นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ว่า "เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา"
ความจริงท่านต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมี "ปัญหามาก" และต้องลงมือแก้ไขกันอย่างหนักหน่วงและรุนแรง
เพียงแค่ตั้งคณะทำงานพิเศษหรือ War Room อาจจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น
การจะตั้งรับวิกฤติเศรษฐกิจที่มีปัจจัยจากนอกประเทศหลายเรื่องหนักๆ นั้น จะต้องใช้ทั้งวิสัยทัศน์ ความกล้าหาญทางการเมือง ความพร้อมเพรียงและทุ่มเทของคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
เพียงแค่มาตรการกระตุ้นระยะสั้นที่เห็นนั้นไม่น่าจะสามารถสกัดพายุร้ายจากหลายทิศทางพร้อมๆ กันได้ จะบอกว่ามาตรการที่ออกมา "น้อยไป ช้าไป" ก็ไม่ผิด
จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังและกล้าคิดนอกกรอบ ต้องกล้าตัดอะไรที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อย กล้าเพิ่มอะไรที่ต้องเพิ่ม และแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็วและทันการณ์
เพียงแค่เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก หรือส่งคณะจากบีโอไอไปประเทศจีนก็คงจะเป็นเพียงการทำให้ดูเหมือนมีความเคลื่อนไหวเท่านั้น
แต่เราจะหวังให้คณะทูตพาณิชย์หรือคณะบีโอไอสร้างภูมิต้านทานกับวิกฤติระดับโลกนี้ไม่ได้เลย
วันเดียวกันนั้น คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปมอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมว่ารัฐบาลได้เน้นส่งเสริมด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเป็นสินค้าเกษตรระดับพรีเมียม นำไปสู่การแปรรูป แทนการขายสินค้าเกษตรแบบเดิม เช่น การส่งเสริมนำผลแปรรูปเบื้องต้นจากข้าว ผลไม้ สมุนไพร นำไปผลิตครีม เครื่องสำอาง อาหารบำรุงร่างกาย เพื่อส่งต่ออุตสาหกรรม
คุณสมคิดย้ำว่าทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ เอสเอ็มอีแบงก์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมมือกัน จัดสรรงบประมาณส่งเสริมเกษตรแปรรูปซึ่งนับเป็นเรื่องเร่งด่วน
รองนายกฯ ตอกย้ำว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานในสังกัดต้องช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับผลกระทบที่กำลังกระจายเข้ามาโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนนี้ เพื่อให้มีทุนช่วยให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ท่านยังสั่งการให้ดูแลเรื่องการย้ายฐานการผลิตของเอกชนหนีออกจากประเทศจีน ไทยต้องใช้โอกาสนี้ต้อนรับนักลงทุน ไม่เช่นนั้นเวียดนามจะแย่งไปแทน จึงสั่งการให้บีโอไอดึงดูดการลงทุน
คุณสมคิดบอกว่าต้องการให้การนิคมฯ พัฒนานิคมอุตสาหกรรม รองรับความต้องการของเอสเอ็มอี เพราะเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งกับเอกชนรายใหญ่ได้ ในการเข้าไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรมปัจจุบัน รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
คุณสมคิดยอมรับว่าขณะนี้เวียดนามได้พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างมาก และข่าวคราวทั้งหลายก็ยืนยันตรงกันว่า ในช่วงหลังหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนเลือกเวียดนามมากกว่าเลือกประเทศไทยแล้ว
ความจริงข้อนี้เป็นที่ตระหนักในกระทรวง ทบวง กรมแค่ไหนไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือเอกชนที่เกาะติดข่าวคราวเรื่องการลงทุนต่างชาติได้เห็นสัญญาณเรื่องเวียดนามแซงหน้าไทยแล้วอย่างชัดเจน และได้มีการเตือนกันมาระยะหนึ่งแล้ว
แต่ดูเหมือนว่า "ความตระหนัก" อย่างเดียวไม่พอ เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ มีปัญหาเรื่องความเอื่อยเฉื่อยและ "ทองไม่รู้ร้อน" อยู่อย่างกว้างขวางทั่วไปในระบบการเมืองและระบบราชการ
แต่เมื่อพายุแห่งสงครามการค้า สงครามค่าเงิน สงครามไฮเทค และสงครามจิตวิทยาระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับสี จิ้นผิงยังดำเนินไปอย่างร้อนแรงและยืดเยื้อ ไทยเราหากจะรอดปากเหยี่ยวปากกาได้จะต้องปราดเปรียว ตื่นตัว กระตือรือร้น และลุกขึ้นปรับแก้ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค
วันนี้ได้ยินได้ฟังแต่เสียงและลีลาว่ากำลังพยายามตามความเคลื่อนไหวระดับโลกให้ทัน แต่ฟังแล้วเหมือนจะได้ยินแต่เสียงลม ยังไม่เห็นแสงสว่างและพลังแรงการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง
ศึกเศรษฐกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงจริงๆ ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |