"วิษณุ" ยัน "บิ๊กตู่" ต้องไปสภาตอบคำถามปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบสองสามประโยคแล้วให้คนอื่นชี้แจงต่อ เพราะคนที่รู้มีเยอะ ตอกเพื่อไทยหน้าหงาย "ยิ่งลักษณ์" เคยหนีกระทู้ถาม ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ ให้รัฐมนตรีคนอื่นตอบแทน "ศุภชัย" เผยญัตติซักฟอกแบบไม่ลงมตินายกฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนกลั่นกรองของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ "เจ๊หน่อย" ยันไม่มีใครอยากจองล้างจองผลาญ แต่นายกฯ จุดไฟขึ้นมาเอง ด้าน "จาตุรนต์" อาการหนักอ้างต่อให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า "ประยุทธ์" ไม่ผิด ฝ่ายค้านก็ซักฟอกต่อได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะให้ทางเลขาธิการสภาฯ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งเหตุผลที่ไม่มาตอบกระทู้ว่า หากเขาส่งหนังสือถามมา จำเป็นต้องชี้แจง แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าหนังสือมาแล้วหรือยัง และที่ผ่านมาถ้ามีการส่งมา ทางรัฐบาลไม่เคยไม่ตอบ ส่วนกรณีฝ่ายค้านยื่นอภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 นั้น นายกฯ ไม่จำเป็นต้องตอบด้วยตัวเอง อยู่ที่ว่าเขาตั้งคำถามถามใคร เพราะมาตรา 152 ไม่ใช่การถามตัวบุคคล เป็นการถามรัฐบาลเพื่อจะให้รัฐบาลตอบ หากใครเกี่ยวข้องก็ไปตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากถามเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ นายกฯ มอบคนอื่นไปตอบได้หรือไม่ รองนายกฯ แจงว่า ถึงอย่างไรนายกฯ ก็ต้องไปอยู่ดี เพราะเขาถามรัฐบาล นายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ถ้าว่างก็ต้องไป และเชื่อว่าท่านจะไป เพียงแต่ว่านายกฯ อาจจะตอบสองสามประโยค แล้วให้คนอื่นตอบ เพราะคนที่รู้มีเยอะ
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 นั้น เป็นการอภิปรายเฉพาะตัว แต่สามารถให้คนอื่นลุกขึ้นชี้แจงได้ ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง สปก. 4-01 ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ซึ่งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ รู้เรื่องก็ตอบ
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนายกฯ หนีสภา นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหา เพราะถ้านายกฯ ติดภารกิจก็ไปไม่ได้อยู่ดี ในอดีตมีมาตลอด คราวที่แล้ว สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เมื่อมีการถามเรื่องโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ก็ให้คนอื่นไปตอบ พอไปชี้แจงฝ่ายค้านเขาก็ถามคนมาชี้แจงแทนว่าเคยไปโรงแรมดังกล่าวหรือ ซึ่งคนมาชี้แจงไม่เคยไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ จึงถูกฝ่ายค้านถามกลับว่าแล้วมาทำไม
ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตที่รัฐบาลยังไม่มีมติ ครม.เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่างๆ มีแต่การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง เพราะหวั่นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า นโยบายออกมาแล้วตั้งหลายเรื่อง ทั้งภัยแล้ง การรับมือสถานการณ์ฮ่องกง การติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุระเบิดใน กทม. มีการแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว และเรื่องต่างๆ หากเป็นโครงการอะไรต้องสอบถามหน่วยงานต่างๆ ก่อน ซึ่งวันที่ 20 ส.ค.จะมีเรื่องเกี่ยวกับนโยบายออกมามาก เพราะหน่วยงานเริ่มชี้แจงกลับมาแล้ว
นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงกรอบการพิจารณาบรรจุญัตติของ 214 ส.ส.ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ว่า ขณะนี้ญัตติดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณากลั่นกรองของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นญัตติที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามระเบียบของบังคับการประชุม อาทิ มีจำนวนครบถูกต้อง ลายเซ็นชื่อท้ายญัตติของสมาชิกแต่ละคนถูกต้อง รวมถึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะทำความเห็นเสนอมาถึงตน ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องกระทู้และญัตติ โดยในสัปดาห์หน้า อย่างช้าที่สุด วันที่ 20-21 สิงหาคมนี้ ญัตติก็จะถึงมือตน เพื่อวินิจฉัยบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป
เตรียมบรรจุญัตติซักฟอก
“หากญัตติมีองค์ประชุมครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ก็บรรจุได้ทันที แต่หากพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายกฎหมายแล้ว ยังมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์เพื่อไม่ให้มีการติฉินนินทา ก็ต้องปรึกษาหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รวมไปถึงนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ระดมสมองกันเต็มที่ที่สุด แต่ถ้าผลออกมาเป็นญัตติที่ไม่ครบถ้วนจริงๆ ก็ต้องแจ้งเหตุผลกลับไปยัง ส.ส.ฝ่ายค้าน ในฐานะผู้เสนอญัตติให้นำกลับไปแก้ไขต่อไป ส่วนเมื่อบรรจุระเบียบวาระแล้ว จะกำหนดให้วันประชุมได้เมื่อไหร่นั้น ก็ต้องประสานสอบถามไปยังรัฐบาลด้วยว่าจะสะดวกมาชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปได้เมื่อไหร่ โดยสภาจะยึดเอาความพร้อมของทุกฝ่ายประกอบด้วย” นายศุภชัยกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นสิทธิที่ฝ่ายค้านสามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการตรวจสอบปกติตามกระบวนการของรัฐสภา และเป็นเพียงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เราไม่มีปัญหาอะไรถ้าเป็นการทำตามกระบวนการ
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะใช้สิทธิ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกฝ่ายกำลังใช้ช่องทางของสภาแก้ปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชน รวมถึงปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย
"ผมอยากเห็นการเมืองเข้าสู่ระบบ มากกว่าการเมืองนอกระบบ หรือการเมืองบนท้องถนน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"
เขากล่าวว่า การยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ จะเกิดผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือฝ่ายค้านก็จะใช้เวทีที่ประชุมสภาอภิปรายซักถามข้อสงสัยให้จบสิ้นกระบวนความ ดีกว่าการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพราะเป็นการพูดฝ่ายเดียว พูดกันไปกันมาคนละครั้ง คนละเวลา ไม่สามารถหาข้อยุติอะไรได้ ส่วนฝ่ายของนายกรัฐมนตรีก็จะได้ตอบคำถามค้างคาใจของฝ่ายค้านอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อม และการพูดในที่ประชุมสภายังมีเอกสิทธิ์คุ้มครองด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดกับประชาชนทั้งประเทศ
เขากล่าวว่า เพื่อน ส.ส.ทุกคนก็สามารถรับฟังทั้งสองฝ่ายเพื่อสามารถใช้ดุลพินิจว่าฝ่ายใดมีเหตุมีผลที่ดีกว่ากัน ตนสนับสนุนการใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้ปัญหาในทุกด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและเคารพกับการประชุมสภา เพราะ ส.ส.ทุกคนเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง และขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เคารพกติกาในระบอบประชาธิปไตยโดยการใช้เหตุผลแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพื่อหาข้อยุติเพื่อให้บ้านเมืองของเราเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นอีก
ยันนายกฯ ชี้แจงได้
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถชี้แจงได้ตามกลไกระบบรัฐสภา ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาแล้ว ทางที่ดีพรรคฝ่ายค้านน่าจะรอการพิจารณาของกระบวนการตรวจสอบก่อน ดีกว่ามายื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพราะฝ่ายค้านก็ไม่สามารถตัดสินเรื่องนี้ได้ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย และแทนที่รัฐบาลจะได้เอาเวลาไปทำงานให้กับประชาชน แต่กลับต้องมาสาละวนอยู่กับเกมการเมืองในสภาของฝ่ายค้าน
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันแล้วว่ามีขั้นตอนแก้ปัญหาอยู่แล้ว และมีฝ่ายกฎหมายดูแลอยู่ ไม่เข้าใจพรรคฝ่ายค้านที่พยายามเอาเป็นเอาตายกับเรื่องนี้มาก ทั้งที่สุดท้ายแล้วก็ทราบแก่ใจดีว่าจะเป็นอย่างไร
เขาบอกว่า น่าเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำอะไรก็ไม่ถูกใจไปเสียหมดในสายตาฝ่ายค้าน แต่ท่านก็ไม่ท้อถอย ยังคงมุ่งมั่นทำงานให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ต้องเรียกร้อง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ วันนี้สิ่งที่ต้องพูดคือเหตุใดเราต้องพูดถึงการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน และการแถลงนโยบายไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ในเมื่อรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญนี้นายกฯ ผลักดันและร่างขึ้นมาเอง เพื่ออำนวยให้กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกครั้ง แต่กลับไม่ปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเองร่างเองเขียนเอง
ทั้งนี้ การทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากการใช้รัฐธรรมนูญมา 2-3 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ในอดีตเป็นหัวหน้า คสช. มีมาตรา 44 ที่ใช้ยกเว้นมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญได้ เดินตามเส้นทางของประชาธิปไตย และไม่มี ม.44 แต่ยังทำผิดรัฐธรรมนูญได้
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การกระทำดังกล่าวเหมือนกลัดกระดุม ถ้าเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปก็ผิดหมด ซึ่งการเสนอครั้งนี้ให้เคลียร์ปัญหา เป็นความหวังดีของฝ่ายค้าน เพราะกลัวว่าการทำงานของรัฐบาลจะเป็นโมฆะ หากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา เช่นการอนุมัติงบประมาณ 5 หมื่นล้านไปช่วยเกษตรกร หากเกิดมีคนไม่เห็นด้วย และมีการร้องเรียนว่าโครงการนี้ถูกการอนุมัติจาก ครม.ไม่มีความสมบูรณ์ ตามกฎหมาย
และหากในอนาคตศาลตัดสินว่าผิดรัฐธรรมนูญจริง เมื่อเงินแจกลงไปถึงพื้นที่แล้วจะไม่สามารถเอาคืนได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านหวังดี เมื่อรู้ว่าตนเองทำผิดและสารภาพว่าตนเองทำผิดก็ควรจะแก้ไขด้วยตนเอง แต่กลับปล่อยเวลามาเป็นเดือนไม่ทำอะไรเลย และจะบริหารงานต่อทั้งที่กระดุมเม็ดอื่นยังผิดอยู่ ซึ่งการแก้ไขจะเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา เสียโอกาสชาวบ้าน
ไม่มีเจตนาทำร้ายนายกฯ
“เราเปิดการอภิปรายทั่วไปไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายนายกฯ เพียงแต่คิดว่าเมื่อนายกฯ ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ก็เอาเข้าสภา ให้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ นายกฯ คิดอย่างไร สภามีความเห็นอย่างไรก็ปรึกษากัน ให้ถูกต้อง และจะได้แก้ในสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าพยายามพูดว่าเหมือนจะจองล้างจองผลาญไม่จบ ซึ่งไม่มีใครอยากจองล้างจองผลาญ แต่สิ่งที่ทำเป็นไฟที่ตัวนายกฯ จุดขึ้นมาเอง และก็เผาไหม้ตัวเอง พรรคฝ่ายค้านก็เพียงแค่จะไปช่วยดับให้ จะได้มาช่วยทำงานให้กับประชาชน ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นอย่ากลัวสภา นายกฯ ต้องไปทำความเข้าใจกับระบอบประชาธิปไตย และการทำงานในระบบรัฐสภาใหม่ นายกฯ จะกลัวการเข้าสภาเหมือนเด็กกลัวเข้าบ้านผีสิงอย่างที่สื่อมวลชนเขียนไม่ได้”
เมื่อถามว่า นายกฯ ย้ำว่าจำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน คุณหญิงสุดารัตน์ตอบว่า เรื่องดังกล่าวมีระบบอยู่แล้ว ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำไป ทางสภาก็ดำเนินการไป รัฐธรรมนูญที่นายกฯ คนนี้ ผลักดันให้ออกมาเองก็มีมาตรา 152 ให้มีการปรึกษาหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วทำไมจึงไม่ใช้สภาแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ นายกฯ มาจากวิถีประชาธิปไตย ต้องไม่กลัวสภา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน หากไม่ดำเนินการอาจถูกมองว่าปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์กำลังหลบเลี่ยง หนีปัญหา การกระทำสวนทางกับคำพูด บอกว่าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ก็รับผิดชอบได้เพียงแค่การไม่พูดถึงเรื่องถวายสัตย์ฯ อีก บอกว่าไม่กลัวสภา พร้อมมาชี้แจง แต่ที่ผ่านมาก็หนีสภาตลอด ขนาดประธานสภาฯ ยังแฉเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์หนีสภา ไม่เคยแจ้งเหตุผล ไม่ลาให้ถูกต้อง พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องหยิบเรื่องนี้มาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ เสนอแนะรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา อะไรที่ผิดถ้าแก้ได้ก็กลับไปแก้
"พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถหนีปัญหาและหนีสภาได้ตลอด ทางที่ดีหันกลับมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งใดทำผิด ก็กลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง อย่าประวิงเวลา โดยเฉพาะหากไม่แก้ไขก่อนที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 หากเกิดปัญหาขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน" นายอนุสรณ์กล่าว
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมมาชี้แจงต่อสภาถึงสองสัปดาห์ติดต่อกันแล้ว ในสัปดาห์แรกก็อาจพอฟังได้ว่าติดภารกิจจำเป็น แต่พอมาสัปดาห์นี้ ข้ออ้างอะไรก็ฟังไม่ขึ้น สาเหตุก็คงไม่มีอะไร นอกจากกลัวว่าจะจนกลางสภา เพราะไม่สามารถชี้แจงได้ แต่เมื่อไม่มาชี้แจงในเรื่องสำคัญอย่างนี้ต่อเนื่องกัน ก็มีปัญหาว่าแล้วต่อๆไปจะทำงานกับสภาอย่างไร จะมาชี้แจงเรื่องอื่นๆ หรือไม่ จะมีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
ชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ
"ล่าสุด ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์และเนติบริกรคู่ใจจะเตรียมหาทางออกเรื่องนี้ไว้ ด้วยการอ้างว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็คงอ้างว่าสภาไม่ควรอภิปราย หรือพูดถึงเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบอีกต่อไป มิฉะนั้นจะเป็นการไปชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ต้องไปชี้แจงต่อสภา"
