คมนาคมระอุ ทอท.-ทย.เปิดศึกแย่งชิงบริหารสนามบินกระบี่


เพิ่มเพื่อน    


22ส.ค.62 O นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)กล่าวว่าตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ออกมาชี้แจงภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2562 มีมติเห็นชอบปรับแผนการขอรับการโอน 4 สนามบินใหม่ ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี จากเดิมเป็นสนามบินชุมพร สนามบินสกลนคร สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี หรือมีการเปลี่ยน 2 สนามบินที่จะขอรับโอน

ทั้งนี้ ทย. เห็นว่า หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทน ทย. โดยมีท่าอากาศยานกระบี่ เป็น 1 ใน 4 นั้น จะทำให้ ทย. ประสบปัญหาการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ เนื่องจาก ในปัจจุบัน ทย. มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง ในปี 2561 เป็นเงินจำนวนประมาณ 852 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ในปี 2561 เป็นเงินจำนวนประมาณ 469 ล้านบาท คิดเป็น 55.05%  

ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้ว เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563 นั้น ทย.ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน โดยรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนนี้ของ ทย.ลง     

นางอัมพวัน กล่าวต่ออีกว่า รายได้จากการดำเนินการของ ทย. รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้ ทย. นำรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานให้เพียงพอเนื่องจาก ข้าราชการ และลูกจ้างประจำ มีกรอบอัตรากำลังจำกัด การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียงซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ 

ทั้งนี้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนฯ จึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร ประกอบกับขณะนี้ ทย อยู่ในระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท และใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน

อย่างไรก็ตาม ทย. จึงขอสอบถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำขอของพื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลอาจจะต้องขอทบทวนหรืออาจจะมีขึ้นได้ยาก เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถรับภาระในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลือทั้ง 24 แห่งได้ ดังนั้น ทย. อาจจะเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเรื่อง Management Contract หรือ PPP เพื่อความโปร่งใส โดย ทย. จึงไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. เนื่องจากมีผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับท่าอากาศยานกระบี่นั้น มีผู้โดยสารที่ใช้บริการ 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญ ตามนโยบายการเชื่อมโลกมาเมืองรอง รองรับนักท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ตและมีความแออัด ขณะเดียวกัน ในอนาคตกระบี่ไม่ใช่เมืองรอง และจะกลายเป็นเมืองหลัก เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ พบว่าเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานกระบี่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลชุดที่แล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อขยายลานจอดเครื่องบินจาก 11 ลำ เพิ่มเป็น 14 ลำ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 แห่ง รองรับผู้โดยสารประมาณจาก 3 หมื่นตารางเมตรเป็น 6 หมื่นตารางเมตร และขยายรันเวย์ให้มีระยะทางยาวขึ้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"