ทำไมอยู่ดี ๆ จึงมีนักวิเคราะห์ที่สหรัฐฯมองว่ากำลังมี “อาการ” ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะถดถอย
ทั้ง ๆ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คุยมาตลอดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯภายใต้การนำของเขาอยู่ในจุดที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
หุ้นสหรัฐฯก็เคยพุ่งพรวดพราด แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดอาการร่วงอย่างหนักจนเกิดการคาดเดาว่าอเมริกาอาจจะเข้าสู่โหมด recession
ความหวาดวิตกเช่นนี้มาจากไหน
ชัดเจนว่านักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่มาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน
กังวลต่อไปว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะหดตัวเพราะสงครามการค้า
และเมื่อทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจีนชุดใหม่อีก 10% ก็เกิดความห่วงใยสูงขึ้นแม้จะเลื่อนเส้นตายจาก 1 กันยายนไป 15 ธันวาคมก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้คือนักลงทุนก็จะหาทางลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยกว่าหุ้นและการลงทุนอื่นๆ
นอกจากทองแล้วก็หนีไม่พ้นพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ
เมื่อแย่งกันซื้อ ราคาพันธบัตรก็สูงขึ้นเป็นธรรมดา
ซึ่งก็แปลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เรียกว่า bond yield ก็ย่อมจะลดลง
ตามปกตินักลงทุนย่อมมีความเชื่อว่าการถือพันธบัตรระยะยาว เช่น 10 ปี ควรจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการถือระยะสั้น เช่น 2 ปี
แต่เมื่อเกิดความตระหนก ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาว ก็ส่งผลให้ผลตอบแทนขณะนี้ต่ำกว่าระยะสั้น
อย่างนี้ถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ
ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตราผลตอบแทน “หักหัวลง” หรือภาษาวงการนี้ เรียก inverted yield curve
นั่นแปลว่าส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตร 10 และ 2 ปีติดลบ
เกิดการตีความว่านั่นคือสัญญาณที่น่ากังวล
เพราะเชื่อกันว่ายามใดที่ส่วนต่างตรงนี้ติดลบ เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งยิ่งกดดันการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก
ช่วงหลังอัตราดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี ได้ลดลงต่ำกว่า 1.6% ต่อปี ต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะสั้น 2 ปี 0.01% อันเป็นที่มาของคำว่า inverted yield curve
ประสบการณ์ที่ผ่านมาก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสภาวะชะลอเข้าขั้นถดถอยหรือ recession นั้นจะมี inverted yield curve เกิดขึ้นก่อนหน้าประมาณ 1-2 ปี
ถามว่าใครมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร?
โดยทั่วไปธนาคารกลางหรือ Ged มีอำนาจกำหนดเฉพาะดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นสุด หรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน
แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยระยะยาวหรือระยะสั้นต้องเคลื่อนไหวตามตลาดพันธบัตร Fed ไม่อาจไปกำหนดได้
ดังนั้นการที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี ต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะสั้น 2 ปี สะท้อนว่านักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะชะลอตัวมาก จนทำให้ Fed จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก และอาจจะมากกว่า 1 ครั้งด้วยซ้ำไป
มีการยกตัวอย่างว่าถ้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น 2 ปีตอนนี้ แม้จะได้ดอกเบี้ยเท่ากับ 1.6% แต่เมื่อครบกำหนดในอีก 2 ปีได้เงินต้นคืน หากเอาเงินต้นไปซื้อพันธบัตรอีกครั้งหนึ่ง ถึงตอนนั้นดอกเบี้ยอาจจะเหลือแค่ 0.5 ก็เป็นไปได้
ท้ายสุดนักลงทุนอาจพอใจจะซื้อพันธบัตรระยะยาว 10 ปีมากกว่า เพราะได้ดอกเบี้ยที่ล็อกเอาไว้ที่ 1.6% ไปตลอด 10 ปี
ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่เราจะต้องเกาะติดให้ใกล้ชิด เพราะ “สภาวะผิดปกติ” อย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้อาจจะนำไปสู่วิกฤติระดับโลกที่หนีไม่พ้นว่าจะต้องมากระทบคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะทรัมป์เพิ่งจะคุยโม้ไว้ในทวิตเตอร์ว่า
The United States is now, by far, the Biggest, Strongest, and Most Powerful Economy in the World, it is not even close! As others falter, we will only get stronger. Consumers are in the best shape ever, plenty of cash. Business Optimism is at an All Time High!
ทรัมป์อ้างว่าสหรัฐอยู่ในจุดที่ “ใหญ่ที่สุด, แข็งแกร่งที่สุดและมีพลังสูงสุด”
แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายด้านกลับชี้ไปอีกทางหนึ่ง
เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้นำสหรัฐบอกว่าทุกอย่างยอดเยี่ยม
แต่วงการวิเคราะห์เศรษฐกิจของอเมริกาเองบอกว่ากำลังเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
อะไรๆ มันเพี้ยน เพราะทรัมป์แท้ๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |