19 ส.ค.62 - ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเดินทางมายื่นหนังสือ ต่อผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) เพื่อให้ร่วมหามาตรการในการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองกรณี เอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน
โดยหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 5 ส.ค.62 ได้เกิดเหตุการณ์การข่มขู่คุกคามผม นายเอกชัย อิสระทะ โดยตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ซึ่งได้เดินทางไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค.62 เวลา 13.30 น. ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
โดยถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งขัดขวางห้ามไม่ให้เข้าร่วมเวที พร้อมทั้งทำการยึดโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ และถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย จากนั้นชายกลุ่มดังกล่าวได้บังคับควบคุมตัวผมขึ้นรถยนต์ไปกักขังไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันจึงปล่อยตัวออกมาโดยข่มขู่ห้ามไม่ให้แจ้งความดำเนินคดี และห้ามผมไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองหินนี้อีกต่อไป มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของผมและครอบครัว ซึ่งในขณะนี้ ผมได้ทำการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดสงขลา ขณะนี้ ยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิด
ผมและครอบครัวอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่าการคุกคามจะลุกลามต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีการดำเนินการข่มขู่เพื่อกดดันให้ผมและเครือข่ายองค์กรฯ ยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน(เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ดังกล่าว ทั้งนี้อย่างที่ท่านทราบว่าในพื้นที่ภาคใต้นั้นกรณีการลักลอบสังหารและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการอิทธิพลที่ยากที่จะมีกระบวนการยุติธรรมจะสามารถเอาผิดกับใครได้
จึงขอเรียนมาทางท่านเพื่อขอให้ท่านประสานงานอย่างเร่งด่วนโดย 1.ขอให้ท่านร่วมหามาตรการในการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนรวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครอง เช่น ขอให้ท่านประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าการไปให้ปากคำ ชี้ตัวผู้ผู้ถูกกล่าวหาและกระบวนการชั้นตำรวจ อัยการ และศาล จะมีการคำนึงถึงความปลอดภัย และขอให้ท่านติดตามอย่างต่อเนื่องในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำผิดไม่ลอยนวลพ้นผิดและถูกนำตัวมาลงโทษ
2.ขอให้ท่านประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง หามาตรการในการคุ้มครองกระผมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆในพื้นที่ 3.ขอให้ท่านประสานงานกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้ผมเข้าถึงการคุ้มครองต่างๆ เช่น การคุ้มครองพยานที่ผมสามารถร่วมออกแบบเพื่อความปลอดภัยของผมและครอบครัว และหามาตรการในการคุ้มครองกระผม ครอบครัวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆในพื้นที่
4.ขอให้ท่านประสานงานกับสถานทูตต่างๆ เพื่อร่วมหามาตรการในการคุ้มครองกระผม ครอบครัวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆในพื้นที่ 5.ขอให้ท่านประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมหามาตรการในการคุ้มครองกระผม ครอบครัวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆในพื้นที่
ด้านนายประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน(ประธาน กป.อพช.ชาติ) ระบุว่า การดำเนินคดีของนายเอกชัย ไม่มีความชัดเจนแม้จะออกหมายจับไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำมาลงโทษได้ แม้มีหลักฐานชัดเจน ว่าเป็นใคร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ คนที่อุ้มนายเอกชัย ข่มขู่คุกคามมาไว้ที่รีสอร์ต วันนี้เครือข่ายเลยต้องมาที่ยูเอ็นเพราะต้องการให้ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นรับทราบปัญหานี้และให้ติดตาม ว่ามีกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะแค่กรณีของนายเอกชัยคนเดียว แต่กรณีนายเอกชัย สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนมาก มีทั้งหลักฐาน พยานเหตุเกิดขึ้นอย่างอุกอาจมากในตอนกลางวันแต่ก็ตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ ก็หมายความว่า กลไกของรัฐล้มเหลว เป็นอันตรายต่อนายเอกชัยได้
นายประยงค์ ระบุด้วยว่า จึงขอให้ยูเอ็นได้ติดตามและกำกับเรื่องนี้ อย่างเป็นรูปธรรมและเสนอกับรัฐบาลให้มีการปกป้องคุ้มครองสิทธินักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิทั้งหมดในประเทศไทยมิใช่แค่นายเอกชัย และสิ่งสำคัญคือ ในเรื่องการปกป้องสิทธิ มีแนวโน้มรัฐยกระดับมากขึ้น ผ่านตัวกฎหมาย กว่า500 ที่ฉบับเปิดทางให้ทุน ให้อำนาจรัฐในการปกป้องทุน โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและมีการลุกขึ้นต่อสู้ การเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิก็อาจจะถูกคุกคาม เช่น โครงการเหมืองแร่ทองคำ ในภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล โดยมีกฎหมายแร่เปิดโอกาสตัดสินใจอนุมัติโครงการได้อย่างง่ายดาย หรือเกิดเหตุทุกตารางนิ้วในประเทศไทย นายกฯ ประยุทธ์ ระบุว่าจะดูแลให้ ดูอย่างไร เพราะขนาดว่านายกฯได้ระบุถึงขนาดนี้ แต่ กลไกอำนาจรัฐต่างๆก็ยังไม่ขยับ ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ ยังไม่สามารถทำอะไรได้ จึงขอฝากนายกฯ และ สตช. ช่วยดูแลปัญหานี้เร่งด่วน รวดเร็ว เพราะมันจะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีความจริงใจกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ด้านนายบรรจง นะแส ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการใช้รูปแบบเดียวกันทั้งหมดของเจ้าของโครงการที่แทนที่จะทำตามระบบ ตามขั้นตอน แต่ประสบการณ์ที่พบเจอนั้นคือ เจ้าของโครงการรับเหมาโดยใช้อิทธิพลท้องถิ่นเกือบทุกพื้นที่ จัดการคนที่ไม่เห็นด้วย นี้คือปรากฎการณ์สังคมด้อยพัฒนา ที่การสร้างธรรมาภิบาลไม่ได้เดินไปข้างหน้าได้อย่างโปร่งใส รับฟังความคิดเห็น ตรงไปตรงมา และมีธรรมาภิบาล ภายใต้การใช้กฎหมาย กลไกที่มีอยู่ แต่กลับกลายเป็นรัฐอยู่ฝ่ายทุนตลอด และจะอันตรายหากประชาชนไม่เชื่อในกลไกรัฐอีก เพราะใช้วิธีการที่ไม่โปร่งใส ชาวบ้านเขามีสมอง เขาไม่เชื่อมั่น เชื่อถือและท้ายที่สุดเขาก็จะเลือกใช้วิธีการแบบเขา รัฐบาลชุดนี้มาจากกลุ่มทุนเป็นส่วนใหญ่ เราทุกคนรู้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่กรณีของนายเอกชัย มีกลุ่มอิทธิพลกลุ่มไหน ขึ้นกับนักการเมืองพรรคไหน พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องปราม หรือเอาจริงกับพฤติกรรมในลักษณะนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |