ติงดึงปมถวายสัตย์ฯ โพล75%ชี้ไม่บังควร/ญัตติส่อเลื่อนไปก.ย./ฝ่ายค้านบี้หนัก


เพิ่มเพื่อน    

  ซูเปอร์โพลระบุ ปชช.ส่วนใหญ่ชี้ไม่บังควรที่ฝ่ายการเมืองนำปมถวายสัตย์ฯ มาโจมตีกัน เผยมีความสุขเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียว แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ รองประธานสภาฯ เผยอาจบรรจุญัตติซักฟอกไม่ทันเดือน ส.ค. เหตุมีประชุมรัฐสภาอาเซียน 25-30 ส.ค.นี้ ประวิปรัฐบาลสั่งห้าม ส.ส.ลงพื้นที่วันประชุมสภาหลังแพ้โหวต 2 ครั้งซ้อน ฝ่ายค้านรุมจวก "เนติบริกร" ยกกรณี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์เทียบปมนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบไม่ได้ ย้ำนายกฯ เป็นเรื่องมิบังควร-ทำผิด รธน. ลั่นต้องมาตอบสภาด้วยตนเอง หากไม่มาไม่จบแน่   

    เมื่อวันอาทิตย์ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ปมถวายสัตย์ฯ ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,102 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-17 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.3 ระบุเป็นการไม่บังควร ถึงไม่บังควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายการเมืองนำปมถวายสัตย์ฯ มาโจมตีกันในเวลานี้ ในขณะที่ร้อยละ 24.7 ระบุเป็นเรื่องที่นำมาโจมตีกันได้ 
    ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี สร้างผลงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนมีความเหมาะสมอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างผลงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุมีคนอื่นเหมาะสมกว่า
    เมื่อถามถึงความสุขของประชาชนที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า คนไทยมีความสุขอยู่ที่ 9.12 เมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ เมื่อถามถึงความภูมิใจในความเป็นคนไทย สำนึกรู้คุณแผ่นดินไทยของประชาชน พบว่า คนไทยมีความภูมิใจในความเป็นคนไทย สำนึกรู้คุณแผ่นดินไทย อยู่ที่ร้อยละ 9.78 คะแนน 
    นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติที่ฝ่ายค้านเข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำ ครม.กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนว่า อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องรายชื่อของฝ่ายค้านว่าครบถ้วนหรือซ้ำซ้อนกันหรือไม่  ซึ่งในวันที่ 19 ส.ค. เจ้าหน้าที่จะประชุมเพื่อวิเคราะห์ญัตติว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นจะส่งเรื่องให้ตนพิจารณา คาดว่าภายในวันที่ 21 ส.ค.น่าจะรู้ผลว่าจะบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมได้หรือไม่  แต่จะเปิดอภิปรายได้วันใด ต้องสอบถามความพร้อมจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลด้วย เพื่อให้มีความพร้อมตรงกัน  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปิดอภิปรายทั่วไปได้ภายในเดือน ส.ค.หรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะการเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาว่าจะอนุโลมให้ใช้หลักเกณฑ์ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปี 2551 ได้ หรือต้องรอร่างข้อบังคับการประชุมสภาฉบับใหม่เสร็จก่อน ขณะเดียวกันช่วงระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค. จะมีการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่ กทม. ซึ่งประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาต้องไปช่วยรับแขกต่างประเทศ และร่วมประชุมด้วย ดังนั้นหากจะเปิดอภิปรายทั่วไปให้ทันภายในเดือน ส.ค. อาจจะมีปัญหาขลุกขลัก จึงต้องหารือกันอีกครั้ง
     "ถ้าเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไปเกี่ยวข้องด้วย ก็สามารถช่วยชี้แจงได้ แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับตัวนายกฯ โดยตรง ตัวนายกฯ ก็ต้องชี้แจงเป็นหลัก นายกฯ ควรมาชี้แจงเอง เพราะดูแล้วไม่น่าจะยืดเยื้อ ชี้แจงเพียงวันเดียวน่าจะเสร็จ คงไม่ได้อภิปรายยืดเยื้อ 2-3 วันตามที่ฝ่ายค้านระบุ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านจะไปตกลงเรื่องระยะเวลาการเปิดอภิปรายด้วย" นายศุภชัยกล่าว
ห้ามสส.ลงพื้นที่พุธ-พฤหัสฯ
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านยื่นญัญัตติดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าประธานสภาฯ ได้บรรจุระเบียบวาระแล้วหรือไม่ หากบรรจุในระเบียบวาระแล้ว วิปรัฐบาลจะมาดูว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เช่น ฝ่ายรัฐบาลจะตอบข้อซักถามได้มากน้อยเพียงใด โดยวันที่ 19 ส.ค.นี้ วิปรัฐบาลจะหารือกันในเบื้องต้น ก่อนจะพูดคุยกันต่อในวันที่ 20 ส.ค.นี้ สำหรับการอภิปรายตามมาตรา 152 จะไม่มีการลงมติ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลสามารถตอบได้ แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะขึ้นช่วยอภิปรายไม่ได้ เพียงแต่สามารถคัดค้านบางเรื่องได้
    ประธานวิปรัฐบาลกล่าวถึงการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตข้อบังคับการประชุมสภาฯ ถึง 2 ครั้งซ้อน  ด้วยว่า ยอมรับว่า ส.ส.บางส่วนติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมโหวตได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นประเด็นหลัก เพราะการโหวตข้อบังคับนั้น มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ลงให้ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงให้ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่มีผลอะไร ไม่เหมือนกับการโหวตกฎหมายที่จะเป็นตัวชี้วัดเสียงของรัฐบาลและฝ่ายค้านจริงๆ และวิปเองก็ไม่ได้เน้นว่าจะต้องโหวตเหมือนกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้ขอร้อง ส.ส.ทุกคนว่าพยายามอย่าลงพื้นที่ในวันพุธและพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประชุมสภาฯ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ส.ส.พรรค พปชร.และขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลได้ทราบถึงปัญหาแล้ว เชื่อว่าจากนี้จะดีขึ้น เพราะช่วงแรกๆ เราไม่ได้กวดขันเท่าที่ควร
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยส่วนตัวในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมีการหารือร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเข้าประชุมและกระตือรือร้นในการลงมติ การที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนั้นแพ้โหวต ก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาในเรื่องที่ได้มีการเสนอในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่การประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนจะต้องตื่นตัว และเตรียมพร้อมในการลงมติอย่างมาก สำหรับพรรคชาติพัฒนา ทุกคนพร้อมที่จะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้การประชุมสภาเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับ
     นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มีสิทธิเข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐธรรมนูญปี 60 อาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีหลายเรื่องที่ก้าวหน้า เช่น กรณีให้ส.ส.ยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ และรัฐบาลต้องกำหนดที่มาของงบประมาณในการแถลงนโยบาย ซึ่งฝ่ายค้านได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานี้อย่างเต็มที่ จึงอยากให้ฝ่ายค้านทบทวนแนวคิดที่จะรณรงค์นอกสภาเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ควรแก้ไขเฉพาะในประเด็นที่เป็นปัญหา อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ว.และ ส.ส.โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพื่อให้ได้ฉันทามติจากประชาชนโดยไม่นำมาเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีกลุ่มและขบวนการที่รอจังหวะพร้อมนำเรื่องนี้ไปขยายผลปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต
นายกฯ ต้องมาตอบเอง
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าไม่ได้กลัวสภา ตนเห็นด้วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวทีสภาแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล ที่มาของ พล.อ.ประยุทธ์ในตอนนี้เป็นการโหวตของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่จากการโหวตของ สนช.หรือ คสช.แต่งตั้ง ฉะนั้นต้องให้เกียรติกับที่ประชุมสภา ซึ่งมาจากตัวแทนของประชาชน ควรมาตอบกระทู้ถามด้วยตนเองทุกครั้ง เหมือนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนเป็นนายกฯ มาตอบกระทู้ด้วยตัวเองมากที่สุด 53 กระทู้ มากกว่านายกฯ ทุกคน แต่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง นายทักษิณหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มาตอบกระทู้ด้วยตัวเองน้อยมาก จึงสนับสนุนและให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในการตอบข้อสงสัยของฝ่ายค้านในที่ประชุมสภา เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถรับมือกับการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีองครักษ์
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หลังจาก ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งฝ่ายค้านไม่ได้เตรียมตัวเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะมีข้อมูลปรากฏครบถ้วนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ประเมินว่าการอภิปรายตามมาตรา 152 ควรใช้เวลา 2 วันเป็นอย่างต่ำ แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องตอบเองก็ได้นั้น คงต้องถามกลับไปถึงสปิริตความรับผิดชอบและการให้ความสำคัญต่อรัฐสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการถวายสัตย์ฯ นั้น ไม่เหมือนเรื่องอื่น จึงไม่สามารถเทียบกับประเด็นต่างๆ ได้ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการบังควรหรือมิบังควร ซึ่งการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นความผิดพลาดหรือจงใจ พล.อ.ประยุทธ์ล้วนรู้ดีที่สุด จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะให้คนอื่นมาตอบแทน หากไม่มาตอบด้วยตัวเอง เรื่องนี้ก็คงไม่จบ และยังจะส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศผิดหวังด้วย และท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ 1.ไม่ยอมรับผิด 2.ไม่ยอมรับผิดชอบ 3.ผลักภาระให้คนอื่น 
    ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า การอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป้าประสงค์ของฝ่ายค้านไม่ได้มุ่งหวังจะล้มรัฐบาล เพียงแค่เห็นว่าไม่สามารถปล่อยการกระทำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญให้ผ่านไปได้ ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้านก็คงทำแบบเดียวกัน เพราะถือเป็นทั้งบรรทัดฐานทางกฎหมาย ประเพณีปฏิบัติ ฯลฯ จึงอยู่ที่สำนึกของคนเป็นนายกฯ ว่าจะพอมีจริยธรรมหรือไม่ 
    "ที่นายวิษณุอ้างว่าสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ไปตอบข้อซักถามกรณีโฟร์ซีซั่นส์ ต้องบอกว่ากรณีโฟร์ซีซั่นส์กับการถวายสัตย์ฯ ไม่สามารถเทียบกันได้ เพราะโฟร์ซีซั่นส์เป็นเรื่องจุกจิกเล็กน้อยและเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเลย แต่การถวายสัตย์ฯ นั้น หมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นเรื่องมิบังควร เราน้อมรับ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมาอย่างไร แต่คำวินิจฉัยศาลไม่เกี่ยวกับสำนึกทางจริยธรรม เพราะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย กับเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มันคนละเรื่อง” นายสุทินกล่าว
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่ตกผลึกและไม่มีเอกภาพทางความคิดที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนอย่างไร การให้ความเห็นแต่ละส่วนย้อนแย้งไปกันคนละทิศคนละทาง โอกาสปล่อยลอยแพ พล.อ.ประยุทธ์ให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพังสูงมาก เพราะเรื่องนี้แม้อยากจะช่วยก็ช่วยยาก ทำได้เต็มที่เพียงแค่การตั้งองครักษ์ลุกขึ้นประท้วง เรื่องนี้ไม่ใช่เกมการเมืองโค่นล้มรัฐบาล แต่เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้รัฐบาลทำงานต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ได้กลับไปแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง หากในอนาคตเกิดปัญหาขึ้นมาการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาอาจเป็นโมฆะ ประเทศชาติ และประชาชนจะเสียโอกาส
รุมถล่ม"เนติบริกร"
     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถให้รัฐมนตรีคนอื่นช่วยชี้แจงแทนได้ว่า เท่าที่ดูเชื่อว่านายกฯ คงพูดเพียงเล็กน้อย แล้วให้รัฐมนตรีคนอื่นชี้แจงแทนต่อไป เพราะนายวิษณุหาทางลงให้แล้ว ซึ่งฝ่ายค้านไม่ติดใจหากจะใช้วิธีนี้ แต่การชี้แจงแทนต้องครอบคลุมเนื้อหา และตอบข้อสงสัยให้สังคมหายคลุมเครือ ส่วนที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยเลี่ยงมาตอบกระทู้กรณีโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องการตั้งกระทู้ถาม ซึ่งนายกฯ หรือ ครม.ไม่มาชี้แจงได้ถ้ามีเหตุผล เป็นคนละกรณีกับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป
    น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า นายวิษณุจะเทียบเคียงเรื่องใด ต้องนำเรื่องราวแบบเดียวกันมาเทียบเคียง ภูมิหลังของเรื่องแตกต่างกันนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ คือการถูก ส.ส.ปชป.ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหมิ่นประมาทด้วยข่าวลวง ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 3 อดีต ส.ส.ของ ปชป. พอถึงชั้นศาลฎีกา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยอมถอนฟ้องเพราะมีเมตตา เป็นคนละเรื่องกับกรณีกับกระทู้ถามสดการถวายสัตย์ฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่ากระทำผิดพลาดขัดรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้นำประเทศ เมื่อผิดพลาดก็ต้องไปชี้แจงสภา เพื่อให้สภาและประชาชนนำไปใช้รับทราบว่าจะแก้ไขเช่นใด 
    นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากนายกฯ มาตอบว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องด้วยวิธีการใดก็ตาม เราก็พร้อมถอนญัตติออก หากในวันพุธที่ 21 ส.ค. นายกฯ ยังไม่มาตอบ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะเดินหน้าต่อ ถ้าไม่ถอนญัตติ และให้มีการอภิปรายต่อไป ขอบเขตของการอภิปรายจะกว้างกว่าแค่เรื่องถวายสัตย์ฯ เพราะมีข้อกำหนดไว้ว่า ในการอภิปรายทั่วไป ฝ่ายค้านสามารถพูดถึงข้อบกพร่องของนายกฯ หรือ ครม.ได้ ดังนั้นทางที่ดีคือนายกฯ ควรมาตอบและปฏิบัติให้ครบถ้วน เพราะฝ่ายค้านก็ไม่ได้อยากอภิปรายเรื่องนี้
    เมื่อถามถึงกรณีนายวิษณุระบุหาก พล.อ.ประยุทธ์ว่างจากภารกิจก็คงไปตอบสภา นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสภา วันที่มีการประชุมสภา รัฐบาลต้องมาอยู่สภา เพราะสภาคือที่รวมของประชาชนทั่วประเทศ ปัญหาทั้งหมดถูกรวมไว้ที่นี่ รัฐบาลจะบอกว่าติดภารกิจหรือนัดอื่นไม่ได้ เพราะโดยธรรมเนียมปฏิบัติทั่วโลก ถ้าจะมีนัดกับใคร เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ก็ให้มาพบที่สภา ซึ่งสามารถจัดห้องไว้ให้นายกฯ รับแขกได้ ไม่ใช่ว่าวันประชุมสภาแต่ไปนัดที่อื่น อาจถือว่าเป็นการจงใจเลี่ยงได้ ซึ่งภารกิจเดียวเท่านั้นที่ถือว่ามีความจำเป็น และสภายอมได้ คือการเข้าเฝ้าฯ เพราะนั่นคือหมายกำหนดการ
    "การจะให้ใครมาตอบนั้นขึ้นอยู่กับประเด็นที่ฝ่ายค้านถาม ถ้าฝ่ายค้านถามเรื่องที่ว่าทำไมนายกฯ กล่าวปฏิญาณไม่ครบ คนอื่นจะมาตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นการถามเจาะจงตัว และการปฏิบัติก็เป็นเรื่องของนายกฯ คนอื่นจะมาตอบแทนนายกฯ ได้อย่างไร เพราะเขาไม่ได้เป็นคนอ่าน และถ้านายกฯ ไม่มาตอบ ฝ่ายค้านอาจบอกว่าไม่ต้องการฟังรัฐมนตรี เพราะมันเป็นประเด็นของนายกฯ" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
อนค.เดินสายปลุกรื้อรธน.
     ที่ร้านกาแฟ Noob coffee roaster อ.เมืองฯ จ.เลย น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค. นำคณะทำงาน อนค.จังหวัดเลย จัดกิจกรรม "สร้างฝันวันใหม่ อนาคตใหม่จังหวัดเลย" เพื่อเสวนาถึงปัญหาในพื้นที่และร่วมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญในแคมเปญ "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่" ที่ทาง อนค.เปิดแคมเปญมาตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา 
    น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกเขียนไว้ไม่ให้สามารถแก้ไขได้ในรัฐสภาโดยง่าย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ และไม่ยึดโยงกับประชาชน เราจึงต้องการรัฐธรรมนูญที่รับใช้ประชาชนโดยแท้จริง เพื่อหาข้อตกลงการอยู่ร่วมกันในสังคม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นเหมือนระเบิดเวลา ทำให้สังคมไทยขัดแย้งกันมากขึ้น เราจึงจะต้องหยุดระเบิดเวลาอันนี้ก่อนที่มันจะระเบิด  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกของกิจกรรม พรรค อนค.เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคร่วมโหวตปัญหาในท้องถิ่นจังหวัดเลย และปัญหาที่สมาชิกโหวตมากที่สุด คือ 1.ปัญหาพืชผลทางการเกษตร 2.ปัญหาระบบสาธารณูปการ ไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน 3.ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยทีมจังหวัดจะส่งเรื่องถึงส่วนกลางและพรรคอนาคตใหม่จะผลักดันตั้งกระทู้ถามในสภาเพื่อแก้ไขและพัฒนาปัญหาท้องถิ่นในจังหวัดเลยต่อ
          ที่ร้านกาแฟพีซคอฟฟี่ แอนด์ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัดกิจกรรมต่อลมหายใจ พีซทีวี โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า กรณีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันเดินหน้า เพื่อให้เกิด ส.ส.ร. โดยจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เพื่อเปิดประตูให้มีการแก้ไขให้ง่ายขึ้น วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ยาก เนื่องจากผูกพันกับ ส.ว. จะให้ ส.ว.มาร่วมโหวตให้ตัวเองเสียประโยชน์ได้อย่างไร และจะเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ยาวไปอีก วันนี้ถ้าพรรคการเมืองไม่ร่วมมือกับภาคประชาชน แล้วให้ภาคประชาชนเป็นผู้นำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีทางสำเร็จ ต้องให้ภาคประชาชนเป็นผู้นำ สร้างกระแสให้ได้เหมือนกระแสธงเขียวในช่วงก่อนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้น ความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นไปได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"