จับขายบุหรี่ไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน    


    นักวิชาการแฉเล่ห์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า บุกตลาดในสื่อออนไลน์ บิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนหลงเชื่อ ขณะที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ งัดกลยุทธ์สร้างแบรนด์ดีเอ็นเอแฝงโฆษณา หวั่นเด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อ ปูทางสร้างนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ จี้หน่วยงานรัฐต้องเท่าทัน สาธารณสุขจานรับคำสั่งนายกฯ ประสาน ตร.-สคบ.จับเพจดัง "สุดจัดปลัดบอก" ไลฟ์สดขายบุหรี่ไฟฟ้า
    วันที่ 21 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมแมนดาริน ในเวทีเสวนา “จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ ซึ่งมีผลวิจัยจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2493 พบว่านิโคตินมีคุณสมบัติก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งอุตสาหกรรมยาสูบทราบดี แต่ปิดบังความจริงนี้ไว้ ขณะที่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่แบบปกติ 20 มวน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7เท่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจนี้หรือกลุ่มผู้สนับสนุน พยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยข้ออ้างสารพัด
    ดร.วศินกล่าวต่อว่า ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย มีผลการศึกษาที่สอดคล้องว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น นอกจากนี้ เกาหลีใต้มีงานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดากว่า 6 เท่า
    ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมายห้ามโฆษณาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจทำคือ ใช้ปรากฏในสื่อออนไลน์ เน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการผ่านบทความเชิงให้ความรู้ โดยแฝงว่าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ และบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งธุรกิจใช้เทคนิคการเขียนแบบเนียนๆ แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ ผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดกระแส แต่จริงๆ แล้วเป็นกลยุทธ์แฝงโฆษณา ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง อยากฝากเจ้าหน้าที่ให้ควบคุมเข้มงวด ห้ามนำเข้า ใช้ข้อบังคับตามกฎหมายห้ามโฆษณาเด็ดขาด
    ด้าน ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส. สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ 4,000 คนจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. พบว่า 69% ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตามปกติเท่าเดิม ส่วนคนที่ดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์แทนเบียร์ปกติ มีเพียง 4% กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือประมาณ 3 ใน 4 เมื่อได้เห็นแพ็กเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อของบริษัทเดียวกัน อีกทั้ง 40% ระบุว่า เมื่อเห็นโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้อยากซื้อเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อเดียวกัน และอีก 36% บอกว่าอยากดื่มเบียร์ยี่ห้อนั้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างกว่า 70% เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณา จำกัดเวลา สถานที่ขาย และไม่เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนดื่ม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพราะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพ็กเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ทำกำไร 
    นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตนและทีมนิติกร ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และตำรวจ จับกุมเพจชื่อดัง “สุดจัดปลัดบอก” ขณะถ่ายทอดสดไลฟ์ขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาเติมบุหรี่ ภายในบ้านเช่าย่านรามคำแหง จากการขยายผลพบว่า เพจและช่องยูทูบ “สุดจัดปลัดบอก” เป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่นักสูบบุหรี่ไฟฟ้าและวัยรุ่นติดตามผ่านสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก จึงได้ตรวจยึดของกลางบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้าที่เตรียมการจัดส่งให้กับลูกค้า จากนั้นนำตัวผู้กระทำผิดไปยัง สน.หัวหมาก เพื่อสอบปากคำ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 
    สำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการครั้งนี้สอดรับกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการเร่งกวดขันการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งการห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งบทกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"