เยือนหมู่บ้านชาวลัวะ อ.บ่อเกลือ  จ.น่าน ชาวห้วยขาบ 60 ครอบครัววอนเร่งสร้างบ้านถาวร หลังดินถล่ม 1 ปียังสร้างบ้านไม่เสร็จ


เพิ่มเพื่อน    

(1.บ้านห้วยขาบในหุบเขา 2.สภาพบ้านที่โดนดินจากภูเขาถล่มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561)

    ชาวบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 60 ครอบครัว  วอนเร่งสร้างบ้านพักถาวร  เพราะต้องทนอยู่ในบ้านพักชั่วคราวที่คับแคบและแออัดมานาน 1 ปีแล้วหลังประสบภัยดินถล่ม  แต่ผู้รับเหมายังสร้างบ้านได้เพียง 2 หลัง  เผยงานก่อสร้างบ้านพักถาวร 60 หลังล่าช้าเพราะติดปัญหาสภาพพื้นที่เป็นภูเขา  การขนส่งลำบาก  มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้บริษัทรับเหมาทิ้งงานสร้างบ้าน 30 หลัง  ด้านกองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลกเตรียมส่งทหารช่างช่วยสร้างบ้าน 

    จากเหตุการณ์ดินจากภูเขาถล่มลงใส่หมู่บ้านชาวลัวะ  บ้านห้วยขาบ  ต.บ่อเกลือเหนือ   จ.น่าน  เมื่อวันที่ 28   กรกฎาคม 2561  ทำให้บ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่บริเวณเชิงเขาถูกดินถล่มพังทลาย 4 หลัง  และเสียหายบางส่วน 2 หลัง    มีผู้เสียชีวิต 8   ราย  ต่อมาทางจังหวัดน่านมีคำสั่งอพยพชาวห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน  60 ครัวเรือน  ประชากร 253 คน  ลงมาพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว  บริเวณสนามกีฬา  อบต.ดงพญา  อ.บ่อเกลือ  เพื่อรอการสร้างบ้านพักถาวรในที่ดินแปลงใหม่ โดยมีพิธีลงเสาเอกสร้างบ้านเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562  ตามแผนงานการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้  แต่จนถึงบัดนี้การก่อสร้างบ้านพักถาวรและสาธารณูปโภคต่างๆ ยังมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน

รำลึก 1 ปีดินโคลนถล่มบ้านห้วยขาบ

    โดยเมื่อวันที่  9 สิงหาคมที่ผ่านมา  มีการจัดงาน ‘รำลึกภัยพิบัติดินโคลนถล่มบ้านห้วยขาบ’ ที่บริเวณบ้านห้วยขาบเดิม ต.บ่อเกลือเหนือ  อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ร่วมจัดโดยหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ  จำกัด (มหาชน)  อำเภอบ่อเกลือ  กรมป่าไม้  สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.น่าน  ฯลฯ  มีการทำบุญอุทิศกุศลและรำลึกผู้เสียชีวิตตามประเพณีทางศาสนาพุทธและคริสต์ รวมทั้งพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวลัวะ  โดยมีนายสัมฤทธิ์  สวามิภักดิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  เป็นประธาน  มีชาวห้วยขาบและผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนในภาคเหนือเข้าร่วมงานประมาณ  150  คน

    ภานุวิชญ์  จันที  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ  ในฐานะผู้แทนชาวบ้านห้วยขาบกล่าวถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวห้วยขาบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า  ชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมดจำนวน 60 ครัวเรือน  253  คน  ต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมมาอยู่ในบ้านพักชั่วคราวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนงบประมาณและช่วยกันก่อสร้าง  เป็นห้องแถวสังกะสี  แต่สภาพค่อนข้างคับแคบ  กว้างยาวประมาณ  4X4 ตารางเมตร  ต้องอยู่กันอย่างแออัด  ไม่มีห้องน้ำในตัว  ต้องใช้ห้องน้ำรวม  และตั้งอยู่ไกลจากบ้านพัก

(ภานุวิชญ์กับหินจากภูเขาที่หล่นลงมาจากด้านบน)

    “คนลัวะจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่  บ้านหลังหนึ่งอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า คน  บางหลังมี 7-8 คน  พอมาอยู่บ้านพักชั่วคราวจึงต้องอยู่อย่างแออัดยัดเยียด  ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนก็ยิ่งลำบาก  เพราะบ้านสร้างด้วยสังกะสี  มีหน้าต่างบานเดียว  อากาศไม่ค่อยถ่ายเท  ยุงก็เยอะ  ชาวบ้านก็สุขภาพจิตไม่ดี  ทำให้ซึมเศร้า  จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ  ช่วยกันเร่งสร้างบ้านถาวร  เพราะมีพิธีลงเสาเอกไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ตามแผนงานจะใช้เวลาสร้างประมาณ 6 เดือน  หรือจะเสร็จกลางปีนี้  แต่ตอนนี้เลยกำหนดแล้ว  แต่ยังสร้างบ้านได้แค่ 2 หลัง  และ 2 หลังนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จด้วย  ชาวบ้านอยากได้บ้านใหม่เร็วๆ  จะได้อยู่ดีกว่าเดิม”  ผู้แทนชาวห้วยขาบบอก

 

กองทัพภาคที่ 3 เตรียมส่งทหารช่างช่วยสร้างบ้าน

    ทั้งนี้การก่อสร้างบ้านพักถาวรให้กับประชาชนที่ประสบภัยบ้านห้วยขาบจำนวน 60 หลังคาเรือน  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 22,500,000 บาท  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน  อุดหนุนการสร้างบ้าน  และการประกอบอาชีพ  รวม 1,320,000 บาท  อบต.ดงพญา  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนการจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ  ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ  ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา  6 เดือน  หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2562  นี้  โดยมีพิธียกเสาเอกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา  โดยพลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น  เป็นประธานในพิธี 

    ขณะที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้จังหวัดน่านใช้ที่ดินบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง  หมู่ที่ 2  ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน  ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบที่เกิดภัยดินถล่มประมาณ 3 กิโลเมตร   เนื้อที่ 39 ไร่  เพื่อสร้างบ้านพักถาวรและเป็นที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน  ระยะเวลาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (ช่วงแรก) 30 ปี  ตั้งแต่มกราคม 2562 - มกราคม  2592    โดยชาวบ้านจะได้รับการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านและทำกินครัวเรือนละ 120  ตารางวา (ยังสามารถเข้าทำกินในที่ดินเดิมที่บ้านห้วยขาบได้) สร้างบ้านขนาด  5X8 ตารางเมตร  (มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น)  โครงสร้างเป็นปูนและเหล็ก  รูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชาวลั๊วะ  หลังคาทรงจั่ว (คล้ายเรือนกาแลของล้านนา)  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ  269,924 -293,014  บาท 

(บ้านใหม่ถาวรเพิ่งสร้างได้ 2 หลัง)

    อย่างไรก็ตาม  การก่อสร้างบ้านพักถาวรในช่วงที่ผ่านมา  บริษัทไทยเบฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2 ราย  สร้างบ้านรายละ 30 หลัง   แต่การก่อสร้างบ้านในช่วงที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า  เนื่องจากทางเข้าพื้นที่ก่อสร้างบ้านเป็นเนินเขาสูงต้องทำถนนและต้องปรับพื้นที่ก่อสร้างบ้าน  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่งวัสดุก่อสร้างต้องสั่งมาจาก อ.ปัว  ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.บ่อเกลือประมาณ 60  กิโลเมตร   เส้นทางเป็นภูเขาคดเคี้ยว  ทำให้การขนส่งลำบาก  ใช้เวลาขนส่งไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง  มีค่าใช้จ่ายสูง  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนการขนส่งยิ่งยากขึ้นอีก  บริษัทรับเหมารายหนึ่งจึงทิ้งงานไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา   ขณะที่การก่อสร้างบ้านทั้งหมด 60 หลัง  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างบ้านตัวอย่าง 2 หลัง  ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการก่อสร้างงานฐานรากและขึ้นโครงบ้าน

(สภาพบ้านพักชั่วคราวเป็นเรือนแถวสังกะสี)

    สัมฤทธิ์  สวามิภักดิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  กล่าวว่า  ปัญหาความล่าช้าเรื่องการก่อสร้างบ้านพักถาวรนั้น  ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ  และได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว  โดยตนทราบว่าผู้บัญชาการทหารบกจะเอาทหารช่างมาช่วยสร้างบ้านให้ชาวบ้าน  คาดว่าภายในปลายปีนี้การก่อสร้างบ้านจะแล้วเสร็จ  รวมทั้งเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ  เช่น  ไฟฟ้า  น้ำประปา  ซึ่งหากจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดคงจะเป็นเดือนธันวาคม 2564  นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้  เช่น  การเพาะเห็ด  การส่งเสริมเรื่องกาแฟอินทรีย์  และการปลูกถั่วดาวอินคา  รวมทั้งผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพราะอำเภอบ่อเกลือเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวอยากจะมาเที่ยวชมธรรมชาติ  โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว

    มีรายงานข่าวจากกองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า จากปัญหาการก่อสร้างบ้านพักถาวรให้ชาวห้วยขาบมีความล่าช้า  ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะอยู่บ้านชั่วคราวมานาน 1 ปี  สภาพบ้านคับแคบและแออัด  ทางกองทัพภาคที่ 3   ได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดน่านแล้ว  โดยกองทัพภาคที่ 3 จะส่งทหารช่างจากจังหวัดพิษณุโลกเข้ามาช่วยก่อสร้างบ้านแทนบริษัทเอกชนที่ทิ้งงานไป จำนวน 30 หลัง  ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาแบบแปลนการก่อสร้าง  และคาดว่าจะเริ่มส่งทหารช่างพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์เข้ามาช่วยก่อสร้างบ้านได้ในเร็วนี้ๆ  

 

เสียงสะท้อนของ ชาวลัวะ จากหมู่บ้านร้างกลางดอยน่าน

   

(1.ชาวลัวะบ้านห้วยขาบ 2.เมืองบ่อเกลือในหุบเขา)

 

    อําเภอบ่อเกลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 134 กิโลเมตร   ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน   มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  838  ตารางกิโลเมตร  มี 4 ตำบล  ประชากรมีหลายเผ่าพันธุ์  เช่น  ลัวะ ขมุ  ม้ง  เย้า  คนเมือง  ฯลฯ  ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  ปลูกข้าว  กาแฟ  ข้าวโพด  พืชไร่  และผลไม้ต่างๆ  เช่น  อะโวคาโด้  ลิ้นจี่  ลำไย  เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์มาแต่โบราณ  และเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ชอบบรรยากาศธรรมชาติ  เพราะภูมิประเทศมีความสวยงาม  เงียบสงบ  โอบล้อมไปด้วยขุนเขาเขียวขจี  โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว  เมืองทั้งเมืองจะปกคลุมไปด้วยไอหมอกและอากาศที่หนาวเย็น  นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศจึงอยากมาสัมผัส

    กลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลัวะ’ หรือ ‘ละว้า’  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่  มีภาษาพูดเป็นของตนเอง  (อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร  สำเนียงพูดคล้ายภาษาเขมร) แต่ด้วยผลจากสงครามการสู้รบในอดีต  ทำให้อาณาจักรลัวะแตกพ่ายล่มสลาย  แต่ชนเผ่าลัวะยังสืบเชื้อสายกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ  เช่น  น่าน  เชียงใหม่  ฯลฯ  ปัจจุบันชนเผ่าลัวะรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ประสบปัญหาต่างๆ  เช่น  พ.ร.บ.ป่าไม้  ทำให้คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและภูเขามาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุกป่า  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน  ฯลฯ

