรค แล้วให้สมาชิกไปหาพรรคใหม่อยู่ใน 60 วัน ก็เป็น ส.ส.ต่อได้ ถ้าทำแบบนี้ได้ เราจะเขียนไม่ให้ควบรวมพรรคการเมืองทำไม?
"อยากตั้งพรรคก็ตั้ง ลงเลือกตั้งบอกนโยบายอย่างโน้นอย่างนี้ พอเข้าสภาได้ก็ยุบเลิก เอาที่นั่งไปให้พรรคที่ตัวเองอยากเข้าร่วม เพราะเห็นว่าเขามีอำนาจแล้ว อย่ามาบอกว่าไม่มีผลประโยชน์อื่นใด เด็กเล่นขายของก็มองออก มันคนทรยศเสียงประชาชนชัดๆ!!!!" นายบุญยอดกล่าว
ฝ่ายค้านเดินสายปลุกแก้ รธน.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานและโฆษกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะจัดโครงการ ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจร 4 ภาค รับฟังและสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาปัจจัยในการประกอบอาชีพ ปัญหาประมง ปัญหานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รับฟังภาคธุรกิจเอสเอ็มอีสาขาต่างๆ
รวมถึงเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีหัวหน้าพรรค แกนนำพรรคทั้ง 7 พรรค ร่วมลงพื้นที่ทำกิจกรรมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจร 4 ภาค ในภาคเหนือ จัดที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 31 ส.ค.-1 ก.ย., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.มหาสารคาม วันที่ 14-15 ก.ย., ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 21-22 ก.ย. และภาคใต้ จ.ยะลา วันที่ 28-29 ก.ย.2562
"ทุกปัญหาของประเทศชาติและประชาชนรอไม่ได้ ฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจร 4 ภาค จะพยายามเข้าไปรับฟังและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประเทศชาติจะก้าวหน้าพัฒนา ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการค้นหาทางออกจากวิกฤติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออก ปลดล็อกประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนตั้งแต่ก้าวแรก พี่น้องประชาชนสะดวกที่ใดอยู่ในพื้นที่ใด สามารถเข้าร่วมกับเวทีฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจร 4 ภาคได้ทุกเวที" นายอนุสรณ์กล่าว
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษากระบวนการและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนสนับสนุนและพร้อมเข้าร่วมเป็น กมธ. ในฐานะที่เคยเป็น กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มองว่าแนวทางที่จะทำให้การศึกษาประเด็นที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญนำไปสู่การแก้ไขได้ในทางปฏิบัตินั้น ไม่ควรเริ่มประเด็นที่เกิดจากปัญหาของนักการเมือง แต่ควรเริ่มศึกษาผลกระทบและปัญหาที่เกิดกับประชาชนเพื่อสร้างแนวร่วม ทั้งนี้ในช่วงการศึกษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในชั้น กมธ.ได้เชิญบุคคลภายนอกและวุฒิสภา เช่น นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี มาเข้ามาร่วมศึกษาปัญหาด้วย
"สำหรับแนวทางศึกษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจมีความยากและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะฉบับปัจจุบันมีเนื้อหา 2 ระยะ คือ ระยะว่าด้วยบทถาวรและระยะของบทเฉพาะกาล ที่มีเงื่อนไขและระยะเวลาบังคับใช้ ดังนั้นหากศึกษารายละเอียดและนำไปสู่การเสนอแก้ไข ข้อกังวลคือจะสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านใช้เวทีภาคประชาชนเดินหน้ารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการทำงานปกติที่สามารถทำได้ แต่มองว่า เมื่อมีสภา ควรใช้เวทีสภาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน เพราะหากเกิดปัญหาใด ระบบรัฐสภาถือเป็นหลักพึ่งพิงต่อการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้" นายนิกร กล่าว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ให้ 5 รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พิจารณาลาออกจาก ส.ส.เพื่อให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ ว่าถ้ายังเป็น ส.ส.อยู่คิดว่าน่าจะได้งานมากกว่า เพราะหากห่าง ส.ส.ไป ปัญหาหรือการประสานต่างๆ อาจจะติดขัด และรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ทั้ง 5 คน ก็จะต้องเป็นเหมือนกัน คงยังไม่ถึงขั้นลาออก ส.ส.
