ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวปลอมที่แชร์ว่อนโลกโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในปัญหาสะสมมานาน ก่อผลร้ายต่อคนไทยทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นข้อความโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพความสวยความงามยารักษาโรคที่เสนอเนื้อหาเกินจริงหรือข่าวปลอมทั้งข้อความหยาบคายภาพรุนแรงและคลิปวิดีโอไม่เหมาะสมเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ หวังต้องการยอดผู้ชมโดยไม่คำนึงความถูกต้อง
การสื่อสารไม่สร้างสรรค์เหล่านี้สร้างความแตกตื่นแตกแยกในสังคมคนทำสื่อ และภาคประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง เหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 7 องค์กร ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(Thai PBS) คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวง ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ จะมีการจัดงาน “International Conference on Fake News” มีผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการนักวิชาชีพในประเทศไทย และผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วม อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจากไต้หวัน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจาก The University of Hong Kong ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากพรรค Free Democrat Party สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้แทนจากสำนักข่าว Thomson Reuters และ AFP เข้าร่วมเป็นวิทยากรและเสวนาอย่างน่าสนใจ ในวันที่ 17 มิ.ย. ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สื่อดิจิทัลได้ทวีบทบาทเป็นสื่อหลัก พบว่าประชาชนมีการใช้และรับสื่ออย่างรู้ไม่เท่าทัน โดยเฉพาะปรากฏการณ์ข่าวลวง (Fake News) ที่แทรกอยู่ในประเด็นต่างๆ สสส.จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคนรับสื่อทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย ให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีทักษะคิดวิเคราะห์ แยกแยะ รู้เท่าทันสื่อเท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และร่วมกันเฝ้าระวังข่าวลวง สังคมยังต้องการเนื้อหาที่หลากหลาย แต่ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วถูกต้อง
“สสส.ขับเคลื่อนเรื่องพฤติกรรมนำไปสู่สุขภาพที่ดี ผลกระทบจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในสื่อ ทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดียเกิดผลกระทบโดยตรง ซึ่งประเด็นสุขภาพติด1 ใน 3 ของข่าวลวงสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน เช่น กินยานี้แล้วจะหายจากโรคทั้งที่ไม่เป็นจริง อาการป่วยจะหายเมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น เลิกบุหรี่ หยุดดื่มเหล้า การที่องค์กร 8 แห่งผนึกกำลังต้านข่าวลวงอาจไม่ได้ระงับข่าวลวงให้หมดไป แต่จะลดปริมาณข่าวลวงให้น้อยที่สุดทุกวันนี้ คนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะเด็กใช้เวลากับโซเชียลมาก นอกจากผู้ผลิตสื่อร่วมมือระงับข่าวลวงผลิตเนื้อหาที่สร้างสรรค์แล้ว พ่อแม่ต้องปฏิบัติตัวเป็นต้นแบบ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกๆ รวมถึงมีมาตรการใช้ป้องกันในบ้าน ถัดมาโรงเรียนมีการเรียนการสอนเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารสำหรับข้อเสนอจากเวทีประชุมนานาชาติต้านข่าวลวงที่จะเกิดขึ้น เครือข่ายผลักดันสู่ระดับนโยบายต่อไป” ดร.ไพโรจน์กล่าว
ข่าวลวงข่าวปลอมเป็นปัญหาสากล วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกออนไลน์เกิดผู้ส่งสารจำนวนมากทุกคนผลิตสื่อได้เอง ต่างจากอดีตมีสื่อมวลชนอาชีพเป็นคนผลิตสื่อและคัดกรองข่าวที่นำเสนอจากสภาพการณ์นี้ทำให้บางข้อมูลขาดการตรวจสอบและมีการเผยแพร่ข่าวลวงในวงกว้าง นำมาสู่การลงนามประกาศปฏิญญาเสริมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงดังกล่าวเพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ต้านข่าวลวง รวมถึงสร้างกลไกการรับมือก่อนเชื่อและแชร์ข้อมูลออกไป อีกทั้งเสริมพลังสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่ายร่วมสร้างนิเวศสื่อที่ดีเพื่อส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาสารสนเทศคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทั่วโลกตระหนักปัญหาข่าวลวงหลายประเทศมีการกำกับดูแลสื่อและออกแนวทางปฏิบัติการรายงานข่าวและลดการเสนอข่าวลวงในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะฝีมือมนุษย์หรือหุ่นยนต์ เพราะมีการแพร่กระจายรวดเร็ว งานวิจัยพบว่าข่าวลวงไม่มีวันตายแม้แชร์ลดลง แต่ความเป็นดิจิทัลมีสิทธิ์ที่ข่าวจะถูกนำเสนออีกเมื่อใดก็ได้ ผลวิจัยนี้ยังชี้ผู้มีหน้าที่ยับยั้งข่าวลวงคือสื่อหลักที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นมืออาชีพนำมาสู่การลงนามปฏิญญาต้านข่าวลวง ซึ่งการกำกับดูแลสื่อยุคโลกไร้พรมแดนมีต้นแบบที่ดีในไต้หวัน มีการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ นักวิชาการราชการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลแพลตฟอร์มอย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางกระจายข่าวลวง ซึ่งไต้หวันโมเดลเป็นแนวทางมาแลกเปลี่ยนในการประชุมไทยจะปรับใช้กับสื่อไทยในยุคนี้อย่างไร ในทัศนะไม่คิดว่าการกำกับดูแลด้วยกฎหมายหรือให้นโยบายจากบนลงล่างจะทำให้ปัญหาข่าวลวงหายไปจากสังคมไทย
เดินหน้าช่วยสังคมตรวจสอบข่าวลวงโลกออนไลน์ ก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สื่อในปัจจุบันต้องคำนึงถึงจริยธรรมและความถูกต้อง มีบทบาทคัดกรองข่าวที่น่าเชื่อถือ ก่อนหน้านี้สมาคมฯ ร่วมกับภาคีเริ่มโครงการชัวร์แล้วแชร์ได้เนื่องจากบางครั้งสื่อหลักก็ตกเป็นเหยื่อนำเนื้อหาจากสื่อออนไลน์ไปแตกขยายประเด็นทุกวันนี้ ข่าวเกิดขึ้นทุกวินาที การผลิตข่าวลวงมาจากความจงใจของกลุ่มคนที่ต้องการหาเงินขายโฆษณาจากยอดวิวปัญหานี้จะแก้ไขได้ต้องทำทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ผู้ปล่อยสาร ผู้รับสารที่กลายเป็นผู้ปล่อยสาร ฉะนั้นต้องรู้เท่าทัน ที่น่าห่วงกลุ่มวัยเด็กที่มีพฤติกรรมบริโภคข่าวผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ไม่รู้เป็นเรื่องหลอกลวงจะถูกหลอกให้แชร์และกระจายข้อมูลการสร้างภูมิคุ้มกันต้องทำกับกลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตด้วย การต้านข่าวลวงจึงต้องทำงานทุกระดับ ทั้งในระดับครอบครัว สังคม ชุมชนจังหวัด และประเทศชาติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |