อย่ามัวแต่ประท้วง รัฐบาลปักกิ่งเปิดเผยแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวใหญ่ที่ครอบคลุมกวางตุ้ง, ฮ่องกง และมาเก๊า โดยเตรียมจะผลักดันให้นครเซินเจิ้นของกวางตุ้งเป็นนครชั้นนำของโลกด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจภายในปี 2578 นักวิเคราะห์เตือนฮ่องกงระวังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
แฟ้มภาพ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ภาคใต้ของจีน ซึ่งอยู่ติดกับฮ่องกง / AFP
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 กล่าวว่า การเปิดเผยแผนการพัฒนานครเซินเจิ้นให้เป็น "สถานที่ที่ดีกว่า" ฮ่องกงตามคำกล่าวของสื่อทางการจีน เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ชาวฮ่องกงมากกว่า 1.7 ล้านคน ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและปกป้องเสรีภาพที่ได้รับประกันไว้ภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"
การชุมนุมเดินขบวนและยึดครองสถานที่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ฮ่องกงตกอยู่ในภาวะวิกฤติ จีนจึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการพัฒนานครในภาคใต้ของจีนแห่งนี้
เมื่อวันจันทร์ สื่อของทางการจีนเปิดเผยแนวนโยบายที่รัฐบาลกลางประกาศเมื่อวันอาทิตย์ มีเป้าหมายจะเปลี่ยนนครเซินเจิ้นให้เป็นพื้นที่นำร่องของ "ระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน" เอกสารแนวนโยบายซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ระบุถึงเป้าหมายของการเปลี่ยน "ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและคุณภาพในการพัฒนา" ของนครเซินเจิ้นให้เป็นหนึ่งในเมืองที่ดีที่สุดในโลกภายในปี 2568 และยังตั้งเป้าว่า ภายในปี 2578 เซินเจิ้นจะเป็นเมือง "ชั้นนำของโลก" ในด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยรวม
แนวนโยบายนี้ยังกล่าวถึงความตั้งใจของจีนที่จะหลอมรวมมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊าเข้าด้วยกัน
หนังสือพิมพ์แนวทางชาตินิยมของทางการจีน โกลบอลไทมส์ อ้างคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญหลายราย เตือนว่า ฮ่องกงเสี่ยงที่จะโดนทิ้งไว้ข้างหลัง เทียน เฟยหลง อาจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหาง กล่าวว่า หากฮ่องกงยังไม่พร้อมโอบรับโอกาสเข้าร่วมการพัฒนาของประเทศนี้ การพัฒนาของฮ่องกงก็จะถูกจำกัดมากๆ ในอนาคต ในขณะที่เซินเจิ้นกำลังวิ่งไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วกว่ามาก
ข้อมูลของเมื่อปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของเซินเจิ้นยังตามหลังฮ่องกง แต่ถือว่ามีการเติบโตเร็ว โดยขยายตัว 7.6% จากปีก่อนหน้านั้น จีดีพีอยู่ที่ 352 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮ่องกงมีจีดีพี 363 ล้านดอลลาร์ ในปี 2561 แต่อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3% เท่านั้น
เอกสารนโยบายนี้กล่าวถึงการหลอมรวมมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีเซินเจิ้นตั้งอยู่เข้ากับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ว่าจีนจะสนับสนุนระบบการเข้า-ออกชายแดนให้ "มีความสะดวกและเปิดกว้างขึ้น" ผู้ที่มาจากฮ่องกงและมาเก๊าแต่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในเซินเจิ้นจะได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้พักอาศัยที่นี่ และจีนยังจะอนุญาตให้ผู้พักอาศัยถาวรที่เป็นคนต่างชาติเปิดบริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต่อไปอาจทำให้นครในภาคใต้ของจีนแห่งนี้แทนที่ฮ่องกงในฐานะพื้นที่ที่ธุรกิจระหว่างประเทศสามารถตั้งสำนักงานได้ง่ายดาย
เซินเจิ้นพัฒนาอย่างรวดเร็วจากหมู่บ้านประมงเงียบๆ เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ภายหลังเมืองนี้ได้รับสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เซินเจิ้นเป็นส่วนสำคัญของนโยบาย "พื้นที่อ่าวใหญ่" ของจีนอยู่แล้ว นโยบายนี้คือการหลอมรวมระหว่างฮ่องกง, มาเก๊าและกวางตุ้ง กระนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมีความกังขาว่าการรวมตัวจะทำได้ยากง่ายเพียงใด
เบน แบลนด์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำสถาบันโลวี กล่าวว่า วิกฤติทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในฮ่องกงทำให้จีนเพิ่มการตรวจตราชายแดนระหว่างเซินเจิ้นกับฮ่องกงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนแผนการหลอมรวมอ่าวใหญ่ที่ว่านี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |