“ชิน ประสงค์ - จำลอง ฝั่งชลจิตร”สองศิลปินแห่งชาติกับ"หัวใจรัก"ในงานศิลป์


เพิ่มเพื่อน    

   

    “ในแวดวงศิลปะสร้างสรรค์ หากไม่มีใจรัก ก็ยากที่จะทำผลงานออกมาได้ดีและประสบความสำเร็จ” 
    นี่เป็นคำพูดที่เหมือนกัน ของสองศิลปินแห่งชาติอย่าง ชิน ประสงค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) 2561 และจำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ 2561 กล่าวเอาไว้ในงาน “เชิดชูเกียรติ 12 ศิลปินแห่งชาติ 2561” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนผ่านการแสดงนิทรรศการประวัติ และผลงาน ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 
    ชิน ประสงค์ ประติมากรเอกรุ่นใหญ่ วัย 77 ปี ได้สร้างสรรค์ประติมากรรมไว้มากมาย งานแรกที่เป็นงานประติมากรรมของเขาคือปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งประดิษฐาน ณ ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จ.ชลบุรี และผลงานชิ้นสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.สุราษฎร์ธานี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก และอีกหลากหลายผลงาน รวมถึงประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 12 สุนัขถวายในหลวง ร.9 และยังได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ถวายงานครั้งสุดท้ายแก่พระองค์โดยการปั้นประติมากรรม “คุณทองแดงและคุณโจโฉ” สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนำไปประดับข้างพระจิตกาธาน พระเมรุมาศในปี 2559 ด้วย
    "ถือเป็นความภาคภูมิใจของตนเองมากๆ ที่ผมมีโอกาสได้สร้างผลงานแก่แผ่นดินเอาไว้อย่างหลากหลาย ที่มีโอกาสเช่นนี้ ช่วงเริ่มต้นเข้าสู่วงการศิลปะ ช่างศิลป์ ช่วงนั้นกำลังรับราชการเป็นประติมากร สังกัดสำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ กรมศิลปากร จึงทำให้ได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ อยู่เรื่อยๆ "ศิลปินอาวุโสกล่าว

ชิน ประสงค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) 2561


    ประติมากรรุ่นใหญ่เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ตัวเขานั้นเรียน ม.ศิลปากร ตอนนั้นได้เห็นผลงานประติมากรรมของครูอาจารย์ ทั้งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และอีกหลายท่าน จึงมีความคิดอยากจะทำแบบนั้นบ้าง จำได้ว่าสมัยนั้นเรียนจริงจังกว่าจะจบได้ไม่ใช่เรื่องง่าย นักศึกษาสมัยนั้นถ้าจะวาดสัตว์ปั้นสัตว์ ต้องไปที่เขาดิน ไปสังเกตสัตว์แต่ละตัว ดูนิสัย จนจำรายละเอียดได้อย่างแม่นยำถ่ายทอดความรู้สึกผ่านออกมาให้ได้ เลยทำให้ตัดสินใจเอาดีทางด้านประติมากรรม พอเรียนจบก็ทำงานปั้น และมารับราชการกับกรมศิลปากร ได้ทำประติมากรรมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ตอนแรกที่ได้รับมอบหมายจำได้ว่ากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี แต่พอผ่านผลงานแรก ผลงานต่อๆ ไปก็ทำได้ดียิ่งขึ้น เพราะค่อนข้างมีความสุขกับการอยู่กับงานปั้น ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จนเกษียณมาตอนนี้ 10 ปีแล้วก็ยังคงสร้างสรรค์งานประติมากรรมอยู่เพราะชอบ โดยใช้แรงบันดาลใจจากทุกสิ่ง ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ หยิบมาปั้น เทคนิคการสร้างสรรค์งานก็ดูจากภาพบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะชอบไปดูของจริงมากกว่า 
    “ถ้าหากปั้นตามรูปภาพมันก็เหมือนทำรูปปั้นแข็งๆ เกร็งๆ ดูไม่ค่อยมีชีวิต แต่ถ้าไปดูของจริงเราจะเห็นความมีชีวิตชีวา และผลงานเราจะออกมาเป็นธรรมชาติ อย่างประติมากรรมถวายงานในหลวง ร.9 ตั้งแต่คุณทองหลาง มาถึงครอบครัวคุณทองแดง ผมก็จะทำให้มีชีวิต โดยเฉพาะคุณทองแดงผมนำเอาลักษณะเด่นถ่ายทอดออกมา เป็นความรู้สึกผูกพันและความกตัญญูผ่านแววตา เพิ่มลูกเล่นกระดูกสันหลังหาง และปลอกคอเพื่อให้ดูสนุกสนาน ผลงานสุนัขทรงเลี้ยงหลายชิ้นก็ทำเช่นเดียวกัน” นายชิน กล่าว
    ศิลปินแห่งชาติ เล่าอีกว่า งานประติมากรรมทุกอย่างยากทั้งหมด แต่ถ้าเราชอบ เรารู้สึกสนุกก็จะทำได้ดี แต่การทำได้ดีต้องมาจากความทุ่มเท เสียสละกับงาน  รวมถึงจิตใจต้องว่างด้วย เราต้องนิ่ง งานจึงจะออกมาดี อย่าใจร้อน 

งานประติมากรรมคุณทองหลาง ที่ชิน ประสงค์ สร้างสรรค์ขึ้น


    “เวลาที่ผมทำงาน ใครจะมาดูผมทำงานไม่ได้เลย เพราะผมจะกังวลว่าเขาจะมาตำหนิเรา หรือว่าเราทำผิดไหม ผมต้องอยู่ในที่เงียบๆ เทคนิคการทำงานของผม ถ้าทำไม่ได้ ผมพังเลย หลายคนตกใจว่าผมพังทำไม ผมว่าพังดีกว่าการทำไปเรื่อย แล้วผิดตามแก้ไม่รู้จบ เพราะงานประติมากรรมมันแก้ยาก จะรวนไปหมด ถ้าเริ่มใหม่จะดีกว่าและไวกว่า เพราะเห็นสิ่งที่ผิดมาแล้วจึงแก้ได้ตรงจุดมากกว่า นี่คือหัวใจสำคัญในการทำงานของผม และผมยังจะทำงานประติมากรรมต่อไปอีก คาดว่าอีกประมาณไม่เกิน 2 ปีก็จะรวบรวมงานทั้งหมดจัดแสดง และดำเนินการเป็นวิทยากรให้กับลูกศิษย์และผู้สนใจงานประติมากรรมต่อไป” นายชิน เล่า

    ส่วนทางด้านจำลอง ฝั่งชลจิต นักเขียนผู้มีผลงานเขียนมาหลายร้อยเรื่อง ทั้งเรื่องสั้น วรรณกรรมเยาวชน นวนิยาย สารคดี บทความ ก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า การสร้างงานศิลป์ ขึ้นอยู่กับตัวเราว่ารัก หรือชอบอย่างไร แล้วเราต้องสร้างให้มันดี มันจึงจะดี แต่จะดีอย่างไรนั้นก็ตอบไม่ได้ 

จำลอง ฝั่งชลจิต ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ 


    ในฐานะนักเขียนที่เดินบนเส้นทางวรรณกรรมมากว่า 40 ปี จำลอง ฝั่งชลจิต ได้รับฉายาในวงวรรณกรรมว่า “ลอง เรื่องสั้น” เขาใช้ชื่อจริงในการเขียนเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้นามปากกา เช่น ประกายมุกงามแต่งแต้ม, ช.โชนแสง บุษบา เกื้อกลิ่น เป็นต้น ส่วนผลงานที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องก็มี ชนำน้อยกลางทุ่งนา, เรื่องสั้น สีของหมา รวมเรื่องสั้น ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป, เรื่องบางเรื่องเหมาะจะเป็นเรื่องจริงมากกว่า, เมืองบ้านผม ฯลฯ
    จำลอง เป็นนักคิดและนักสังเกตการณ์ชีวิตและสังคม ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม และการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ผลงานของเขาทุกรูปแบบจึงโดดเด่นด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นจริงของมนุษย์ และความเป็นไปในสังคม และด้วยกลวิธีในการนำเสนอซึ่งแฝงความหมายระหว่างบรรทัด ลุ่มลึกด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ตลอดจนลีลาน้ำเสียงประชดประชันอย่างมีอารมณ์ขัน ทำให้สังคมได้ตระหนักความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งยังแสดงวิธีเล่าเรื่องที่หลากหลาย เช่น การเล่าเรื่องแบบเหนือจริง การเล่าเรื่องคู่ขนาน การเล่าเรื่องแบบเมตาฟิกชั่น การตัดต่อเรื่องแบบภาพยนตร์ ฯลฯ พัฒนาการที่เกิดจากการหาความรู้ด้านวรรณคดีศึกษาและภาพยนตร์ศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมไปถึงเรื่องการทดลองผสมผสานกลวิธีใหม่ๆ ทางวรรณศิลป์ ทำให้เขาได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ 


    “การได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติครั้งนี้ ผมก็ไม่ได้อยากแสดงออกมามากมายว่ารู้สึกอย่างไร ผมไม่ยึดติดกับรางวัลหรือคำสรรเสริญมากนัก แต่ลึกๆ ก็รู้สึกดี เป็นกำลังใจ เหมือนเราขึ้นบันไดไปอีกขั้น” จำลองกล่าวความรู้สึกสั้นๆ ให้ฟังก่อนที่จะกล่าวถึงมุมมองวรรณกรรมในยุคสมัยใหม่ ที่เขากำลังเฝ้ามองดูในฐานะนักเขียนรุ่นเก่าวัย 66 ปี
    “ผมมองว่างานศิลป์อย่างวรรณกรรม มันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ วิธีการเขียน เรามักจะเห็นงานเขียนใหม่ๆ งานแปลใหม่ๆ จากต่างประเทศเยอะมาก ผมมองว่ามันมีความหลากหลายมากขึ้น นักเขียนรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้น ในฐานะที่คนแก่อย่างผมไม่ใช่ว่าได้รางวัลมาแล้วมากมายจะหยุดอยู่แค่นี้ ก็ยังคงต้องพยายามมองหาอะไรใหม่ๆ ทั้งมุมมองใหม่ๆ วิธีนำเสนอใหม่ๆ มาเขียนเพื่อให้คนอ่านไม่รู้สึกเบื่อรูปแบบเดิมๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะสามารถให้งานเขียนของตนเองอยู่ต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามเฝ้ามองดูสังคม ว่าสังคมขยับขยายตัวไปอย่างไรด้วย เพื่อที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่เข้ากับสังคมยุคนี้ และให้ข้อคิดแก่ผู้อ่านและคนในสังคม” นายจำลอง กล่าว
    เจ้าของฉายา ลอง เรื่องสั้น กล่าวต่อไปอีกว่า อย่างที่กล่าวไปว่างานเขียนเกิดขึ้นมาใหม่มากมาย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านจะชอบอ่านแบบไหน เหมือนกับหนังสืออนไลน์ และหนังสือเล่ม ชอบอ่านแบบไหนก็เลือกอ่านแบบนั้น ทำนองเดียวกับเนื้อหาชอบอ่านแบบไหนก็เลือกแบบนั้นเช่นกัน อย่างตอนนี้นิยายวายก็กำลังเป็นที่นิยม ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร สิ่งสำคัญของวรรณกรรมอยู่ที่การสื่อสารมากกว่า วรรณกรรมที่อ่านสามารถสร้างข้อคิด ทำให้คนเกิดจิตสำนึกกับอะไรบางอย่างในสังคมได้หรือไม่ หรือสังคมขาดอะไร วรรณกรรมก็ะเข้าไปเติมแต่งสิ่งที่สังคมขาดไม่มากก็น้อย

 

 

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"