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ความจริงเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบนี้ ไม่จำเป็นต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เดียว หากมีคนร้องไปที่ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช.เห็นว่าผิดพ.ร.ป.ป.ป.ช. ป.ป.ช.อาจฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้ แต่ไม่ว่าเรื่องจะไปที่ศาลใด สภาผู้แทนราษฎรก็ยังสามารถพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี้ได้อยู่ดีมีการอธิบายเรื่องสภาไม่ควรพูดถึงเรื่องใดๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่คราวที่มีการพูดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ดูเหมือนประธานสภาฯ ก็วินิจฉัยไปทำนองนั้น แต่เข้าใจว่าเนื่องจากเรื่องนั้นมีการอภิปรายไปแล้วพอสมควรก่อนที่เรื่องจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ส.ส.ทั้งหลายจึงไม่ได้ติดใจที่จะพูดถึงเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีอีกเท่าไรนัก ซึ่งก็เลยทำให้ไม่ได้มีการพูดกันว่าสภาไม่ควรพูดถึงเรื่องที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่
เขาเผยว่า จากที่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องทำนองนี้มาบ้าง มีความเห็นว่าความเห็นที่ว่า “เมื่อเรื่องใดที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณากันอยู่เกิดไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรไม่ควรอภิปรายเรื่องนั้นอีกต่อไป” นั้น เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักของการแบ่งแยกอำนาจและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม
"พูดให้เฉพาะเจาะจงมากๆ คือกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของพลเอกประยุทธ์นี้ ขณะนี้มีคนเสนอเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ซึ่งต่อไปผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ถึงแม้เรื่องไปถึงขั้นนั้นแล้ว สภาผู้แทนฯ ก็ยังสามารถพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี้ได้ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งสามารถพิจารณาได้ในหลายแง่มุม โดยไม่มีปัญหาเรื่องการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นการทำหน้าที่คนละทางคนละส่วนกัน"
ตั้งคำถามง่ายๆ ว่าถ้าเรื่องถวายสัตย์ฯ นี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส.ยังจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ ครม.ด้วยเรื่องนี้ได้หรือไม่คำตอบก็คือต้องได้แน่นอน
แนะสวนศาล รธน.
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ส.ส.อาจตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส. จะเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปที่ไม่ต้องมีการลงมติก็ได้ หรือต่อไปจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ด้วยก็ได้ สิ่งที่อภิปรายในสภาไม่ใช่การชี้นำและย่อมไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจนำเอาไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีหรือไม่ก็ได้
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของพลเอกประยุทธ์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สภาก็อาจยังไม่ไว้ใจพลเอกประยุทธ์และยังคงอภิปรายไม่ไว้วางใจกันต่อไป กระทั่งอาจจะลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าสภาจะไปขัดแย้งอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน
ปรกติองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช.หรือศาล เช่นศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดมีมูลว่าทุจริต หรือมีเหตุสงสัยว่าจะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจสั่งให้นักการเมืองคนนั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนได้ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่บัญญัติว่า หากมีการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรหยุดการปฏิบัติหน้าที่หน้าที่ในเรื่องนั้นไว้ก่อน
ที่พูดเรื่องทำนองนี้กันในสภา และที่ได้ยินแว่วๆมาจากทำเนียบรัฐบาลนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์หลักการอะไรรองรับ อย่างหนึ่งก็เป็นเพียงการช่วยหาทางให้พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องจนแต้มตกม้ากลางสภา แต่ที่เขาเล็งผลเลิศมากกว่านั้น ก็คือจะได้ทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆ จากทั้งสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนและประชาชนอีกเลย ไม่ว่าวิถีทางใด
"เขาอยู่กับการไม่ต้องถูกตรวจสอบมาจนเคยตัวกันหมดแล้ว ก็หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ปล่อยให้พลเอกประยุทธ์เอาตัวรอดจากการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนไปได้ด้วยการบิดเบือนหลักการอย่างที่เขาพยายามทำกันอยู่นะครับ" นายจาตุรนต์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |