เทรนด์สื่อและบันเทิงไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

          ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวไทยต้องการเสพสื่อและบันเทิงแบบส่วนบุคคลมากขึ้น ไม่แตกต่างไปจากผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งก็เป็นไปตามการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้ความต้องการของการได้รับประสบการณ์ลูกค้าที่ดี ตรงกับรสนิยมและความชื่นชอบส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นชนชั้นกลาง ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย      

                จากรายงาน Global entertainment and media outlook 2019-2023 ของ PwC โดย พิสิฐ ทางธนกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ แอนด์ มีเดีย บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็นการสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงใน 53 อาณาเขตทั่วโลกว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 4.3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือนับจากปี 2562-2566 โดยจะเห็นรายได้ทั่วโลกของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 85.66 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 69.5 ล้านล้านบาท ในปี 2561

                สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 5.05% เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวมที่ 5.01% แต่จะเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่คาดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.5%, ฟิลิปปินส์ 6.2% และเวียดนาม 7.1% แต่ไทยจะยังเติบโตนำหน้ามาเลเซียที่ 4.7% ส่วนสิงคโปร์ 3.8%

                ทั้งนี้ กระแสของการใช้จ่ายผ่านสื่อดิจิทัลของผู้บริโภคและธุรกิจไทยที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการในรูปแบบดั้งเดิม เช่น สำนักพิมพ์และโทรทัศน์ ต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น  แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่ประสบกับความยากลำบากในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด หรือแม้กระทั่งต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

                นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ด้วยว่าบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภควีดิทัศน์ตามคำขอ หรือ Video on demand ที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้คึกคัก และเห็นการแข่งขันที่รุนแรงในหมู่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เช่น Netflix, iflix และ HOOQ โดยมูลค่าการใช้จ่ายบริการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตในไทยเมื่อปี 2561 นั้นสูงถึง 2.81 พันล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6.08 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 16.64% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบดั้งเดิมและโฮมวิดีโอ ที่จะเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพียง 4.76% จาก 1.97 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เป็น 2.49 หมื่นล้านบาทในปี 2566

                ขณะที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตของไทย จะเป็นตลาดที่เห็นการเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากความชื่นชอบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวไทย โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายในตลาดนี้สูงถึง 3.25 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 13.62% ส่วนเฟซบุ๊กยังคงเป็นสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมใช้มากที่สุด ตามมาด้วยยูทูบและไลน์

                ตัวแปรที่จะปั้นให้สื่อและบันเทิงสู่ความสำเร็จ มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย โดย PwC ได้ระบุไว้ว่าสื่อต้องหลากหลายไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เนื่องจากความต้องการลูกค้าแต่ละราย ในแต่ละภูมิศาสตร์นั้นแตกต่างกัน ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอตัวเลือกของสินค้าและบริการที่มีความหลากหลาย รวมถึงจุดสัมผัสบริการของลูกค้าขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่ประสบการณ์การบริโภคสื่อและอีคอมเมิร์ซมุ่งไปสู่ความเป็นส่วนบุคคลมากขึ้น ผู้สร้างคอนเทนต์และผู้ประกอบการสื่อและบันเทิง จึงได้คิดค้นวิธีใหม่ๆ ในการดึงดูดผู้บริโภค

                นวัตกรรมนับเป็นอีกหนึ่งทางเทคโนโลยีปูทางไปสู่ยุคของการใช้ระบบประมวลผลส่วนบุคคล โดยหลายองค์กรกำลังใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำความเข้าใจรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค และให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่โดนใจมากที่สุด  พร้อมกันนี้ความเชื่อมั่นและกฎระเบียบยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ เมื่อผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างประสบการณ์ในการบริโภคสื่อ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศของการดำเนินธุรกิจสื่อและบันเทิง.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"