มาเลย์จดสิทธิ ปลาไหลเผือก


เพิ่มเพื่อน    


    รพ.อภัยภูเบศรจัดมหกรรมสุขภาพอาเซียนใหญ่ที่สุดในรอบปี 8 ประเทศนำนวัตกรรมภูมิปัญญาโชว์ เวียดนามเสนอว่านแร้งคอดำ รักษาต่อมลูกหมากโต มาเลเซียชู ตงกัต-อาลี หรือปลาไหลเผือก เพิ่มสรรถภาพทางเพศ จดสิทธิบัตรแล้วทั่วโลก ด้านลาวใช้กัญชาร่วมกับสมุนไพรอื่น รักษาริดสีดวงทวาร รูมาตอยด์ มะเร็งกระดูก
    เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี มีการจัดประชุมวิชาการมหกรรมสุขภาพอาเซียน (ASEAN Health Wisdom Conference 2019) ครั้งที่ 2 โดยปีนี้มี 8 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา และไทย ซึ่งแต่ละประเทศได้นำนวัตกรรมดูแลสุขภาพตามปรัชญาตะวันออกมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังรวมนักวิชาการจากทั้ง 8 ประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด งานมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ ที่ภูมิภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
    นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวถือเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปีของโรงพยาบาล สาระสำคัญคือ สนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ทางเลือกเพื่อชุมชนอาเซียนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอความรู้ การใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการแพทย์ดั้งเดิมของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
    ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า แต่ละประเทศนำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ อาทิ เวียดนาม เสนองานวิจัยว่านแร้งคอดำ กับการรักษาต่อมลูกหมากโต และเนื้องอกมดลูก ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาหมอยาพื้นบ้านของไทย มาเลเซียเสนอสมุนไพรพื้นบ้าน ปลาไหลเผือก หรือ "ตงกัต-อาลี" หรือโสมมาเลย์ ช่วยเพิ่มพลังและสุขภาพเพศชาย จากการศึกษาพบว่า ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในเพศชายให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 46.8% และยังเพิ่มความแข็งแกร่งและเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เมียนมาเสนอการรักษาอัมพาตใบหน้า ด้วยการแพทย์แผนเมียนมา ปัญจกรรม การฝังเข็มและการให้ยาสมุนไพรร่วมด้วย
    ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องกัญชาที่ถูกหยิบมาเป็นการเรียนรู้ในงานด้วย โดยลาวนำเสนอข้อมูลกัญชาว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนลาวหลายโรค เช่น ริดสีดวงทวาร รูมาตอยด์ มะเร็งกระดูก แต่ใช้ร่วมกับพืชสมุนไพรอื่น และงานนี้ยังได้จัดนิทรรศการกัญชาทางการแพทย์ที่สอนเรียนรู้ตั้งแต่สายพันธุ์ เทคนิคการปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปและการเก็บรักษา คัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้สารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่ให้สารทีเอชซี และซีบีดี เพื่อใช้ในการรักษาเฉพาะโรค พร้อมร่วมมือกับภาคการศึกษา นำร่องกัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ในเยาวชนอย่างครบมิติ ทั้งด้านคุณ โทษ ชีววิทยาของต้นกัญชา หลักทางฟิสิกส์และเคมีของกัญชา
    ขณะที่ ดร.แอนนี จอร์ช หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ บริษัท ไบโอทรอพิคส์ เมืองเบอฮัต ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ตงกัต-อาลี หรือที่รู้จักในชื่อภาษาไทยว่า โสมมาเลย์ (ปลาไหลเผือก) พบมากในมาเลเซีย เวียดนาม ชวา สุมาตรา ไทย และบอร์เนียว โดยบริษัทได้นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการสกัดน้ำตงกัต-อาลีตามมาตรฐานสากล ด้วยการผสมผสานความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ใส่ลงไปในพืชดั้งเดิม จากนั้นนำส่วนรากมาสกัดและอบแห้ง ผ่านการศึกษาด้านความปลอดภัยและพิษวิทยา และได้รับการรับรองคุณภาพจากหลายสถาบันมีชื่อเสียง อาทิ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สหรัฐ จีเอ็มพี และเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซีย มีสรรพคุณในการเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายและเพิ่มจำนวนอสุจิ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เป็นความร่วมมือในการวิจัยระหว่างสถาบันเอ็มไปทีกับรัฐมาเลเซีย จดทะเบียนสิทธิบัตรระดับโลกและสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา
    ดร.แอนนีกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ตงกัต-อาลี ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน และช่วยปรับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้เพิ่มขึ้น 48.6% และมีคุณสมบัติในการต้านความชรา อีกทั้งยังช่วยเสริมสมรรถนะด้านกีฬา ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อทั้งในกลุ่มผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก เพิ่มความอึด ลดความเครียด ลดระดับคอร์ติซอล ซึ่งเป็นตัววัดความเครียด และเพิ่มเทสโทสเตอโรนในการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงเรื่องสุขภาพทางเพศของผู้ชายได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ
    รศ.ดาวคิน เมียว มินต์ (Daw Khin Myo Myint) หัวหน้าสำนักงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู มหาวิทยาลัยการแพทย์ดั้งเดิม มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้าด้วยการแพทย์ดั้งเดิมมีใช้กันหลายวิธี ทั้งการแพทย์เมียนมา ปัญจกรรม ฝังเข็ม ตลอดจนการให้ยารับประทานและยาใช้ภายนอก โดยใช้น้ำมันยาร่วมกับสมุนไพรและการออกกำลังกาย แต่ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางคือ การกดจุดบริเวณศีรษะและใบหน้า ทั้งจุดหลักและจุดเสริม โดยผู้ป่วยจะต้องออกกำลังกายหน้ากระจกเสริมด้วยวันละ 5 ครั้ง ทำท่าเลิกคิ้ว หลับตายิ้มแบบปิดปาก ทำแก้มป่อง ย่นจมูก เป็นต้น 
    ในส่วนของการพยากรณ์โรคอัมพาตใบหน้านั้น พบว่า กว่า 70% ฟื้นคืนตัวได้เต็มที่ประมาณ 20-30% เป็นอัมพาตถาวรประมาณ 7% และสามารถกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำได้ในระยะเวลา 10 ปี ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกิดจากอายุที่มากกว่า 60 ปี มีอาการเป็นหนักและเส้นประสาทเสียหายมาก เงื่อนไขทางสุขภาพที่มีโรคอื่นเกี่ยวข้อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"