บทความนี้วิพากษ์ความคิดรัฐบาลสหรัฐผู้ล้างสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ผ่านมุมมองของรัฐบาลรัสเซียกับจีน ดังนี้
ตุลาคม 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐไม่อาจปล่อยให้รัสเซียละเมิดสนธิสัญญาฝ่ายเดียวและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้สหรัฐจะขอยกเลิกสนธิสัญญา ด้านรัสเซียยืนยันไม่ได้ละเมิดแต่อย่างไร
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐกับรัสเซียถอนตัวออกจาก INF อย่างเป็นทางการ นับจากนี้เป็นต้นไป 2 ประเทศสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับใกล้ที่ติดตั้งบนภาคพื้นดินได้อีกครั้ง
คำกล่าวหาและข้อโต้แย้งกรณีรัสเซีย :
ข้ออ้างเบื้องต้นของรัฐบาลสหรัฐคือรัสเซียไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเป็นเหตุให้สหรัฐต้องถอนตัว สมมุติว่าข้อกล่าวหาเป็นจริง นิวเคลียร์พิสัยกลางที่รัสเซียสร้างมีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลต่อดุลอำนาจนิวเคลียร์เท่าไรนัก ในทางกลับกันต้องติดตามต่อว่าในอนาคตหากฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียประจำการนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้อย่างจริงจังจะส่งผลต่อสมดุลนิวเคลียร์หรือไม่ สู่คำตอบที่ว่าใครกันแน่เป็นผู้ทำลายสมดุลนิวเคลียร์ ทำให้โลกต้องหวาดผวากับสงครามนิวเคลียร์มากกว่าเดิม
ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือฝ่ายที่ต่อต้านรัสเซียมักอ้างเรื่องที่รัสเซียพัฒนานิวเคลียร์ สร้างอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ เป็นภัยคุกคามสหรัฐ เหตุที่รัสเซียทำเช่นนั้นเพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสหภาพโซเวียตเป็นรัสเซียนั้น กองทัพขาดงบประมาณ ระบบอาวุธต่างๆ ขาดการซ่อมบำรุง ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามที่ควร จำนวนตัวเลขที่มีอยู่อาจเป็นตัวเลขหลอกตา ไม่มีอานุภาพจริง
อีกสาเหตุคือเมื่อยุโรปตะวันออกรวมทั้งประเทศที่แยกตัวออกจากรัสเซีย เช่น ยูเครน ประเทศเหล่านี้ปลดประจำการอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐเข้ามาช่วยเหลือการปลดอาวุธ เรียนรู้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุรู้จักเทคโนโลยี ความลับของอาวุธเหล่านี้ และพัฒนาระบบป้องกันที่สามารถสกัดอาวุธนิวเคลียร์รุ่นเก่า
ดังนั้น หากรัสเซียต้องการกองกำลังนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริงจะต้องพัฒนาและสร้างรุ่นใหม่ Sergey Shoigu รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (strategic nuclear forces) รุ่นใหม่ให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2020 และประจำการขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Force) รุ่นใหม่ให้ได้ร้อยละ 62 ภายในปี 2020
เป็นการยกเครื่องกองกำลังนิวเคลียร์ใหม่เกือบทั้งหมด แน่นอนว่ารัสเซียตั้งใจคงความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์
ในมุมมองที่กว้างขึ้น รัสเซียชี้ว่าการถอนตัวจาก INF เหมือนกับที่สหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty : ABM treaty) เมื่อปี 2002 เพียงฝ่ายเดียว และไม่ต่างจากนโยบาย “นาโตขยายตัว” (NATO expansion) ทั้งหมดคือการขยายอำนาจด้านความมั่นคงของสหรัฐ ปิดล้อมรัสเซียแม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดแล้ว
ในมุมมองของรัสเซีย การถอนตัวจาก INF คือการรุกคืบอีกครั้งจากฝ่ายสหรัฐ ทั้งๆ ที่รัฐบาลทรัมป์พูดว่าอยากลดอาวุธนิวเคลียร์ การจะรู้ว่าใครตั้งใจลดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ดูได้จากการเจรจาและผลการเจรจา ล่าสุดรัฐบาลปูตินแสดงท่าทีพร้อมเจรจาอีกครั้ง ชี้แจงว่าใช้งบกลาโหมด้านนิวเคลียร์ 48,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐใช้งบประมาณด้านนิวเคลียร์ปีละกว่า 700,000 ล้าน อยากเห็นโลกที่ปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก
ประเด็นการเจรจาลดอาวุธจะเป็นหลักฐานสำคัญกว่ารัฐบาลประเทศใดที่จริงใจเรื่องนี้ เงินหลายแสนล้านดอลลาร์สามารถทำประโยชน์อื่นได้มากมาย
ตรรกะอันบิดเบี้ยวของรัฐบาลทรัมป์ต่อจีน :
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นแห่งชาติกล่าวอย่างชัดเจนว่าสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาเพราะจีนไม่ได้อยู่ใน INF เป็นอีกเหตุผลที่สหรัฐคิดถอนตัวออกจากสนธิสัญญา
มีการยกตัวอย่างขีปนาวุธ DF-21D ของจีน เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางระยะประมาณ 2,000-3,000 กิโลเมตร ติดตั้งบนยานยนต์เคลื่อนที่ แม้จีนประกาศว่าติดหัวรบธรรมดา ใช้สำหรับต่อต้านเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าหากจะติดหัวรบนิวเคลียร์ย่อมทำได้ กลายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์
DF-26 เป็นรุ่นใหม่ที่พัฒนาจาก DF-21 มีรัศมีไกลกว่า ระหว่าง 3,000-4,000 กิโลเมตร สามารถโจมตีฐานทัพอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นได้สบาย
เนื่องจากจีนปกปิดข้อมูลอาวุธเหล่านี้ เรื่องราวที่ปรากฏส่วนหนึ่งจึงมาจากการคาดเดา ฝ่ายสหรัฐมักจะตีความในทางลบ นักวิชาการบางคนถึงกับพูดว่าเหตุผลหลักที่สหรัฐถอนตัวออกจาก INF เพราะจีนไม่ใช่รัสเซีย เหตุเนื่องจากขีปนาวุธ DF-21 กับ DF-26 มีประสิทธิภาพเกินกว่าระบบป้องกันของสหรัฐกับพันธมิตรจะรับไหว จึงต้องดึงจีนเข้าร่วมเจรจาเพื่อจำกัดจำนวนขีปนาวุธจีน
ความจริงคือ ปัจจุบัน (2019) จีนมีหัวรบนิวเคลียร์เพียง 290 หัวรบ เทียบกับสหรัฐที่มีถึง 6,185 หัวรบ จีนมีศักยภาพสร้างพันลูกหมื่นลูกถ้าต้องการ แต่รัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น สิ่งที่ทำคือศึกษาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ประจำการจำนวนหนึ่งเท่านั้น “ไม่คิดเป็นฝ่ายใช้อาวุธนิเคลียร์ก่อน” เพราะไม่อาจสู้สหรัฐหรือรัสเซีย นโยบายป้องกันประเทศจีนฉบับล่าสุด “China’s National Defense in the New Era” 2019 ระบุว่า จีนยึดหลักเน้นการป้องกัน ปกป้องตัวเอง โต้กลับทีหลัง การป้องกันประเทศเชิงรุก (active defense) จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่คุกคามชาติอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ไม่แข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กับประเทศใด
เป็นเรื่องตลกหากพูดว่านิวเคลียร์จีนเป็นภัยคุกคามสหรัฐ แม้จีนจะพัฒนานิวเคลียร์ให้ทันสมัยมากขึ้นกว่านี้ก็ยังเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ดี แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่เลิกอ้างเหตุผลเรื่องจีน ในมุมมองของสหรัฐนั้นรัสเซียกับจีนคือ 2 ประเทศนิวเคลียร์ที่น่ากลัว
ตลอดเวลาที่ผ่านมาจีนปฏิเสธคำขอเข้าร่วมเจรจา INF รอบใหม่ จีนไม่ยอมเข้าสู่การจำกัดอาวุธนิวเคลียร์แน่นอน เพราะอยากเป็นชาติมหาอำนาจทางทหารเหมือนกัน เพียงแต่ต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม
สหรัฐคือมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับหนึ่ง :
ความจริงคือปัจจุบันสหรัฐเป็นเจ้าอาวุธนิวเคลียร์ จีนกับรัสเซียไม่อาจคิดทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐ
จีนมีนิวเคลียร์ไม่ถึง 300 หัวรบในจำนวนนี้ส่วนน้อยที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป (โจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐได้น้อย) ส่วนรัสเซียกำลังรื้อฟื้นกองกำลังนิวเคลียร์ใหม่ ในขณะที่กองกำลังนิวเคลียร์อเมริกาอยู่ในสภาพพร้อมทำลายล้างทั้งโลกได้หลายรอบ
การสร้างศัตรูให้น่ากลัวเกินจริง เป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา เพื่อมีเหตุบั่นทอนปรปักษ์ให้อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
ถ้าสหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้ภาคพื้นดินอีกครั้ง เท่ากับเพิ่มความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับ 1 ของโลกให้ก้าวไกลขึ้นอีก ไม่มีผลต่อลำดับความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์โลก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review : NPR) ฉบับล่าสุด 2018 ว่า รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศใดโลก ด้วยความเชื่อว่า นอกจากปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยตรง เพราะสหรัฐมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อตน วันใดที่ภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจหดหาย จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทันที เช่น กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ข้อตกลงการค้าที่สหรัฐได้เปรียบ
รวมความแล้วเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังยกระดับความเป็นเจ้าแห่งอาวุธนิวเคลียร์โลก ในขณะที่รัสเซียกับจีนกำลังไล่ตามและวางระยะห่างตามนโยบายของตน การล้มสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) เป็นเพียงจุดเริ่มของแข่งขันนิวเคลียร์รอบใหม่ เป็นประเด็นที่ติดตามได้อีกนานดังเช่นที่ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว.
--------------------------
ภาพ : ขีปนาวุธ DF-26 ของจีน
ที่มา : http://www.chinadaily.com.cn/a/201804/26/WS5ae18ecda3105cdcf651ab3c.html
--------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |