เปิดเวทีถล่ม‘ตร.-อัยการ’ ต้นตออยุติธรรมขังผิดคน


เพิ่มเพื่อน    

 "คณิต” จี้รื้อระบบตรวจสอบการพิสูจน์ความจริง ต้นตอวิกฤติศรัทธาสายพานยุติธรรม ระบุตำรวจ-อัยการต้องสืบสวนสอบสวนร่วมกันก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล "น้ำแท้" ย้ำการเก็บพยานหลักฐานต้องรับรู้ร่วมกันหลายหน่วยงาน "วิรุตม์" ชี้คำฟ้องที่ศาลอ่านคือ "นิยาย" ที่ ตร.แต่งขึ้น ลั่นต้องแยกงานสอบสวนออกจาก ตร. "จาตุรนต์" แฉคุกไทย “ขังผิดคน” ไม่ได้“ขังคนผิด” หนุนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพราะยังไม่สาย 

    ที่โรงแรมเดอะเซส บางแสน จ.ชลบุรี วันที่ 20 สิงหาคม สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.), มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการและบรรยายพิเศษ โดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ในหัวข้อ "สายพานกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาอะไร จึงไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้จริง?"  
    ศ.ดร.คณิตกล่าวว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนกระบวนการยุติธรรมไทยคือระบบตรวจสอบการพิสูจน์ความจริง โดยเฉพาะอัยการและตำรวจไม่ได้ทำงานสืบสวนสอบสวนร่วมกัน กล่าวคือก่อนคดีจะขึ้นสู่ศาล ทางอัยการและตำรวจต้องทำงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้โจทย์หรือจำเลยต่อสู้กันเอง แต่ที่ผ่านมาตำรวจ อัยการ หรือศาล ไม่เคยจะออกมาพิสูจน์ความจริงหรืออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน กลับปล่อยให้ประชาชนต่อสู้คดีกันเองระหว่างโจทย์และจำเลย นี่คือปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทย  
    ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของอัยการคือ ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ต้องปกป้องความเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดีระหว่างโจทย์และจำเลย สร้างความเท่าเทียมทั้งสองฝ่าย ด้วยการ ค้นหาความจริงกับการต่อสู้คดี ไม่ใช่การแข่งขันแพ้ หรือชนะ แต่คือการให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ประเทศไทยการพิสูจน์ความจริงตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับภาระ การจับผู้ต้องหา พยานหลักฐานต่างๆ ทางตำรวจไทยจับก่อน ขังก่อน แจ้งข้อหาก่อน และฟ้องทีหลัง แต่หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาก็ติดคุกฟรี ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ต้องแจ้งข้อหาก่อน พยานหลักฐานต้องพร้อมจึงสั่งฟ้อง นี่คือข้อบกพร่องสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย"  
     "สังคมไทยมีทัศนะที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมเร่งรัดให้มีการฟ้องโดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ ว่าหากฟ้องไปแล้วจะสามารถดำเนินการเอาผิดพยานหลักฐานพร้อมมูลหรือไม่ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกดำเนินคดีจนนำไปสู่ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มโทษให้หนัก แต่ต้องทำให้ระบบกฎหมายผู้ปฏิบัติละเว้นไม่ได้ เจ้าหน้าที่ชั่วๆ ทำเลวไม่ได้ คือ อัยการ ฝ่ายปกครอง และตำรวจ มาร่วมกันเก็บพยานหลักฐาน ความยุติธรรมที่ดีที่สุด เก็บโดยสมบูรณ์ และรับรู้ร่วมกันหลายๆ หน่วยงาน" ดร.น้ำแท้ กล่าว
    พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาสายพานกระบวนการยุติธรรมไทยคือคดีอาญาถูกผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทั้งการสืบสวนสวนสอบสวน สั่งจับออกหมายเรียก หรือออกหมายค้น หรือการสั่งฟ้อง รวมถึงการกล่าวหาจับคุมคนไทยทั้งประเทศ ตกอยู่ในอำนาจตำรวจ เท่านั้นยังไม่พอ ตำรวจยังควบคุมการจัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ผ่าศพจนไปถึงเก็บลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอ ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างมาก เพราะหากพยานหลักฐานถูกบิดเบือน ดังนั้นจึงควรให้กระบวนการสอบสวนแยกออกจากตำรวจ 
    "คำฟ้องที่ศาลอ่านในปัจจุบันนี้คือนิยายที่ตำรวจแต่งขึ้น ยิ่งปัจจุบันพนักงานสอบหมดความน่าเชื่อถือศรัทธา เพราะใช้วิจารณญาณส่วนตัวและทำตามใบสั่ง ที่มีใครบางคนกดรีโมตจากผู้มีอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ที่สามารถพลิกคดีจากแพะเป็นแกะ หรือ จากแกะเป็นแพะ ทั้งหมดล้วนโยนภาระให้คนจนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส นี่คือที่มาของคำพูด ปล่อยคนชั่ว 10 คนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว เมื่อใดที่ศาลยกฟ้องดำเนินคดีใด คือความเสียหายในกระบวนการยุติธรรม จึงก่อให้เกิดคำถามและข้อกังขาต่อสายพานกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะกระบวนการยุติธรรมตำรวจและอัยการไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่กลับไม่คืนความเป็นธรรมแก่ประชาชนตั้งแต่ในชั้นสอบสวน แต่กลับสั่งสอบแบบเลื่อนลอย" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว 
    ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประสบการณ์ตัวเองกับประชาชนในคดีพนัน ที่ไม่ให้ประกันตัวภายใน 3 วัน โทษปรับไม่เท่าไร แต่ตำรวจตัดสินจำคุกไปแล้ว 5 วัน เหตุใดเป็นเช่นนี้ เมื่อถามว่าทำไมไม่ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องประกันตัวเพราะไม่ใช่คดีร้ายแรง แต่เมื่อมาเป็นผู้ต้องคดีในศาลทหาร เมื่อ 5 ปีก่อน ถือว่าเป็นการดำเนินคดีผิดศาล เหตุใดตำรวจจึงพาไปขึ้นศาลทหาร โดยอ้างว่าสอบไม่เสร็จ และถูกตั้งข้อหาโดยใช่เหตุ ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิ์คัดค้านคำสั่งของศาลว่าไม่ควรสั่งขัง จนต่อมาเมื่อได้ประสบการณ์ในคดีความมั่นคง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงคืนเดียว พร้อมตั้งข้อหามาตรา 116 โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือตั้งข้อหาเกินความจริง สั่งฟ้องไปก่อนแม้จะไม่มีพยานหลักฐาน 
    "นี่คือระบบกฎหมายไทย จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาการตั้งข้อหาตามใจชอบแบบนี้ได้ เพราะผู้มีอำนาจบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เพราะไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นต่างทางการเมือง โดยไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์หรือฎีกา" 
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า คนจนเจอปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมหนักกว่าคนรวยเยอะมาก พูดกันไปถึงกันว่าแม้การลงโทษที่เท่ากัน แต่ในความจริงแล้วไม่ยุติธรรมเท่ากับคนจน เช่น ปรับ 5 พันบาทต่อคนจนกับคนรวยต่างกัน เพราะคนรวยมีเงินจ่าย แต่คนจนติดคุกแทนค่าปรับ นี่คือความยุติธรรมในแง่เศรษฐศาสตร์ ส่วนคุกในประเทศไทยขังผิดคน ไม่ใช่ ขังคนผิด เช่น คดียาเสพติดส่วนใหญ่ เกิน 70% ในคดีเหล่านี้ผิดคนเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้เสพยาเสพติดไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ กลับกลายเป็นว่าเมื่อออกจากคุกมาแล้วทำให้คนเหล่านี้บ่มเพาะอาชีพอาชญากรรมกลับมาด้วย จึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะยังไม่สาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"