    ส่วนหมู่บ้านชาวลัวะห้วยขาบ  ตั้งอยู่ในตำบลบ่อเกลือเหนือ  ก่อนดินถล่มมี 61 ครัวเรือน  ประชากรจำนวน 261 คน (เมื่อเกิดดินถล่มเสียชีวิตทั้งครอบครัว 1 ครอบครัว)  มีเด็กเล็กที่กำลังเรียนหนังสือประมาณ 30 คน  ชาวลัวะบ้านห้วยขาบอยู่อาศัยที่นี่มานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี   ปัจจุบันมีอาชีพปลูกกาแฟ  ถั่วดาวอินคา (ถั่วชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกาใต้  เมล็ดกินได้ หรือสกัดเอาน้ำมัน  ใช้ทำอาหาร เครื่องสำอาง  เปลือกใช้ชงเป็นชา)   และปลูกข้าวไร่ (ข้าวเหนียว) ตามเชิงเขาเอาไว้กินในครัวเรือน  ส่วนที่มาของหมู่บ้านมาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน  ในอดีตมีแมลง ‘ขาบ’(ภาษาลัวะ) หรือแมลงเม่าอาศัยอยู่ตามลำห้วยชุกชุม  จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น

    บ้านเรือนของชาวห้วยขาบปลูกกระจายอยู่ตามที่ราบเชิงเขา  ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง  ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่  มีลำห้วยขาบใสเย็นไหลผ่านกลางหมู่บ้าน  เป็นเสมือนหมู่บ้านในนิทานที่สงบสุขและร่มเย็นมาช้านาน...หากดินบนภูเขาจะไม่ถล่มลงมา...!! 

    หลังเหตุการณ์ดินถล่มบ้านห้วยขาบในเดือนกรกฎาคม 2561   รศ.ดร.สุทธิศักดิ์  ศรลัมพ์  หน่วยวิจัยดินถล่ม  ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณี  ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ที่บ้านห้วยขาบ  หลังจากนั้นจึงได้มีการแถลงข่าว  โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า 

    “พื้นที่ในอำเภอบ่อเกลือเป็นภูเขาที่มีแนวรอยเลื่อนตัดที่ซับซ้อนต่างจากที่อื่น  สิ่งที่พบที่บ้านห้วยขาบ  คือ จุดที่ดินถล่มเป็นชั้นหินทรายกับหินทรายแป้งเป็นชั้นๆ  ชาวบ้านบอกว่าเคยเป็นถ้ำมาก่อน  เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันน้ำจึงซึมลงไปตามพื้นที่รับน้ำบนภูเขาหินทรายซึ่งชันกว่าที่อื่น   เกิดการกัดเซาะไปเรื่อยๆ จนชะง่อนเขาพัง  และพบหลักฐานว่าพื้นที่นี้ในสมัยโบราณเคยเกิดดินถล่มมาก่อน  และในอนาคตก็อาจเกิดดินถล่มได้อีก  ดังนั้นชาวบ้านควรย้ายออกมา  เพราะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัย”

    หลังจากนั้น  โดยคำสั่งของจังหวัดน่านที่ประกาศให้พื้นที่บ้านห้วยขาบเป็นเขตภัยพิบัติ  จึงให้อพยพชาวบ้านห้วยขาบทั้ง 60 ครอบครัวย้ายเข้าอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราวที่สร้างขึ้นบริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา  แต่ละครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในห้องแคบๆ ขนาด 3.6 x 4 ตารางเมตร  เมื่อรวมกับข้าวของ  เสื้อผ้า ฯลฯ ที่ขนมาจากหมู่บ้านเดิมจึงทำให้ห้องพักคับแคบลงอีก  ส่วนห้องอาบน้ำและห้องสุขาเป็นห้องรวม  ครอบครัวที่ได้ห้องพักห่างจากห้องสุขาฯ ต้องเดินไปใช้บริการประมาณ 150-200 เมตร  ถือว่าไกลพอสมควร  โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืน

วิถีชาวลัวะบ้านห้วยขาบ

    สมศักดิ์  ใจปิง  อายุ 38 ปี  ชาวบ้านห้วยขาบ  เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวลัวะว่า  ชาวลัวะส่วนใหญ่เป็นคนรักสงบ  หาอยู่หากินกับธรรมชาติมานาน  มีชีวิตเรียบง่าย  ปลูกข้าวไร่เอาไว้กินเอง  เป็นข้าวเหนียว  ใช้วิธีปลูกข้าวแบบหยอดหลุมและหมุนเวียนตามที่ราบเชิงเขาเพราะพื้นที่มีน้อย  ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่หมุนเวียนประมาณ 6-7 แห่ง  เมื่อครบ 7 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำไร่ข้าวในพื้นที่เดิม  เพื่อให้สภาพดินฟื้นตัวและกลับมาอุดมสมบูรณ์  เพราะคนลัวะปลูกข้าวโดยไม่ใช่ปุ๋ย  แต่จะให้ธรรมชาติ  หรือเจ้าป่า  เจ้าเขา  ช่วยดูแล  โดยจะมีพิธีบูชาระหว่างการปลูกข้าว  และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวประมาณช่วงเดือนมกราคมจะมีพิธี ‘กินดอกแดง’ เพื่อขอบคุณเจ้าป่า  เจ้าเขา  ที่ช่วยดูแลทำให้ข้าวอุดมสมบูรณ์

    “ปีหนึ่งครอบครัวผมจะปลูกข้าวได้ประมาณ  30 กระสอบ  ก็ถือว่าพอกินทั้งปี  แต่บางปีก็ได้ไม่พอกิน  เพราะมันแล้ง  ต้องปลูกพืชอย่างอื่นด้วย  ตอนนี้ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วดาวอินคา  ปลูกกาแฟ  มีพ่อค้ามารับซื้อ  ช่วงที่ว่างงานในไร่ก็จะไปทำงานรับจ้างในไร่ของคนอื่น  เขามาจ้างปลูกข้าวโพด  หรือให้ถางหญ้า  ได้ค่าจ้างวันละ 200-300 บาท  เอามาใช้จ่ายในครอบครัว”  ชาวบ้านห้วยขาบเล่าถึงการทำมาหากิน

    หลังเหตุการณ์ดินถล่มใส่หมู่บ้าน  ชาวลัวะบ้านห้วยขาบอพยพลงมาอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา  อ.บ่อเกลือ  ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบเดิมประมาณ  3 กิโลเมตร  ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561  สภาพเป็นห้องแถวสังกะสี  สร้างเป็นแนวยาวแถวละ 30 หลัง  2 แถว รวม 60 หลัง  รองรับชาวลัวะบ้านห้วยขาบทั้ง 60 ครอบครัว  ซึ่งพวกเขาบอกว่า “เหมือนกับแคมป์คนงานก่อสร้าง”  ในช่วงฤดูร้อนอากาศในพื้นที่สูงเช่นอำเภอบ่อเกลือจะร้อนกว่าพื้นที่ราบทั่วไป  โดยเฉพาะในบ้านพักชั่วคราวที่พวกเขาอยู่ “ร้อนเหมือนอยู่หน้ากองไฟ” เพราะที่พักสร้างด้วยแผ่นสังกะสี  มีประตูหน้า-หลัง  และหน้าต่างเพียง 1 บานช่วยระบายอากาศเท่านั้น 

    “บางครอบครัวอยู่กัน 8 คน  ต้องนอนเบียดกัน  บางบ้านก็ต้องต่อหลังบ้านออกมาเป็นที่นอน  เพราะนอนกันไม่หมด  หน้าร้อนบางคนต้องออกไปนอนที่ไร่  เพราะอากาศในไร่จะเย็นกว่า  พวกเราจึงอยากจะให้ทางราชการเร่งการสร้างบ้านให้เสร็จเร็วๆ  เพราะอยู่ที่นี่ลำบากมาก  แล้วชาวบ้านก็อยู่ที่บ้านพักชั่วคราวมา 1 ปีแล้ว  สงสารเด็กๆ เพราะการอยู่การนอนลำบาก  และที่นี่ยังไกลจากโรงเรียนเดิมประมาณ 7 กิโลเมตร  คนที่ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องเสียค่ารถรับ-ส่งลูกไปโรงเรียนอีก  ทั้งๆ ที่ตอนนี้ชาวบ้านก็ไม่ค่อยจะมีรายได้”  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านระบายความรู้สึก

(สาวลัวะที่บ้านพักชั่วคราว)

    แต่อย่างไรก็ตาม  ชาวลัวะบ้านห้วยขาบยังได้รับอนุญาตจากทางอำเภอให้เข้าไปทำกินในที่ดินเดิมได้  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เชิงเขาบริเวณรอบหมู่บ้านเดิมนั่นแหละ  บางคนก็ถือโอกาสเข้าไปตรวจตราดูบ้านเรือนของตัวเอง  แทบทั้งหมดอยู่ในสภาพเหมือนเดิม  แต่ไร้ร้างคนอยู่  และมีกุญแจคล้องเอาไว้แน่นหนา  รวมทั้งบ้านเรือนที่ถูกดินและหินทับถล่มเสียหายทั้งหลังจำนวน 4 หลัง  และเสียหายบางส่วน 2 หลังก็ยังคงสภาพความเสียหายเอาไว้  ส่วนในยามเย็นจะมี อส.ตั้งจุดตรวจบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน  ห้ามไม่ให้ใครเข้าไป    

ความหวังของชาวห้วยขาบ     

    ครบรอบ 1 ปีดินโคลนถล่มบ้านห้วยขาบ  ชาวห้วยขาบและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดงาน ‘รำลึกภัยพิบัติดินโคลนถล่มบ้านห้วยขาบ’ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา  ที่บ้านห้วยขาบเดิม  บริเวณจุดที่ดินถล่มลงมาจากภูเขา  ท่ามกลางสายฝนที่พรมลงมาตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวห้วยขาบบางคนกระซิบบอกว่า  “บรรยากาศเหมือนวันที่ดินถล่มเลย”  เพราะยังมีหินก้อนใหญ่ที่หล่นลงมาจากภูเขานอนนิ่งสงบอยู่ทางด้านซ้ายของปะรำพิธี  ส่วนด้านขวาเป็นบ้านที่ถูกดินโคลนถล่มจนพังยับทั้งหลัง  ถ้าแหงนหน้ามองขึ้นไปด้านบนก็จะเห็นรอยโหว่แหว่งของภูเขาที่ถล่มลงมาเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร  เหมือนมีมือยักษ์ไปตะกุยภูเขาลงมา

(พิธีทำบุญรำลึก 1 ปีดินโคลนถล่ม)

    ธนวัฒน์  จรรมรัตน์   ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ  บอกว่า  การจัดพิธีรำลึกภัยพิบัติขึ้นมาก็เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน  เพราะครอบครัวที่สูญเสียญาติพี่น้องยังรู้สึกเศร้าโศก  บางครอบครัวเสียชีวิตทั้งหมด 6 คน  จึงจัดพิธีขึ้นมาเพื่อทำบุญให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้งหมด  มีทั้งพิธีลัวะ  พุทธ  และคริสต์  เมื่อทำบุญแล้วก็จะทำให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจ  และยังมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วม  มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดมาร่วมให้กำลังใจ  และรับปากที่จะช่วยเร่งรัดการสร้างบ้านพัก  รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชาวบ้าน  ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น

    “แม้ว่าที่หมู่บ้านห้วยขาบ  บ้านเรือนทั้งหมดที่ไม่โดนดินถล่มยังมีสภาพดี  ไม่ได้รับความเสียหาย  แต่เมื่อทางจังหวัดให้ชาวบ้านทั้งหมดอพยพออกมา  พวกเราก็ยินยอมทำตามคำสั่ง  ทั้งที่ชาวบ้านต่างก็รู้สึกเสียดายบ้านเรือน  เพราะต้องเก็บเงินสร้างมาตลอดชีวิต  และเมื่อย้ายออกมาแล้ว  ชาวบ้านก็อยากจะได้อยู่บ้านใหม่ที่ถาวรโดยเร็ว  เพราะพวกเราอยู่บ้านชั่วคราวมาแล้ว 1   ปีเต็มๆ  มันคับแคบและอยู่กันอย่างยากลำบาก  จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างบ้านใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว  เพื่อพวกเราจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”  ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบสะท้อนความรู้สึกออกมา

    ภานุวิชญ์  จันที  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ  ชาวห้วยขาบ  บอกว่า  ตอนแรกบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้ง 2 บริษัทบอกว่าจะสร้างบ้าน 60 หลัง (สร้างบริษัทละ 30 หลัง) ให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้   แต่ต่อมาบริษัทก็ขอยืดเวลาออกไปเป็นเดือนกันยายน  แต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วบริษัทรับเหมารายหนึ่งได้ทิ้งงานไป  ทั้งๆ ที่สร้างบ้านยังไม่เสร็จสักหลัง  ตอนนี้จึงมีบริษัทรับเหมาอยู่รายเดียว  และเพิ่งสร้างบ้านได้ 2 หลัง  แต่ก็ยังไม่เสร็จทั้งหมด  หากมีทหารมาช่วยสร้างก็คิดว่าจะทำให้บ้านเสร็จเร็วขึ้น 

    “ตอนนี้ชาวบ้านอยากเข้าอยู่บ้านใหม่แล้ว  หากเสร็จทันช่วงปลายปีก็ยังดี  เพราะชาวบ้านจะได้ย้ายข้าวของเข้าไปอยู่  แม้ว่าพื้นที่จะไม่มาก  เพราะได้ที่ดินครอบครัวละ 120 ตารางวา  เป็นที่ปลูกบ้านและทำกิน  แต่ก็ดีกว่าบ้านชั่วคราวแน่ๆ  เพราะอย่างน้อยๆ เราก็มีบ้านเป็นของตัวเอง  เป็นสัดเป็นส่วน  ไม่ใช่อยู่เหมือนแคมป์คนงานก่อสร้าง  มีพื้นที่ว่างเราก็จะปลูกผัก  เลี้ยงเป็ด  เลี้ยงไก่  เลี้ยงกบ  หรือเลี้ยงปลาในบ่อเล็กๆ ก็ได้  เพราะที่ผ่านมาหลายคนต้องป่วยซึมเศร้า  หากได้ย้ายเข้าอยู่บ้านใหม่  ชีวิตต้องดีขึ้นแน่ๆ  เพราะจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมเรื่องอาชีพของชาวบ้าน  และหากทำได้  ห้วยขาบก็จะเป็นตัวอย่างในการฟื้นฟูชุมชนที่โดนภัยพิบัติ”  ตัวแทนชาวลัวะห้วยขาบกล่าวทิ้งท้าย

 

คนน้ำเลา  อ.ร้องกว้าง  จ.แพร่  ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล  แก้ปัญหาที่ดินทำกินและใช้หลักการ ‘DSLM’ แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

(1.ชาวบ้านตำบลน้ำเลาใช้เครื่องมือจับพิกัดแปลงที่ดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลแก้ปัญหา  2.การแก้ไขปัญหาน้ำในตำบลน้ำเลาโดยใช้หลัก DSLM)

     ตำบลน้ำเลา  อ.ร้องกวาง  จ.แพร่  มี 10 หมู่บ้าน  รวม  1,714 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ  5,400 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  ปลูกข้าวโพด  ทำนา  ปลูกถั่วเหลือง  ฯลฯ  มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์  เพราะทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ขณะที่ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาอยู่อาศัยและทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝน  และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

     “ปัญหาพวกนี้มันมีมานานแล้ว  โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินที่เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้าน  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน  กลัวว่าจะถูกทางราชการยึดที่ดินคืน   จะเอาที่ดินไปจำนองกับ ธกส.เพื่อเอาเงินมาหมุนเวียนลงทุนทำไร่  ทำนาก็ไม่ได้  ส่วนปัญหาเรื่องน้ำ  เป็นเพราะในตำบลยังมีแหล่งน้ำไม่พอเพียง  ช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมบ้านเรือน  ไร่นาเสียหาย  ช่วงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำ  ทำให้เดือดร้อนไปทั่วตำบล”  กังสดาล  พรมเสน  แกนนำการพัฒนาในตำบลน้ำเลาพูดถึงปัญหาของชาวบ้านในตำบล

ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดิน

     ตำบลน้ำเลามีพื้นที่ 43,193 ไร่  จำนวน 1,741 ครัวเรือน  มีปัญหาเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่เติ๊ก  แม่ถาง  และแม่กำปอง (พื้นที่ป่าสงวนฯ รวมประมาณ 188,000 ไร่)  จำนวน 731 ครัวเรือน  รวมพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 4,495 ไร่ 

(กังสดาล  แกนนำพัฒนาตำบลน้ำเลา)

     กังสดาล  พรมเสน  สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลา  แกนนำการพัฒนาในตำบล  เล่าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลาจัดตั้งขึ้นในปี 2553 ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551   มีเป้าหมายเพื่อให้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ (ดูรายละเอียดใน www.krisdika.go.th/data/law/law2/77/77-20-2551-a0001.htm)

 

     จนถึงปี 2555-2556 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. มีโครงการ ‘แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย     แนวใหม่’ ทั่วประเทศ   โดยสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเอง  และขยายโครงการมาที่ภาคเหนือ  สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลาจึงเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

     ต่อมาในปี 2557 สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลาได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 30,000 บาท  เพื่อนำมาใช้จัดเวทีสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในตำบล  จัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน  ข้อมูลรายครัวเรือน  อบรมการจัดทำแผนที่ทำมือ  การใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) จับพิกัดที่ดินรายแปลง  ฯลฯ  เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหา  มีการจัดตั้งคณะทำงาน ‘เครือข่ายปฏิรูปที่ดินตำบลน้ำเลา’ ขึ้นมา  มีตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนตำบล  ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 10 ตำบล  สมาชิก อบต.  ฯลฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนงาน

     “ในช่วงแรกที่ทำโครงการนี้ขึ้นมาชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ  ไม่ให้ความร่วมมือ  ต้องใช้เวลาชี้แจงนานหลายเดือน  เพราะช่วงปี 2557 เป็นช่วงที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ  และมีนโยบายทวงคืนผืนป่า  ชาวบ้านจึงกลัวว่าการสำรวจข้อมูลจะทำให้ถูกยึดที่ดิน  แต่หลังจากคณะทำงานได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านทั้งตำบลแล้ว  เราจึงเดินหน้าต่อไปได้”  กังสดาลเล่าถึงก้าวย่างการแก้ไขปัญหา

(ชาวบ้านน้ำเลาตรวจสอบที่ดินของตนเองจากภาพถ่ายดาวเทียม)

     วันที่  5 เมษายน 2558  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ได้เดินทางมาที่ตำบลแม่ทา  อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่  เพื่อเป็นประธานมอบหนังสืออนุญาตถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนฯ เนื้อที่ประมาณ 7,200 ไร่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมานานให้แก่ชาวแม่ทาประมาณ  2,000 ครอบครัว  ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน  โดยตัวแทนชาวตำบลน้ำเลาได้เดินทางมาศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาที่ดินในครั้งด้วย

     “ผมมาศึกษาดูงานที่ตำบลแม่ทาด้วย  เห็นนายกรัฐมนตรีมามอบหนังสือที่ดินทำกินให้ชาวแม่ทาจึงเห็นทางออก  และจะใช้ตำบลแม่ทาเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา  เพราะแม่ทาเป็นตำบลนำร่องในการแก้ไขปัญหาที่ดินตามนโยบายของ คทช.  หลังจากที่ชาวแม่ทาต้องต่อสู้เรื่องที่ดินมานานหลายปี” กังสดาลเล่าต่อ

     หลังจากกลับมาจากตำบลแม่ทา  คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินตำบลน้ำเลาจึงรวบรวมข้อมูลปัญหาที่ดินในตำบล  มีข้อมูลครัวเรือนที่เดือดร้อนบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์  การใช้ประโยชน์ในที่ดิน  แผนที่แสดงแปลงที่ดินตำบลน้ำเลา  แผนที่แสดงแปลงที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  แผนที่แสดงพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ   ฯลฯ  ให้ อบต.น้ำเลานำเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่  และคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดแพร่ (คทช.จังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน

     หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนของ คทช.จังหวัดนานหลายเดือน  ในเดือนมีนาคม 2562 คทช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  ที่ดินจังหวัด  เกษตรจังหวัด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่  ได้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลในตำบลน้ำเลาร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน  สภาองค์กรชุมชนตำบล  และ อบต.น้ำเลา และมาตรวจสอบซ้ำอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านและถูกต้อง  เช่น  การกันพื้นที่ป่าสงวนฯ ออกจากที่ดินทำกิน  จำนวนครัวเรือน  และข้อมูลการครอบครองที่ดินหรือแปลงที่ดินทำกินของชาวบ้านแต่ละราย  โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545  และ 2557 ตรวจสอบการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้าน

(ชาวบ้านตำบลน้ำเลาร่วมประชุมแก้ไขปัญหาที่ดิน)

     วัชรพงศ์  วิยะ  รองนายก อบต.น้ำเลา  ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินตำบลน้ำเลาร่วมกับสภาองค์กรชุมชนฯ มาตลอดบอกว่า  ขณะนี้ อบต.ทราบจากทาง คทช.จังหวัดแพร่ว่า  คทช.ได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งจากที่ชาวบ้านทำขึ้นมา  และจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบที่ดินแล้ว  มีมติเห็นชอบให้จัดสรรที่ดินในเขตป่าสงวนฯ ที่ชาวบ้านเข้าทำกินแล้ว  จำนวน  2,440 ไร่  ให้แก่ชาวตำบลน้ำเลาจำนวน  756  ครอบครัว  (เฉลี่ยครอบครัวละ 3 ไร่เศษ)   โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินตามขั้นตอนของกรมป่าไม้  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นป่าสงวนฯ  จึงต้องใช้อำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้  ตามมาตรา 16  พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507  และคาดว่าจะมีการออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินได้ในเร็วๆ นี้   ในลักษณะให้เข้าทำกินแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์  ห้ามซื้อขาย  หรือให้คนอื่นเช่า

               

ตั้งกองทุนที่ดินแก้ไขหนี้นอกระบบ-ป้องกันที่ดินหลุดมือ

     นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจ  และการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ดังกล่าว  สภาองค์กรชุมชนยังได้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินตำบลน้ำเลาขึ้นมาในปี 2558  มีคณะกรรมการดำเนินงานมาจากตัวแทนชาวบ้านตัวแทน อบต.  และกลุ่มกองทุนต่างๆ ในตำบล  มีระเบียบให้ชาวบ้านที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนที่ดินเป็นรายปีๆ ละ 100 บาท  ผู้สมัครจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกองทุนและช่วยเหลือกัน 

     กองทุนที่ดินมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้สินอื่นๆ  และหากสมาชิกกองทุนรายใดเดือดร้อนเรื่องที่ดินหรือที่ดินจะหลุดมือ  กองทุนจะนำเงินไปซื้อที่ดินหรือไถ่ถอน  เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน  หรือคนต่างถิ่น   และสมาชิกสามารถกู้ยืมเงินกองทุนมาแก้ไขปัญหาที่ดินได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท (หรือตามความเห็นของคณะกรรมการ) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1 ปี  ร้อยละ 2.50 บาทต่อปี ฯลฯ  นอกจากนี้สมาชิกสามารถฝากเงินเป็นเงินสะสมประจำได้ด้วย  โดยจะได้รับดอกเบี้ย 1.50 บาทต่อปี  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน  1,419 ราย  มีเงินกองทุนทั้งหมดประมาณ  340,000 บาท

     นางพรรณิดา  ศิริพันธุ์  เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลน้ำเลา  กล่าวว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2552  ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท  หรือสมทบเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,419  ราย  มีเงินกองทุนประมาณ  3,500,000 บาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น  คลอดบุตร  ช่วยเหลือรายละ 500 บาท  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล  ช่วยเหลือคืนละ 300 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 5 คืน  เสียชีวิตช่วยเหลือสูงสุดไม่เกินรายละ 7,500 บาท  หากไม่เจ็บป่วยภายใน 3 ปี  กองทุนจะให้เงินสนับสนุนรายละ 500 บาท

     “นอกจากนี้  กองทุนยังนำไปสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในตำบล  เช่น  ให้ทุนการศึกษานักเรียน  ช่วยกิจกรรมผู้สูงอายุ  การออกกำลังกาย  การดูแลสุขภาพคนในตำบล  รวมทั้งยังร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบล  และ อบต.สนับสนุนให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมีในไร่นา  โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด  เพราะมีการใช้สารเคมี เช่น  ยาฆ่าหญ้า  ฆ่าแมลงกันมาก  ทำให้สารเคมีสะสมอยู่ในร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  เราจึงสนับสนุนให้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ ทดแทนข้าวโพด  หรือในช่วงแรกก็ปลูกแซมในไร่ข้าวโพดก่อน  เช่น  กล้วย  มะขาม  มะม่วง  ถั่ว  หน่อไม้  ฯลฯ  ตอนนี้ก็มีชาวบ้านหลายรายแล้วที่ทำแบบนี้  และระยะยาวเมื่อพืชพวกนี้ทำรายได้ก็อาจจะเลิกปลูกข้าวโพดไปเลย”  เลขาฯ กองทุนสวัสดิการชุมชนกล่าว

 

ใช้หลักการ ‘DSLM’ แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

(อ่างเก็บน้ำห้วยขึมมีพื้นที่ 112 ไร่  ลึก 21 เมตร  ความจุ 1.2 ล้านลูกบากศ์เมตร  ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว)

     ตำบลห้วยน้ำเลามีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและใหญ่รวมกันทั้งหมด 8 อ่าง  ขนาดความจุตั้งแต่ 24,000 ลูกบาศก์เมตร  จนถึงขนาดใหญ่สุด  คืออ่างเก็บน้ำแม่คำปอง  ขนาดความจุ  6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร  แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทั้งตำบล  เพราะต้องใช้เพื่อการเกษตรและทำน้ำประปาแจกจ่ายไปทุกครัวเรือน 

     กังสดาล  พรมเสน  สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลา  แกนนำการพัฒนาในตำบลเล่าว่า  ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งถือเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี  เพราะสภาพพื้นที่ตำบลน้ำเลามีลักษณะเป็นที่ราบสูงและเป็นภูเขา  ในช่วงฤดูฝนน้ำจากพื้นที่สูงจะไหลหลากลงมายังที่ราบ  แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับพอเพียง  น้ำจึงไหลหลากท่วมบ้านเรือนและท่วมพื้นที่ไร่นาเป็นประจำ  ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สิน  ส่วนในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำในอ่างก็ไม่เพียงพอที่จะแจกจ่าย

     ในปี 2559 มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัดในจังหวัดแพร่   มีผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ (อบจ.แพร่) เข้าร่วมด้วย  โดยขณะนั้น  อบจ.แพร่มีโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ  จึงนำมาเสนอในที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ ระดับจังหวัด  และต่อมาสภาองค์กรชุมชนและ อบต.น้ำเลาได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมอบรมด้วย  โดยใช้หลักการ DSLM บริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม

     DSLM  คือ  Demand  การสำรวจปัญหาความต้องการน้ำของชุมชน   Supply คือการสำรวจปริมาณน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลชุมชน   Logistic   คือการสำรวจและจัดทำผังทิศทางน้ำและระบบส่งน้ำในพื้นที่    และ Management การนำข้อมูล DSL ที่ได้ทำการสำรวจมาบริหารจัดการในพื้นที่ชุมชนของตนเอง ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในตำบลได้ด้วย”  กังสดาลอธิบายหลักการของ DSML

การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

     โครงการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชนในหัวข้อต่างๆ  เช่น   ภาคทฤษฎี  ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ   การจัดการป่าไม้จังหวัดแพร่และการขอใช้พื้นที่ป่า   การทำผังน้ำและการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข   และการจัดทำผังน้ำชุมชน   จากนั้นจะเป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อสำรวจข้อมูล  และจัดทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ชุมชนของตนเอง  ทั้งนี้ในการสำรวจและจัดทำผังทิศทางไหลของน้ำจะใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ใช้แผนที่ทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยหาพิกัด  เช่นเดียวกับการสำรวจข้อมูลเรื่องที่ดินที่เคยทำมาก่อนจึงทำให้ผู้นำตำบลน้ำเลาเรียนรู้ได้เร็ว

     “เราได้เรียนรู้เรื่องการจัดทำฝายชะลอน้ำแบบถาวร  จากเดิมที่ชาวบ้านเคยทำฝายโดยใช้ไม้  หิน  ทราย  มาทำเป็นฝายชะลอน้ำ  เพื่อไม่ให้น้ำที่ไหลลงมาตามลำห้วยไหลเร็วเกินไปจนชะหน้าดินหรือกักน้ำไม่อยู่  แต่ฝายแบบนี้จะอยู่ได้ไม่นาน  ไม้จะผุพังหรือเปื่อยสลายไป  จึงเปลี่ยนมาทำฝายถาวรบริเวณป่าชุมชนและป่าต้นน้ำในตำบล  โดยใช้ปูนซีเมนต์มาผสมกับทรายและหิน  แล้วเทลงในฝายไม้  วิธีนี้จะทำให้ฝายแข็งแรงถาวรขึ้น  ช่วยชะลอน้ำและดักตะกอนไม่ให้ไปทับถมทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน  น้ำที่ไหลลงมาก็จะซึมไปอยู่ใต้ดิน และไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร” กังสดาลอธิบาย  

(ชาวบ้านช่วยสร้างฝายชะลอน้ำที่ป่าชุมชนต้นน้ำ)

     นอกจากนี้การสร้างฝายชะลอน้ำยังเป็นการช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำ  ทำให้ดินชุ่มชื้น  ป่าไม่แห้งแล้งเพราะมีน้ำจากใต้ดินหล่อเลี้ยง  ชาวบ้านได้เก็บหาอาหารจากในป่า  เช่น  หน่อไม้  ผัก  แมลง  และเห็ดต่างๆ  ตอนนี้ชาวบ้านช่วยกันทำฝายบริเวณป่าชุมชนต้นน้ำไปแล้วประมาณ 70 แห่ง  โดย อบจ.ช่วยสนับสนุนปูนซีเมนต์  ชาวบ้านช่วยกันลงแรง  หาไม้  หิน  ทรายมาสร้างฝาย

มูลนิธิอุทกพัฒน์หนุนชุมชนสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขึม

     จากการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของ อบจ.แพร่ที่มีมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้สนับสนุนในปี 2559   ในปี 2560 สภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำเลาและ อบต.น้ำเลาจึงได้นำหลักการ DSLM  มาใช้แก้ไขปัญหาน้ำในตำบล  โดยนำข้อมูลปัญหาความต้องการน้ำ (Demand)  การสำรวจปริมาณน้ำในชุมชนที่มีอยู่ (Supply) จัดทำผังทิศทางน้ำและระบบส่งน้ำ (Logistics)  แนวทางการสร้างอ่างเก็บน้ำและบริหารจัดการ (Management)  มาจัดทำโครงการขุดอ่างเก็บน้ำในตำบล  และเสนอขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เพื่อขุดอ่างเก็บน้ำบริเวณบ้านห้วยขึมหมู่ที่ 3 ขึ้นมา  เพื่อให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในตำบลอีกแห่งหนึ่ง

     ต่อมาในปี 2560 นั้นเอง  มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ส่งทหารช่างจากราชบุรีมาสำรวจพื้นที่  และได้พิจารณาอนุมัติโครงการในปี 2561  ใช้งบประมาณจำนวน 53 ล้านบาทเศษ  ต้นปี 2562  ทหารช่างเริ่มขุดอ่างเก็บน้ำห้วยขึม  ขนาดพื้นที่ 112 ไร่  ความจุน้ำ 1,200,000  ลูกบาศก์เมตร  ขณะนี้ขุดเสร็จแล้ว 

(ชาวน้ำเลาช่วยกันปลูกต้นไม้รอบอ่างห้วยขึมเมื่อวันแม่ที่ผ่านมา)

     “ถ้าฝนมีปริมาณมาก  อ่างน้ำก็จะช่วยรองรับน้ำไม่ให้ไปท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ไร่นา  ส่วนในช่วงหน้าแล้งก็จะช่วยพื้นที่การเกษตรได้ 3 ตำบล  พื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่  และทำน้ำประปาได้ด้วย   นอกจากนี้เมื่อวันแม่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา  ชาวบ้านได้ร่วมกับ อบจ.แพร่  และอบต.น้ำเลา ช่วยกันปลูกต้นไม้รอบอ่างเก็บน้ำจำนวน 1,800 ต้น  เช่น  พะยูง  มะค่า  ประดู่  ไม้สัก  ไม้ดอกต่างๆ และหญ้าแฝก เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม  พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในตำบล  และต่อไปจะนำพันธุ์ปลามาปล่อยเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและส่งเสริมอาชีพชาวบ้านได้ด้วย”  กังสดาลแกนนำชาวตำบลน้ำเลาบอกถึงประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้

     นี่คือตัวอย่างการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัยและปัญหาน้ำในตำบลน้ำเลา  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนร่วมกับ อบต.น้ำเลา  รวมทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  อบจ.แพร่  คทช.จังหวัด  ที่ดิน  ป่าไม้  และมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน  แต่ที่สำคัญก็คือ คนน้ำเลาจะต้องร่วมกันและลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเองก่อน...!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"