"สมศักดิ์"งัดข้อ"บิ๊กป้อม"
“ถ้าเรายังเป็นอยู่ทั้งสองอย่างจะได้งานมากกว่ามั้ย หรือมีปัญหากับการปฏิบัติงานก็ต้องพิจารณากัน แต่ที่ดูๆ แล้ว คิดว่าที่เป็นอยู่นี้จะสามารถทำงานในภาพรวมทั้งหมดได้ดีกว่า โดยได้พูดคุยกันดูแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เพราะทั้ง 5 คนไม่ได้มีปัญหาอะไร และมันจะได้เรื่องการประสานงานกับ ส.ส.และรัฐบาล รวมถึงกระทรวงต่างๆ ได้ดีกว่า เวลารัฐมนตรีเข้าไปประชุมสภา ส.ส.เขาจะคึกคัก บางทีเขาก็จะฝากเรื่องงาน ปรึกษาหารืออะไรต่างๆ และความที่ ส.ส.ใหม่มีเข้ามาเยอะก็ไม่ได้คุ้ยเคยรู้จักกัน จะได้เรื่องความสัมพันธ์และการประสานงาน ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคนหมู่มาก ถ้ามี ส.ส.ใหม่ทั้งหมด แล้วรัฐมนตรีกับ ส.ส.ไม่รู้จักกันการทำงานสองสามอย่างในเวลาเดียวกันจะทำไม่ได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นทั้ง 5 คนเห็นตรงกันแล้วใช่หรือไม่ว่าไม่ต้องลาออกจาก ส.ส. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คล้ายๆ กัน แต่ตนคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ ซึ่งในความคิดดูแล้วว่าการไม่ลาออกจาก ส.ส. จะได้งานมากกว่า แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าการทำงานใน 2 สถานะจะไม่สะดุด นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ทำมาก็ทำได้ดี มติอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้หลุด แต่ต่อไปไม่แน่ใจ แล้วแต่สถานการณ์ ทั้งนี้ยังไม่ได้แจ้ง พล.อ.ประวิตร เราก็ประเมินตัวเราก่อนว่าเมื่อพบท่านแล้วจะเรียนท่านว่าอย่างไร เพราะท่านไม่ได้บอกให้ลาออก แค่บอกให้ดูๆ เอา อะไรที่มันจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมได้มากกว่าก็เอาตามนั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค ยื่นหนังสือต่อหัวหน้าพรรคเรียกร้องให้มีการสอบนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม, นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ ทำให้ถูกมองอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรค ว่า การยื่นเรื่องสอบสมาชิกโดยสมาชิก เป็นสิทธิตามข้อบังคับของพรรค สมาชิกพรรคสามารถร้องเรียนได้ หากเห็นว่าการกระทำของเพื่อนสมาชิกไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ถือเป็นข้อบังคับที่มีเหมือนกันทุกพรรค เมื่อเรื่องมาถึงกรรมการบริหารจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป คงต้องรอให้มีการบรรจุเข้าวาระที่ประชุมพรรค และหารือกันก่อน เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง เมื่อมีความไม่สบายใจก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และผู้ที่ถูกตรวจสอบจะได้มีโอกาสชี้แจง คงต้องรอการพิจารณาคณะกรรมการบริหารพรรค
“เรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่การเป็นงูเห่าภาคสองหรือไม่นั้น ไม่อยากให้คิดเลยเถิดถึงขั้นนั้น ตอนนี้แค่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ เป็นวิธีการที่ยุติธรรมกับทุกฝ่ายจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ คงไม่เป็นสาเหตุให้เกิดงูเห่าภาคสองแต่อย่างใด และไม่กังวลในเรื่องงูเห่า”น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งในกลุ่ม ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่าคงเกิดความขุ่นเคืองกันนิดหน่อย สักระยะหนึ่งจะหายไป สุดท้ายจะปรับความเข้าใจกันได้ไม่ขยายตัว ส่วนที่ถามถึงกระแสงูเห่าภาคสองนั้น ขณะนี้ไม่มีหลักฐานอะไรที่ชัดเจน จึงไม่กังวล เพราะเชื่อว่าทุกคนเห็นแล้วว่าคนที่ออกจากพรรคเพื่อไทยไม่ค่อยมีใครสมหวัง ออกไปก็ลำบาก ใครจะไปก็ต้องคิดหนัก เพราะมีบทเรียนให้เห็นชัดเจนมาโดยตลอด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ประธานวิปรัฐบาลได้มาปรึกษาเรื่องวันที่จะมีการอภิปรายบ้างหรือยังว่า กับตนไม่มี แต่กับคนอื่นไม่ทราบ หากมีการหารือก็น่าจะเป็นการหารือกับฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่ฝ่ายกฎหมาย กับรัฐบาลในที่นี้หมายถึงมันมีวิปอยู่แล้วที่จะต้องไปเจรจากัน ว่าจะเอากี่วันและเมื่อไหร่
"ในส่วนรัฐบาลไม่มีปัญหา เท่าที่ดูจริงๆ ถ้าจัดในเดือนสิงหาคมก็ไม่ได้ติดอะไร แต่ถ้าเผอิญทางสภาติดอะไร ก็เลื่อนไปเป็นเดือนกันยายนได้ แต่รัฐบาลก็อยากรู้ล่วงหน้าเร็วพอสมควรเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะมีภารกิจและจะมีปัญหาไม่สะดวก โดยในวันที่ 18 กันยายน สภาจะปิดสมัยประชุมอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ประธานสภาฯ บอกว่าไม่เอาวันธรรมดา ก็ดี แต่ก็ไม่คิดว่าจะประชุมวันเสาร์-อาทิตย์" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ในการอภิปรายทั่วไป ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ตอบได้หรือไม่ เพราะเป็นการถามคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบอย่างนั้นไม่ได้ เพราะตนไม่รู้ว่าจะถามใคร ถ้าเขาถามนายกฯ นายกฯ ก็ต้องตอบ แต่ถ้าถาม ครม. ใครรู้ก็ต้องตอบ ซึ่งก็มีคนที่รู้เรื่องอยู่หลายคน อีกไม่กี่วันคงชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่า ต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.เพื่อเตรียมความพร้อมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าญัตติมาก็ต้องเอาเข้าที่ประชุม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นญัตติถาม ครม. ไม่ใช่ญัตติถามคนใดคนหนึ่ง ก็ส่งให้ ครม.ชี้แจง ถ้าคำถามพุ่งตรงไปที่ใคร คนนั้นก็ต้องตอบ แต่ถ้ามาตรา 151 นั้นก็ถามแค่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งที่ตนอธิบายให้ฟังนี้ ก็เพื่อจะบอกว่าต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |