การขับเคลื่อนเรื่องเพศในเด็กและเยาวชนมีความเปราะบาง คนทำงานต้องเรียนรู้ธรรมชาติของวัยนี้ลึกซึ้ง รวมถึงดึงทุกภาคส่วนสนับสนุนการจัดการปัญหาและมีระบบช่วยเหลือ เริ่มตั้งแต่พ่อแม่วัยรุ่น ครู เพื่อน จนถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อลดผลกระทบและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีกับเด็กเยาวชนเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
ปัญหาท้องไม่พร้อมยังน่าห่วง แม่วัยใสพบเจอได้ทุกภาคของไทย ไม่ใช่เรื่องปกติ ทุกคนต้องเปิดใจรับฟังและไม่ซ้ำเติมเรื่องที่เกิดขึ้น เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมติดตามหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อวิเคราะห์ศึกษาความก้าวหน้าโครงการพัฒนารูปแบบบูรณาการการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์กับเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยาเสพติดในวัยรุ่น โดยองค์กรสาธารณประโยชน์ จังหวัดลำปาง
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี 2557 สสส.สนับสนุนการทำงานในพื้นที่จังหวัดลำปางเรื่องการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์วัยรุ่น ระยะแรกเป็นช่วงทดลองหารูปแบบการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ลำปางมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2546 ในชื่อ “กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน” มีหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐในจังหวัดเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น มีภารกิจ 9 ด้านเป็นแนวทาง ข้อดีขององค์กรลักษณะนี้คือ ลดข้อจำกัดด้านเวลา ประสานงานได้รวดเร็ว และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มวัยรุ่น ส่วนการดำเนินงานในระยะที่ 2 มุ่งพัฒนาจังหวัดลำปางให้เป็นจังหวัดต้นแบบอย่างเข้มแข็ง ผลิตองค์ความรู้และสื่อตัวอย่างให้จังหวัดอื่นได้มาศึกษา เน้นรูปแบบการทำงานเชิงบูรณาการ
"สสส.เปรียบเสมือนตัวเชื่อมที่สนับสนุนการทำงานให้คล่องตัวยิ่งขึ้น มอบแนวคิดการทำงาน การถอดบทเรียนและการหนุนเสริมด้านนโยบายภาครัฐ พร้อมทั้งกระตุ้นการทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นชายมากขึ้น จุดเด่นของจังหวัดลำปางทำให้การเข้าถึงถุงยางอนามัยง่ายขึ้น ไม่ได้หมายถึงสนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์ แต่เพื่อลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” ทพ.ศิริเกียรติชูลำปางต้นแบบ
ด้าน พรรณศิริ เพียรสกุลรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลลำปาง กล่าวว่า กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับชุมชนนาก่วมเหนือ ต.สบตุ๋ย จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ผู้ปกครองเข้าร่วมภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร อาทิ การแนะนำตัวผ่านภาพเพื่อประเมินว่า พ่อแม่รู้จักบทบาทของตนเองมากน้อยแค่ไหน การเปิดใจบอกเล่าปัญหาในครอบครัว การประเมินความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในแต่ละช่วงวัย กิจกรรมทั้งหมดนี้มาจากการอบรมโดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health Foundation) แต่ทางกลุ่มเพื่อนฯ ได้ปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทในชุมชน โดยขยายผลสู่ 43 ชุมชนในจังหวัดลำปาง มีครอบครัวเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 ครอบครัว โดยมี อสม. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมด้วย
สำหรับผลตอบรับ พรรณศิริเผยว่า เป็นที่น่าพึงพอใจ พ่อแม่ที่เข้าร่วมโครงการเกิดความเข้าใจพฤติกรรมบุตรหลานมากขึ้น เดิมหลายครอบครัวเข้าใจว่า การอบรมเรื่องเพศ หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่หลังเข้าร่วมโครงการเกิดความเข้าใจ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อารมณ์และความรู้สึก ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ความอบอุ่นครอบครัวก็มีเพิ่มมากขึ้น การทำงานตั้งครรภ์มีความสำคัญมาก
รพ.ลำปางหนุนเสริมทำงานในพื้นที่แข็งขัน พรรณศิริบอกว่า รพ.ได้ข้อมูลจากตัวชี้วัดต่างๆ ก่อนหน้านี้ มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กหลังคลอด พบกรณีคุณแม่วัย 14 ปี และคุณพ่อวัย 15 ปี ไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องสภาพจิตใจและฐานะความเป็นอยู่ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในการดูแลทารก โดยให้ลูกดูดขวดนม ทั้งที่อายุไม่ถึง 1 เดือน จนเด็กสำลักนมและเสียชีวิต ถือเป็นบทเรียนที่ต้องรีบเร่งเข้ามาแก้ไข ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับพ่อแม่วัยรุ่น
“การทำงานทั้งหมดต้องอาศัยกำลังจากหลายภาคส่วน ซึ่ง สสส.เข้ามาเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น ผลักดันให้เป็นโมเดลต้นแบบที่ใช้ได้จริง และสามารถลดจำนวนการเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นลง อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดทำงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน” พรรณศิริย้ำโครงการเดินต่อไม่หยุด
ขณะที่ เบญญา เอมาวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน เผยถึงเป้าหมายของกลุ่มเพื่อนฯ ว่า ต้องการผลักดันการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดการเกิดโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ด้วยกระบวนการทำงานแบบขั้นบันได โดยประสานงานกับหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและดึงศักยภาพของแต่ละหน่วยงานออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้แผนกิจกรรรมการสื่อสารเชิงบวกพัฒนาเยาวชน การนำเครื่องมือลงไปสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย พ่อแม่และวัยรุ่น สร้างกิจกรรมหนุนเสริมโรงเรียน พัฒนาครูที่ปรึกษาและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมติดตามประเมินผล เกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
วัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากลอง โดยเฉพาะเรื่องเพศ หากมีการปลูกฝังทัศนคติและบ่มเพาะความรู้ที่ถูกต้อง สอนให้รู้จักการป้องกันด้วยแนวทางที่เป็นมิตรจะช่วยลดช่องว่างกับวัยรุ่น รวมถึงลดจำนวนคุณแม่วัยใสในสังคมได้ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |