"การกลืน"เรื่องที่ต้องใส่ใจ เมื่อเปลี่ยนเป็นผู้สูงอายุ 


เพิ่มเพื่อน    

    กรมการแพทย์ชี้ปัญหาการกลืนอาหารพบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุลดลง แนะทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีรสจืดในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะช่วยลดอาการสำลักได้
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การกลืนปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายเลื่อมลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการกลืนในวัยสูงอายุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น กลไกในการกลืนในผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 
    1.ระยะช่องปาก ผู้สูงอายุไม่มีฟันและกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวลดลง ทำให้บดเคี้ยวได้ไม่ละเอียด กำลังและการประสานการทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้กระบวนการเตรียมอาหารและการส่งผ่านอาหารใช้เวลานานขึ้น ต้องมีการกลืนหลายครั้งกว่าอาหารจะหมดจากช่องปาก ร่วมกับผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาหารเหลือค้างในปากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคเสี่ยงต่อภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก 2.ระยะคอหอย การกลืนที่คอหอยจะเกิดช้ากว่าวัยอื่น กล่องเสียงยกตัวขึ้นมารับกับฝาปิดกล่องเสียงช้า ความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยลดลง หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้า ทำให้อาหารอยู่ในระยะคอหอยนาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ จึงเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ 3.ระยะหลอดอาหาร ระยะเวลาที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง จึงมีอาหารเหลือค้างที่คอหอยเสี่ยงต่อการสำลักเข้าทางเดินหายใจ แรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะไส้เลื่อนกระบังลมมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นกลไกการกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระยะ และมีส่วนสัมพันธ์กับระบบประสาทสั่งการและการควบคุมการหายใจ


    นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของภาวะกลืนลำบากที่พบได้บ่อยของความผิดปกติของช่องปากและคอหอยในวัยสูงอายุคือ โรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อม แต่อาจมีสาเหตุจากภาวะอื่นๆ ได้แก่ โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคพาร์กินสันที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ทำให้การกลืนอาหารยากขึ้น และวิธีแก้ปัญหาภาวะกลืนลำบาก ควรปรับอาหารผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ได้แก่ อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีรสจืด โดยรับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง และเลือกใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กลงและหลุมไม่ลึก ทำให้ปริมาณการรับประทานอาหารต่อคำลดลง รวมถึงปริมาณน้ำที่น้อยลงในแต่ละคำจะช่วยลดอาการสำลักได้
    ปัจจุบันมีนวัตกรรมสารเพิ่มความหนืดที่ผสมได้ทั้งอาหารเหลวและของเหลว เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหากลืนลำบากมีความปลอดภัยมากขึ้น และการใช้เทคนิคช่วยกลืนคือจัดท่าให้ศีรษะและลำตัวของผู้สูงอายุสามารถชดเชย กลไกการกลืนที่บกพร่องไปเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการรับประทานอาหารทางปากมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย ลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอและเช็ดทำความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างในปากออกให้หมดเพื่อเลี่ยงการเกิดเชื้อราในช่องปากและช่วยให้ผู้สูงอายุมีรอยยิ้มที่สดใส.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"