ซีพีพ่ายซ้ำ ศาลปกครองยกคำร้องกลุ่มซีพีขอความเป็นธรรมยื่นข้อเสนออู่ตะเภาเกินเวลา วืดชิงเมืองการบิน 2.9 แสนล้าน ข้ออ้างส่งมอบเอกสารล่าช้า เนื่องจากการจราจรติดขัดฟังไม่ขึ้น จะยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.62 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี) บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท โอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กรณีมีมติไม่รับข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9
โดยศาลเห็นว่า เอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ ในส่วนของสถานที่ วัน เวลาเปิดการรับซอง ปิดการรับซอง และการเปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดว่า จะเปิดให้การรับซองข้อเสนอในวันพฤหัสบดีที่ 21 มี.ค.62 เวลา 09.00 น. และปิดการรับซองข้อเสนอในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย คณะกรรมการคัดเลือก จะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้
สำหรับหลักเกณฑ์การเปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดว่า (ก) จะเปิดซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอ ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มี.ค.62 เวลา 16.00 น. จากข้อกำหนดดังกล่าว ซองข้อเสนอที่ผู้ประสงค์จะยื่นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ข้อเสนอไม่ปิดผนึก (ซองที่ 0) กับกลุ่มที่สอง ข้อเสนอปิดผนึก ซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ซึ่งในวันยื่นข้อเสนอวันที่ 21 มี.ค.62 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นซองข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม ให้ครบถ้วนภายในเวลา 15.00 น.
หลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้การแข่งขันในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน อันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือก ในฐานะผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคู่สัญญาจะต้องวางตัวเป็นกลางและรักษากติกา กล่าวคือ ต้องดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ในวันยื่นซองข้อเสนอเวลาประมาณ 12.21 น. 5 บริษัทได้นำข้อเสนอซองไม่ปิดผนึกมายังสถานที่รับซอง และเวลา 13.42 น. 5 บริษัทได้นำซองข้อเสนออีกจำนวน 8 กล่อง เข้ามา ต่อมาในเวลา 15.00 น. คณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอตรวจสอบหมายเลขซองข้อเสนอที่ระบุบนกล่องข้อเสนอทั้งหมดของ 5 บริษัท ที่มาถึงสถานที่รับซองแล้ว พบว่าทั้ง 5 บริษัทมีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนอจำนวนทั้งหมด 11 กล่อง
แต่ข้อเสนอมีเพียง 9 กล่องเท่านั้นที่มาถึง โดยขาดข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และกล่องที่ 9 ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา ต่อมาเวลาประมาณ 15.09 น.ซองข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มาถึงยังสถานที่รับซอง ซึ่งทั้ง 5 บริษัทยอมรับตามคำชี้แจงเพิ่มเติมว่า 5 บริษัทส่งมอบเอกสารดังกล่าวล่าช้า เนื่องจากการจราจรติดขัด
จึงรับฟังได้ว่า เอกสารซองข้อเสนอของทั้ง 5 บริษัท จำนวน 2 กล่องดังกล่าว มาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ของเอกสารการคัดเลือกฯ คณะกรรมการคัดเลือก ย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 31 (3) โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่ทั้ง 5 บริษัทเป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ดังนั้น มติของในการประชุม ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 ที่ไม่รับซองข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของ ทั้ง 5 บริษัท ในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา จึงชอบด้วยกฎหมาย
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ แถลงภายหลังทราบคำพิพากษาว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ คณะกรรมการคัดเลือกยอมรับและเคารพข้อวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทุกประการ คณะกรรมการคัดเลือกขอยืนยันในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมและให้ความเสมอภาคแก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะมีการประชุมวันที่ 27 ส.ค.2562 เพื่อรับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และพิจารณาขั้นตอนในการดำเนินการในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในขั้นตอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 757/2562 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1, บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีที่ 3, บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีที่ 4 และบริษัท โอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบแห่งเงื่อนไขทั้งสามประการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |