สลดทั้งประเทศ! "มาเรียม" เสียชีวิตเพราะน้ำมือมนุษย์ ชันสูตรพบขยะพลาสติกขวางลำไส้ มีการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดเป็นหนอง ลุกลามจนเกิดการช็อกและตายในที่สุด "วราวุธ" พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปลุกกระแสอนุรักษ์ "มาเรียมโปรเจ็กต์" "ธรณ์" วอนอย่าให้การจากไปของมาเรียมสูญเปล่า เร่งมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยคลิปนาทีชีวิตมาเรียม ทีมแพทย์พยายามยื้อชีวิตแต่ไม่สำเร็จ พร้อมระบุข้อความว่า สุดยื้อ คลิปปฏิบัติการช่วยเหลือ "มาเรียม" ก่อนจากไป สร้างความเสียใจแก่ จนท.เขตฯ ลิบงและทีมสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เวลาประมาณ 23.00 น. "น้องมาเรียม" ได้เกิดอาการช็อก ทีมสัตวแพทย์จึงเร่งเข้าทำการช่วยเหลืออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง กระทั่งเวลา 00.09 น. ของวันที่ 17 ส.ค. มาเรียนก็ได้จากไปอย่างสงบ สร้างความเศร้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับรายงานผลการชันสูตรการผ่าพิสูจน์จากทีมสัตวแพทย์ถึงสาเหตุการตายของลูกพะยูนมาเรียม พบมาจากการช็อก และพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดเป็นหนอง ซึ่งระบบทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามจนเกิดการช็อกและตายในที่สุด
เขากล่าวว่า ยังสรุปไม่ได้ว่าขยะพลาสติกที่พบในท้องมาเรียมก่อนเกยตื้นหรือช่วงที่อนุบาลบริเวณเกาะลิบง รวมทั้งยังพบมีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านในอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น ถูกพะยูนตัวใหญ่พุ่งชนหรือชนหินขณะเกยตื้น ซึ่งการอนุรักษ์ให้สัตว์ทะเลหายากอยู่ด้วยกัน ต่อไปทุกคนต้องช่วยกันเรื่องขยะทะเล
"ยอมรับว่าเสียดายและเสียใจที่มาเรียมตาย เพราะเจ้าหน้าที่และทีมงานทุกคนต่างพยายามอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันแรกที่ได้มาเรียมมาดูแล"
นายจตุพรเล่าว่า ทีมสัตวแพทย์พบมาเรียมหยุดหายใจ และไม่เจอชีพจร จึงรีบนำขึ้นจากน้ำ รอบแรกกระตุ้นหายใจ พบมีการตอบสนอง โดยตายังตอบสนอง จึงเอาลงบ่อ จากนั้นตรวจชีพจรซ้ำ แต่ไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิตและเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ 2 จนกระทั่งเวลา 00.09 น. มาเรียมได้ตายลงอย่างสงบบริเวณบ่อพักชั่วคราว
มาเรียมทูตสันถวไมตรี
"มาเรียมเปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรี ช่วยให้มนุษย์มีโอกาสใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญให้เกิดการจัดการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลอันที่เป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศที่เหลืออยู่อย่างเข้มแข็งและจริงจัง เพื่อให้ชุมชนและสัตว์ทะเลหายากได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไป" อธิบดี ชท.กล่าว
ช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลงข่าวที่กระทรวงว่า แม้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการให้นมกับมาเรียม เพราะต้องใช้ความอดทน และความพยายามจากเจ้าหน้าที่ ร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วน แต่สุดท้ายกลับต้องสูญเสียเพียงเพราะเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ราวกับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ถึงเวลาแล้วที่การสูญเสียของมาเรียมจะต้องจุดกระแสการกำจัดขยะทะเล เพื่อให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง สิ่งง่ายๆ แต่ไม่ทำกันผลสุดท้ายเป็นเช่นไร
รมว.ทรัพย์กล่าวว่า วันนี้พะยูนน้อยมาเรียมที่รักราวกับลูกหลานของเราจากไปแล้ว คำถามที่สื่ออยากรู้คือ ทางการจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดขยะขึ้น คิดว่าคำถามเหล่านี้ไม่ใช่คำถามที่จะมาถามทางราชการ แต่ควรย้อนกลับไปถามพี่น้องประชาชนเอง ท่านมีโครงการอะไร ท่านจะทำอะไรเพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก
นายวราวุธกล่าวว่า พวกเรามีปรารถนาอย่างแรงกล้าในหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ เหมือนปรบมือข้างเดียวแล้วไม่ดัง เพราะหนึ่งคนเก็บ และร้อยคนทิ้ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องหันมาเอาใจใส่เรื่องการใช้พลาสติก มาเรียมยังคงเป็นตัวแทนของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จะทำให้คนนั้นได้สำนึกว่าขยะนั้นอันตรายแค่ไหน แม้วันนี้จะจากไปแล้ว แต่ชื่อของน้องยังอยู่
"จากนี้ไปชื่อของมาเรียมเราจะใช้เป็นมาเรียมโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในน้ำ ทางทะเล ผืนป่า เพื่อลูกหลานของเราทุกคน ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาเปิดดูรูปพะยูนจากอินเทอร์เน็ต เพราะตัวจริงไม่มีแล้ว" รมว.ทรัพย์กล่าว
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ทีมสัตว์แพทย์ที่ทำการดูแลปฐมพยาบาลมาเรียม กล่าวว่า พลาสติกที่อยู่ในลำไส้เล็ก อัดอยู่ช่วงรอยต่อระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้อัดแน่น จนกระทั่งแพ็กกันเป็นก้อนใหญ่ในขณะที่มาเรียมมีปัญหาเป็นหนองในปอดด้วย ทำให้เกิดสภาพขาดน้ำอย่างหนัก สิ่งที่อยู่ในลำไส้ก็จะแห้งและทำให้เป็นก้อน จึงเกิดการอุดตันและระบายไม่ได้ รวมถึงการสะสมของแก๊ส ทำให้มีอาการปวดท้องเกิดอาการช็อกและหัวใจวาย
"คาดว่ามาเรียมเริ่มกินพลาสติกไม่นาน แต่มีอาการในช่วงที่โดนปลาพะยูนตัวผู้ไล่กระแทกจนเป็นรอยช้ำบริเวณท้องมาเรียม จึงทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น"
อย่าให้การตายมาเรียมสูญเปล่า
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริการะบุว่า พลาสติกที่น้องมาเรียมกินเข้าไปเป็นเศษถุงพลาสติกที่เสื่อมสภาพเป็นขุย หรือเส้นเล็กๆ ประมาณ 8-10 เซนติเมตร และมีลักษณะเป็นชิ้น ซึ่งอาจจะเป็นพลาสติกที่ไปค้างอยู่บริเวณที่เป็นหญ้าทะเล
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟชบุ๊กเรื่องการตายของพะยูนน้อยมาเรียม โดยระบุว่า ผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง การจากไปของมาเรียมบอกอะไรเราได้บ้าง เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้
หนึ่ง - นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน
สอง - นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)
สาม - เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด
สี่ - มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันจันทร์ ในแผนมีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งด้านการอนุรักษ์พะยูน จัดการพื้นที่ร่วมกัน มาตรการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนหวังว่า เมื่อทำออกมาแล้ว จะช่วยเพื่อนๆ ของมาเรียมได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแผนใดสามารถทำได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน คือปัญหาจากขยะทะเล แม้แผนพะยูนแห่งชาติจะประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่ในทะเลยังมีขยะ พะยูนทุกชีวิตก็ยังคงเสี่ยงต่อไป
ห้า - ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ใน 10 เดือนแรกของปี 2561 เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตันใน 10 เดือนแรกของปี 2562 เก็บได้ 95.28 ตัน (ปีงบประมาณ) เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พื้นที่เก็บขยะที่เดิม เก็บทุกวัน ข้อมูลนี้จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาเรื่องขยะทะเลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หก - การจากไปของมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ? ความตายของสัตว์ทะเลต่างๆ ในอดีต รวมทั้งวาฬนำร่องที่สงขลา เต่ามะเฟืองที่ระยอง ทำให้เราตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ข้อมูลขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นในอ่าวพังงา แสดงให้เห็นชัดว่า แค่ตระหนักยังไม่พอ แค่เลิกใช้ 2-3 วันจากนั้นก็กลับมาใช้ต่อมันเป็นเพียงกระแสชั่ววูบ
เจ็ด - หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 2565 (ถุงก๊อบแก๊บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ) ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก จะเสนอประเด็นเร่งรัดมาตรการแบนพลาสติกเข้าที่ประชุมแน่นอน
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อย่าให้ "มาเรียม" พะยูนไทยตายฟรีนะคะ ร่วมใจเลิกใช้ถุงพลาสติก รอยยิ้มจากความน่ารักของผู้ที่ได้ติดตามการใช้ชีวิตของ "มาเรียม" คงต้องจางไป หลังทราบข่าวการตายของมาเรียมด้วยสาเหตุมีถุงพลาสติกอุดลำไส้
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ร่วมรณรงค์ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้ถุงผ้า ตะกร้า หรือปิ่นโต เวลาไปซื้อของ ดิฉันอยากให้การตายของมาเรียม เป็นอีกจุดที่สร้างความตระหนักให้กับทุกคนว่า "ทุกชีวิตมีค่า และไม่ควรมีสิ่งมีชีวิตใดต้องตายด้วยความมักง่ายของมนุษย์อีก" ค่ะ
"ร่วมมือกันนะคะ ร่วมกันลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก อย่าให้บทเรียนการตายของเต่าออมสิน มาเรียม เป็นการตายฟรี".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |