100 ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล สามัญชน คนหนังสือพิมพ์


เพิ่มเพื่อน    

 

            หลังจากเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2560 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่อง กำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษาตามข้อเสนอของประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนจากอีกบางประเทศ โดยองค์การยูเนสโกได้ร่วมเฉลิมฉลองระหว่างปีพุทธศักราช 2561-2562 ในโอกาส 100 ปีชาตกาลของนายกำพล เนื่องจากหากนายกำพลยังมีชีวิตอยู่ ในวันที่ 27 ธ.ค.62 ซึ่งเป็นวันเกิด เขาก็จะมีอายุครบ 100 ปี

                ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคมนี้ มีกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในงาน ประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญของโลก นายกำพล วัชรพล และเปิดพิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล ณ สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

                มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส นสพ.ไทยรัฐ และกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งทำข่าวและอยู่ในวงการสื่อมวลชนมาหลายสิบปี ลำดับความเป็นมาที่มาที่ไปของการที่ยูเนสโกประกาศยกย่อง นายกำพล วัชรพล ดังกล่าว รวมถึงเล่าย้อนเรื่องราวในอดีตของนายกำพล ที่เป็นอีกหนึ่งบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงสื่อ-หนังสือพิมพ์ ที่แม้ไม่ใช่คนในชายคาไทยรัฐ ก็น่าศึกษาเรียนรู้

                ทั้งนี้ มานิจ-อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย-อดีตประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน-อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีความผูกพันระหว่างตัวเขากับอดีต ผอ.ไทยรัฐ กำพล วัชรพล อย่างมาก เพราะทำงานด้วยกันมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเดินทางไปทำงานที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นประจำปกติ โดยบอกว่าได้เข้าไปร่วมทำงานกับนายกำพลตั้งแต่สมัยนายกำพลทำหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2504 จนต่อมานายกำพลกับคณะได้ออกมาตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็อยู่ร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม 

                เริ่มต้นการพูดคุย มานิจ ปูพื้นไว้ว่า องค์กรยูเนสโกเป็นองค์กรที่อยู่กับสหประชาชาติ ที่จะมีการแบ่งองค์กรออกเป็นองค์กรต่างๆ ตามความชำนาญพิเศษ เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รวมถึงองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO)

...การทำงานของยูเนสโกก็จะมีงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น การประกาศให้สถานที่ต่างๆ เป็นมรดกโลก รวมถึงการยกย่องบุคคลสำคัญๆ ของโลกในด้านต่างๆ ซึ่งคุณกำพลก็ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเช่นเดียวกับบุคคลสำคัญอีก 27 คนของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม คุณกำพลก็อยู่ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ยูเนสโกก็ประกาศยกย่อง ซึ่งในปีที่คุณกำพลได้รับการประกาศยกย่อง คือปี 2560 ทั่วโลกมีได้รับการยกย่องรวม 48 คน โดยปีดังกล่าวมีคนไทยและคนเอเชียคนเดียวที่ได้รับการประกาศยกย่อง ก็คือคุณกำพล โดยการประกาศดังกล่าวเพื่อให้มีการยกย่องเชิดชูในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ในปี 2562 ซึ่งจะเป็นปีที่คุณกำพลหากยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 100 ปี อันเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกที่จะพิจารณาในโอกาสต่างๆ เช่น ครบรอบ 100 ปี-150 ปี โดยที่ผ่านมาก็มีบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกมากมาย อาทิ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้, มักซิม กอร์กี นักเขียนนักประพันธ์ชาวรัสเซีย, เลโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งมีชื่อเสียงจากงานศิลปะ เช่น ภาพเขียนโมนาลิซา โดยยูเนสโกจะประกาศยกย่องในโอกาสต่างๆ เช่น ดาวินชี ในโอกาสครบรอบ 300 ปี

                …สำหรับเหตุผลที่ยูเนสโกประกาศยกย่องดังกล่าว ก็เพราะคุณกำพลมีบทบาทด้านการศึกษาและสื่อมวลชน

                โดยในด้านการศึกษา เพราะคุณกำพลได้อุทิศเงินที่ควรเป็นเงินของคุณกำพล เพราะบริษัทที่ทำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นบริษัทของคุณกำพล ก็นำไปสร้างโรงเรียนจำนวน 101 แห่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ โดยมีการนำเงินไปสร้างอาคารสถานที่ อุปกรณ์การศึกษา ทุนการศึกษา เงินค่าอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนไหนที่มีสอนถึงระดับมัธยม เราก็ให้ทุนการศึกษาเขา มีการนำครูมาอบรมเพื่อพัฒนาครู จะได้ให้ครูไปพัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก

ที่สำคัญที่ยูเนสโกประกาศเลยก็คือ ในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีการสอนหลักสูตรพิเศษที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป 2 วิชา คือวิชาความรอบรู้เรื่องสื่อมวลชน เช่น ความรู้เรื่องการทำหนังสือพิมพ์อย่างง่ายๆ การทำหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน รวมถึงการสอนเรื่องจริยธรรมสื่อด้วย เช่น หากมีการนำข้อความที่นำมาจากแหล่งใด จะต้องให้เครดิตกับแหล่งที่มาด้วย หรือการสอนเรื่องการนำเสนอข่าวต้องไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลคนอื่น ที่จะเป็นการละเมิดจริยธรรมสื่อ นอกจากนี้ยังสอนให้รู้เท่าทันสื่อพวกเฟกนิวส์ทั้งหลาย ไม่ใช่เห็นอะไรก็แชร์-กดไลค์ ไม่ได้ ที่โรงเรียนไทยรัฐฯ เราสอนเรื่องเหล่านี้ที่เรียกกันว่า ความรอบรู้เรื่องสื่อมวลชน (Media Literacy)

                มานิจ-กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาก็สอนวิชาเรื่องพลเมืองดี คือในอดีตจะมีการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม แต่ตอนหลังมีการเลิกสอนวิชาเหล่านี้ ไม่มีสอนเด็กแล้ว บ้านเมืองก็เลยเป็นแบบนี้ เราก็มาฟื้นฟูหลักสูตรการสอนใหม่ เราเรียกว่าวิชาพลเมืองดี สอนให้เด็กมีวินัย ให้มีความรับผิดชอบ มีความกตัญญูรู้คุณ ให้รู้จักพอเพียง มีจิตอาสา พึ่งพาตัวเองได้

 โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจึงเป็นโรงเรียนหลอมคนดีมีวิชา การสอนหลักสูตรดังกล่าวทำให้โรงเรียนไทยรัฐโดดเด่นขึ้นมา ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็นำเรื่องนี้มาเป็นแบบอย่าง เราให้คำขวัญกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยาว่า นักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาวันนี้ คือคนดีของสังคมในวันหน้า ปลายปีนี้ช่วงเดือนธันวาคม ที่จะครบรอบวันเกิดของคุณกำพลวันที่ 27 ธันวาคม เราจะมีการประกาศ สดุดี นักเรียนเก่าของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาฯ ที่จบออกไปแล้วไปทำคุณงามความดี ตอนนี้พบว่าศิษย์เก่าของโรงเรียนไปประกอบอาชีพต่างๆ มากมาย ทั้งผู้พิพากษา หมอ ทหาร ตำรวจ ครู นักวิชาการ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด เยอะแยะไปหมด เพราะเราเริ่มสร้างโรงเรียนหลังแรกตอนปี พ.ศ.2512 และเปิดเรียนตอนปี พ.ศ.2513 ก็ 50 ปี

...เรื่องดังกล่าว คนต่างชาติเขาก็เห็นว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่บริษัททำหนังสือพิมพ์หรือบริษัทที่ไหนก็ตาม จะนำเงินมาสร้างโรงเรียนมากมายเท่ากับคุณกำพล ตอนท่านมีชีวิตอยู่สร้างไว้ 101 โรงเรียน ตอนนั้นงบที่ใช้ก็ประมาณโรงเรียนเฉลี่ยละห้าล้านบาท ก็ 101 โรงเรียน ก็ประมาณห้าร้อยกว่าล้านบาทในยุคนั้น และยังให้มูลนิธิไทยรัฐฯ เข้าไปดูแลด้านต่างๆ เช่น ทุนการศึกษา และจากที่มีโรงเรียนไทยรัฐฯ 101 แห่ง แต่ปัจจุบันทายาทของคุณกำพลก็มีการให้ก่อสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาฯ เพิ่มขึ้นอีก 10 แห่ง ทำให้สิ้นปีนี้ 2562 จะมีโรงเรียนไทยรัฐฯ ทั่วประเทศ รวมกัน 111 แห่ง โดยโรงเรียนไทยรัฐฯ แห่งสุดท้ายที่ก่อสร้างทำสมัยคุณกำพลยังมีชีวิตอยู่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้เงินก่อสร้างหนึ่งร้อยหนึ่งแสน หรือเท่ากับสิบล้านหนึ่งแสนบาท 

                ...เคยมีผู้แทนสมาคมเจ้าของหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นไปพูดสดุดีคุณกำพลไว้ในที่ประชุมหนังสือพิมพ์โลกที่ประเทศบราซิล โดยทางไทยรัฐเราไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ว่า เขาไม่เคยเห็นหนังสือพิมพ์ที่ไหนในโลกนี้ที่จะอุทิศเงินเพื่อการศึกษามากเท่ากับนายกำพล แห่งไทยรัฐ ของประเทศไทย

                มานิจ เปิดเผยว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์ กำพล วัชรพล ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการวันจันทร์ที่ 19 ส.ค. โดยตั้งอยู่ภายในสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต

...ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนแรกคือประวัติชีวิตคุณกำพล นับแต่เกิดมาจนกระทั่งได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ส่วนที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเราคือ หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ จนกระทั่งเป็นหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง แล้วก็มาเป็นไทยรัฐในปัจจุบัน

 ส่วนที่สาม ซึ่งประเทศไทยควรจะมี นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์การพิมพ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคที่ใช้ตัวตะกั่วมาเรียงเป็นตัวกลับเรียงเป็นตัวๆ แล้วก็นำไปทำแม่พิมพ์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว จากนั้นก็เป็นยุคการเรียงด้วยแสง ซึ่งที่ไทยรัฐยุคคุณกำพลก็ทำเป็นที่แรก แล้วก็มาเป็นการทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์

 โดยเมื่อเปิดแล้ว พิพิธภัณฑ์จะเปิดกว้างให้คนภายนอกเข้ามาดูได้ ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่าในอดีตระบบการพิมพ์ต่างๆ ของประเทศไทย มีกระบวนการผลิตอย่างไร

มานิจ-บรรณาธิการอาวุโส นสพ.ไทยรัฐ และกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ กล่าวถึงการทำงานในฐานะนักหนังสือพิมพ์ของ กำพล-ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่า ท่านกำพลเป็นคนเชิดชูเสรีภาพของคนทำหนังสือพิมพ์ ในไทยรัฐก็อาจจะเห็นบางคอลัมน์สนับสนุนกลุ่มนั้น บางคอลัมน์สนับสนุนอีกกลุ่ม ท่านย้ำว่า คุณมีความคิดอิสระ คุณเขียนได้ เว้นแต่อย่าไปรับจ้างใครมาเขียน ถ้าคุณเห็นว่าคนไหนเป็นคนดี เชียร์ไปได้เลย แต่อย่าไปรับจ้างเขา ให้เขียนด้วยความคิดของคุณ แล้วเวลาที่มีคนอยากมารู้จักคุณกำพล ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ เพราะหวังอยากจะมาปิดปากหนังสือพิมพ์ จะมาปิดข่าวเวลามีข่าวอะไรไม่ดี เวลาพวกนั้นวิ่งมาหา ท่านก็จะบอกว่าให้ไปคุยกับกอง บ.ก.เขาเอง ผมเป็นนายทุน ผมดูเรื่องกระดาษเรื่องการพิมพ์ ท่านไม่เคยมาว่าพวกเราเลย ไม่เคยมาบอกว่า เออ อันนี้อย่าไปเขียน เรื่องนั้นให้เบาๆ ไม่เคยมีเลย มีแต่บอกว่าให้ระวังอย่าไปเขียนแบบหมิ่นประมาท อย่าไปรับจ้างใครมาเขียน

...เรื่องการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพโดยรวม สมาคมนักข่าวฯ จะไปเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องอะไร หากมีการลงขันกัน ท่านฝากเงินมาลงขันก่อนเลย ไทยรัฐลงขันก่อน อย่างในอดีตสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สื่อมีการเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 ตอนนั้นกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ปร.42 รมว.มหาดไทยก็คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา ตอนนั้นคุณบรรหารก็มาถามผมว่า คุณมานิจ พวกคุณมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ปร.42 หากมีการยกเลิกไปแล้ว จะทำให้หนังสือพิมพ์ออกได้เยอะแยะ จะมาแข่งกับไทยรัฐ คุณกำพล นายของคุณว่าอย่างไร” ผมตอบกลับว่า ท่านบรรหาร นายของผมอยากให้หนังสือพิมพ์ได้มีการออกมาหลายๆ ฉบับ ประชาชนจะได้มีโอกาสเลือก อีกทั้งจะได้ทำให้เพื่อนร่วมวิชาชีพ จะได้มีงานทำเยอะๆ ใครดีใครอยู่ คุณบรรหารยังสงสัยเลยว่าจริงหรือแล้วผมก็บอกคุณบรรหารอีกว่า คุณบรรหารรู้หรือไม่ ที่พวกเราเคลื่อนไหวกัน มีการประชุมเรื่องนี้เพื่อเตรียมเคลื่อนไหว จัดเตรียมป้ายอะไรต่างๆ เลี้ยงกันทุกคืนที่โรงแรมอิมพีเรียล เงินมาจากไหน เขาก็ตอบว่า ไม่รู้ ลงขันกันหรือ ผมก็ตอบว่า คุณกำพลให้มา

...คือคนข้างนอก ก็ไม่เชื่อว่าคุณกำพลมาจ่ายเงินให้พวกเราเพื่อไปเคลื่อนไหวยกเลิก ปร.42 หรืออย่างในอดีต ที่สมาคมฯ มีการจัดพิมพ์หนังสือ ”เบื้องแรกประชาธิปตัย” ตอนนั้นทำกันสมัยผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ เวลานั้นไม่มีเงินจัดพิมพ์ออกมา คุณกำพลรู้ก็มาถามค่าพิมพ์เท่าไหร่ ผมก็บอกว่าทุนก็ราวๆ สัก 20,000-25,000 บาท คุณกำพลก็ให้มา 2 หมื่นเลย และบอกไม่ต้องเอามาคืน ขายแล้วก็นำเงินเข้าสมาคมฯ

สำหรับพนักงาน ท่าน ผอ.กำพลก็เอื้อเฟื้อต่อพนักงาน มีการทำบ้านพักให้พนักงานอาศัย มีการสร้างแฟลต 80 ยูนิต ให้พนักงานอาศัย ส่วนพนักงานที่มีครอบครัวแล้ว ก็ให้กู้เงินไปซื้อบ้านผ่อนบ้าน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย อีกทั้งยังสนับสนุนด้านการศึกษากับลูกน้อง ออกทุนให้ไปเรียนถึงต่างประเทศ แล้วเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น มีการชุมนุมทางการเมือง มีการส่งนักข่าวไปทำข่าวสิบคน ตอนกลางคืนท่านกำพลก็ตามไปดู ซึ่งไม่ใช่การไปจับผิด แต่ไปเพื่อไปสั่งซื้อก๋วยเตี๋ยวผัดไท ซื้อโอเลี้ยงให้ เอาไปให้ตอนห้าทุ่มที่นักข่าวเขาเฝ้าข่าวอยู่ เพราะสมัยนั้นดึกแบบนั้น ก็ไม่รู้จะไปหาซื้อได้ที่ไหน เพื่อลูกน้องจะได้มีกิน

                มานิจ เล่าต่อไปว่า หรืออย่างตอนที่การผลิตหนังสือพิมพ์เปลี่ยนจากการเรียงตัวหนังสือด้วยมือ มาเป็นการเรียงด้วยแสง ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ เช่น ต้องพิมพ์ดีดได้ คุณกำพลก็บอกว่าพนักงานช่างเรียงที่เรียงด้วยมือ ใครอยากเรียนพิมพ์ดีดให้ไปเรียน จะจ่ายเงินค่าพิมพ์ให้ แต่ถ้าใครไม่อยากทำช่างเรียงแล้ว อยากทำงานแผนกไหนในโรงพิมพ์ให้เลือกเอา ไม่ไล่ออก ไม่ให้ออก และต่อมาเมื่อเปลี่ยนจากการเรียงด้วยแสงมาเป็นการเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ท่านก็ให้คนไปเรียนคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องออก

                เรื่องไม่ให้พนักงานออก มีอยู่ครั้งหนึ่งตอน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจ ที่จะให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นก็มีนักการเมืองคนหนึ่งจะมาเป็น รมว.มหาดไทย ที่จะคอยดูข่าวหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นพอยึดอำนาจแล้วมีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ไว้ก่อน เขาก็เรียกพวกหนังสือพิมพ์ไป แล้วบอกว่าฉบับไหนจะขอออกหนังสือพิมพ์ต่อ ก็ให้เอาคนในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นบางคนออกไปก่อน มีการลิสต์ชื่อมา เช่น 5 ชื่อ เพราะไม่ชอบ อย่างไทยรัฐหากจะออกใหม่ก็ให้ชื่อมาว่าให้เอาคนบางคนออกไปเพราะหัวแข็ง

...ของไทยรัฐหนึ่งในชื่อที่ให้มามีชื่อผมอยู่ด้วยหนึ่งคน ผมรู้ก็เข้าไปบอกกับ ผอ.กำพลว่าไม่ต้องเป็นห่วง ผมหางานใหม่ทำได้ ท่านก็บอกคุณไม่ต้องออกให้อยู่ต่อที่ไทยรัฐ วันนี้ยังไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่วันหน้าต้องมาทำ ตอนนี้อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ แต่ก็ให้เงินเดือนตลอด หรืออย่างในอดีตเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนในกอง บ.ก.ไทยรัฐยกพวกออกไปทำหนังสือพิมพ์ชื่อดาวสยาม ยกพวกออกไปจนที่ไทยรัฐเหลือคนทำหนังสือพิมพ์ไม่กี่คน แต่ดาวสยามทำได้ไม่นานก็เจ๊ง หลายคนติดต่อจะขอกลับมาไทยรัฐ ท่านกำพลก็มาถามพวกเราว่าจะให้รับกลับมาทำงานที่ไทยรัฐหรือไม่ เราบอกก็แล้วแต่ ผอ.พิจารณา แต่ก็ลองดูว่าพวกนั้นเขาทำกับเราอย่างไร เพราะตอนลาออกไปขนกันไปหมด อย่างพวกฟิล์มภาพข่าวดีๆ พวกที่ออกไปขนออกไปกันหมด ท่านก็บอกว่าเขาไม่มีทางไปแล้วรับกลับดีกว่า  แต่ก็มีบางคนที่เป็นหัวโจกที่ชวนคนลาออกไป ก็รับมาแต่ไปบอกคนนั้นว่าไม่ต้องมาทำงานที่ไทยรัฐ ให้อยู่บ้านไปแล้วก็ให้เงินส่วนตัวไปให้ ดูแลให้จนเสียชีวิต เป็นเรื่องของน้ำใจคน

มานิจ-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เล่าถึงการทำงานของอดีต ผอ.ไทยรัฐให้ฟังต่อไปว่า เมื่อก่อนหนังสือพิมพ์เวลาพิมพ์เสร็จแล้ว กว่าจะส่งไปขายต่างจังหวัดใช้เวลาพอสมควร เช่นจะไปขายที่เชียงใหม่ได้ต้องใช้เวลาสองวัน เช่นหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม แต่กว่าจะไปถึงเชียงใหม่ก็วันที่ 18  สิงหาคม โดยตอนนั้นมีบริษัทรวมห่ออยู่ที่หัวลำโพง ที่จะรวบรวมหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจนได้ห่อใหญ่แล้วก็ส่งขึ้นรถไฟไป คุณกำพลก็บอกแบบนี้คนอ่านก็อ่านหนังสือพิมพ์ได้ช้า แต่หากซื้อรถขนส่งหนังสือพิมพ์มาเองก็จะไปถึงต่างจังหวัดเร็ว

...ก็เลยใช้วิธีว่าพอซื้อรถแล้ว พวกหนังสือพิมพ์อะไรต่างๆ ที่เคยส่งให้บริษัทรวมห่อก่อนหน้านั้น ก็เอามาให้ไทยรัฐจะส่งให้โดยไม่คิดค่าส่ง แล้วเปอร์เซ็นต์ที่ได้รวมห่อก็เอาไป คุณกำพลก็ไปหาตลาดใหม่ เพื่อเอามาไว้บนรถจะได้จัดส่งให้เต็ม แต่ทำแล้วมันก็ยังไม่เต็มรถ คุณกำพลก็บอกว่าเพื่อนหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ เช่น ชาวไทย แนวหน้า ให้ไปบอกว่ารถของไทยรัฐมีที่ว่างอยู่ ให้เอาหนังสือพิมพ์มาฝากส่งได้ ไม่คิดเงิน ขออย่างเดียวให้มาให้ทันเวลา รถไทยรัฐจะออกหนังสือพิมพ์ต้องมา ก็ให้ไปด้วยกันได้ พวกเราก็ยังเคยถามว่าส่งให้ที่อื่นทำไม ท่านก็บอกก็ให้คนเขาเลือกเอา คนอยากอ่านฉบับไหนก็เลือกเอา

-ตอนที่ท่านกำพลยังอยู่เคยมีนักการเมืองมาขอพบ หรือติดต่อโทรศัพท์มาหาในเรื่องข่าวอะไรหรือไม่?

เคยมีคนโทรศัพท์มาขอ ท่านก็บอกเขาไปว่าเป็นเรื่องของกองบรรณาธิการข่าว เขาก็เขียนไปตามความเห็นของเขา โดยคุณกำพลก็ย้ำว่าต้องไม่ไปหมิ่นประมาท และต้องไม่ไปรับจ้างให้มาเขียน

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเวลามีการเลือกตั้งหาเสียง ไทยรัฐจะไม่รับโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง  คนลงสมัคร ส.ส.บางคนจะขอมาลงโฆษณาว่าจบการศึกษาอย่างไร เคยช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไร ก็ไม่มีการรับลง ก็เคยมีคนถามคุณกำพลว่าทำไมไม่ลง คุณกำพลก็บอกว่าหากไทยรัฐรับลงโฆษณาให้ ก็จะลงได้แต่เฉพาะคนรวยๆ เพราะค่าโฆษณาไทยรัฐแพง พรรคการเมืองที่ไม่มีเงินก็ไม่มีโอกาสได้ลงโฆษณา แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวก็ลงไป แต่จะไม่รับโฆษณา จนถึงทุกวันนี้

 อย่างล่าสุดการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าไทยรัฐไม่รับลงโฆษณา แม้ว่าช่วงนี้โฆษณาจะหายาก แต่ก็รักษาคำสั่งคุณกำพลไว้ว่าไม่รับโฆษณา

“แล้วคนที่ทำงานที่นี่อย่าไปเที่ยวหาโฆษณาเพื่อหวังเอาเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าคุณไปรับไปหาโฆษณาใครเขามา คุณก็ต้องเป็นหนี้บุญคุณเขา หนี้บุญคุณบริษัท แล้วเวลามีข่าวอะไรกระทบกับบริษัทที่ไปขอโฆษณาเขา คุณก็ไปเขียนไม่ได้ ก็เกรงใจเขา เพราะฉะนั้นนักข่าวห้ามไปหาโฆษณา นี่คือสิ่งที่คุณกำพลวางหลักไว้ ซึ่งเป็นหลักที่ท่านวางไว้ตั้งแต่แรกเริ่มเลย ตั้งแต่ตอนทำหนังสือพิมพ์ยุคแรกๆ คือหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ”

เมื่อสนทนามาถึงประเด็นดังกล่าว มานิจ บอกว่าขอเล่าแทรก เล่าย้อนหลังให้ฟังว่าคุณกำพลเป็นเด็กยากจน ไม่ได้มีเงินเรียนหนังสือ ก็ต้องไปขายของ พอโตขึ้นมาหน่อยจบประถมสี่ก็ไปเป็นเด็กท้ายเรือที่คลองภาษีเจริญ เป็นเรือเมล์รับส่งคนโดยสาร เพราะสมัยนั้นรถพวกสองแถวไม่มี ถนนก็ไม่มี ก็ต้องอาศัยเดินทางกันทางน้ำ ท่านก็เป็นเด็กท้ายเรือ แล้วต่อมาก็มาเป็นนายท้ายเรือขับเรือ พอถึงอายุเกณฑ์ทหารก็ไปเกณฑ์ทหาร ก็เป็นทหารอยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา อยู่จนได้ยศจ่าโทก็ปลดประจำการ แล้วก็เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็ทำงานหลายอย่าง เช่นใช้มีดเหลาทางมะพร้าวสําหรับเสียบหมูสะเต๊ะขายและถีบสามล้อรับจ้างไปด้วย

...ต่อมาไปได้ความคิดจากคนถีบสามล้อที่เป็นคนชอบอ่านข่าว ก็เลยได้ความคิดว่าคนเราบางคน ตื่นขึ้นมายังไม่ทันได้กินอะไรก็มาอ่านข่าวก่อนแล้ว พอดีท่านรู้จักกับคุณเลิศ อัศเวศน์ ที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "หลักไทย" ก็เลยชวนให้ไปทำข่าวที่หนังสือพิมพ์หลักไทย ตอนแรกก็ได้ค่าจ้างวันละห้าสิบสตางค์ คือในอดีตนักข่าวทุกสายไม่ว่าจะเป็นการเมือง อาชญากรรม บันเทิง เขาก็จะไปรวมตัวกันที่ใต้ถุนตึกกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถนนราชดำเนิน พวกนักข่าวเวลามีข่าวอะไรก็คุยกันแลกเปลี่ยนกัน คุณกำพลก็ไปอยู่ที่นั่นได้ค่าจ้างวันละห้าสิบสตางค์ ต่อมาก็ไปหาโฆษณา ท่านถึงได้รู้ว่าการหาโฆษณาทำให้ต้องเป็นหนี้บุญคุณ ถึงได้ห้ามนักข่าวไม่ให้ไปหาโฆษณาให้หนังสือพิมพ์

...ต่อมาคุณเลิศก็ชวนท่านไปออกหนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายสัปดาห์ แล้วก็มาเป็นรายสามวัน แล้วก็มาเป็นรายวัน ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หนังสือพิมพ์ออกไม่ได้ ถูกปิดไปแล้ว เมื่อลูกน้องตอนนั้นไม่มีงานทำ คุณกำพลก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็มีคนมาบอกว่าให้ไปเช่าหัวหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง จากจังหวัดอ่างทองมาออกที่กรุงเทพฯ ท่านก็ไปเช่าหัวหนังสือพิมพ์มาทำเพื่อที่ว่าลูกน้องก็จะได้มีงานทำ ก็เอาหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองมาแต่พิมพ์ในกรุงเทพฯ ก็ทำมาเรื่อยๆ

จุดกำเนิด นสพ.ไทยรัฐ

มานิจ เล่าต่อไปว่า ต่อมาหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองก็มาดังในยุคนั้น เพราะมีการทำข่าว คดีฆาตกรรมนวลฉวี พยาบาลสาวสวย แล้วนำไปทิ้งที่สะพานนนทบุรี เวลานั้นตำรวจสืบไม่ได้ แต่นักข่าวกลับสืบได้ว่าผู้ตายคือใคร จากไหวพริบของนักข่าวที่เห็นแหวนติดนิ้วมือศพผู้หญิงเป็นนามสกุลดัง เป็นหมอ นักข่าวก็สืบจนรู้ว่าเป็นเมียหมอ ก็ไปที่บ้านของหมอคนดังกล่าว ก็ไปสัมภาษณ์แล้วก็เสนอข่าวไปเรื่อยๆ ตำรวจก็ตามข่าวจากหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า  หลังจากนั้นก็มีข่าวดังๆ มากมาย ก็ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดีขึ้นมา จนตอนหลังเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองเห็นว่าขายดี ก็มีนายทุนอื่นไปยุว่าให้ไปเอามาทำเอง อาจได้เงินมากกว่าที่ได้ คุณกำพลท่านก็เป็นคนจมูกไว ก็รู้แล้วหากมาเอาหัวหนังสือพิมพ์คืนก็ยุ่งแน่ ก็เลยไปซื้อหัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาสำรองไว้ โดยให้คุณสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช เป็นคนทำหนังสือพิมพ์ พอเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองเอาหัวกลับไป ก็เลยพากันเข้ามาทำที่ไทยรัฐเลย โดยตอนนั้นก็มีการเขียนไว้ที่หัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จัดทำโดยกองบรรณาธิการเสียงอ่างทอง

จากนั้นไทยรัฐก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนั้นก็มีข่าวดังๆ เช่น คดีสุรพล สมบัติเจริญ, ข่าวเรื่องมิตร  ชัยบัญชา ตกเฮลิคอปเตอร์ ทางไทยรัฐก็เติบโตเรื่อยมา ยอดจำหน่ายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการทำข่าวแบบ human interest ข่าวที่เป็นที่สนใจของชาวบ้าน

เบื้องหลังพาดหัวข่าวในตำนานไทยรัฐ  

                มานิจ-บรรณาธิการอาวุโส นสพ.ไทยรัฐ บอกว่าแนวคิดหลักการทำงานหนังสือพิมพ์-สื่อมวลชน ของนายกำพล ที่ต้องชื่นชมก็คือ แนวทางที่ยึดเรื่องต้องเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง คือแม้ว่าเราจะมีความเห็นแตกต่างจากคนอื่น แต่หากเรามีความเห็นโดยสุจริตก็เป็นเรื่องที่ดี เรื่องที่ถูกต้องและคุณกำพลก็ชื่นชอบ ชื่นชม และท่านปกป้องด้วย ปกป้องคนทำและปกป้องแหล่งข่าวด้วย

...ผมเล่าให้ฟังอยู่เรื่องหนึ่ง สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เวลานั้นพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็น ผบ.ทบ. ที่มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการลดค่าเงินบาท พลเอกเปรมก็มีแนวคิดจะเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. แต่ก็ยังปลดไม่ได้

...ก็มีอยู่วันหนึ่งพลเอกอาทิตย์ไปราชการที่นครราชสีมา เวลานั้นก็มีการเดินเรื่องเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. โดยให้ปลดพลเอกอาทิตย์ ข่าวนี้คนก็ไปได้ข่าวมาจากแหล่งข่าวคนหนึ่ง ก็มีการยืนยันข่าวเรื่องปลด ผบ.ทบ.แน่นอน แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะประกาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยได้หรือไม่ในวันนั้น

...คุณกำพลก็เรียกหัวหน้าข่าว นักข่าวมา ให้เขียนข่าวนี้ไป ก็ให้หัวหน้าข่าวพาดหัวข่าวนี้ แต่มีการลองพาดหัวข่าวหลายพาดหัว พาดอย่างไรก็ยังไม่ถูกใจคุณกำพล เพราะเวลานั้นก็มีแต่การลือว่าพลเอกอาทิตย์จะถูกปลดหรือไม่ จะกล้าปลดพลเอกอาทิตย์หรือไม่ ก็มีการพาดหัวกันหลายครั้ง บางอันก็ยืดเยื้อ อ่านแล้วกว่าจะเกิดความรู้สึกมันช้า เช่น ในที่สุดพลเอกอาทิตย์ก็ถูกปลด คุณกำพลก็มาบอกว่าให้พาดหัวว่า สั่งปลด..อาทิตย์ โดยให้คำว่าอาทิตย์พาดหัวตัวโตๆ เลย ที่เป็นคำพาดหัวของคุณกำพล  หลังหัวหน้าข่าวพาดหัวแล้วไม่ถูกใจ คุณกำพลก็สั่งพาดหัวข่าว สั่งเขียนข่าว มีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ไว้เสร็จหมดแล้ว แต่ห้ามรถส่งหนังสือพิมพ์ออกจากโรงพิมพ์ไทยรัฐในเช้าวันนั้น จนกว่าจะได้ยินวิทยุแห่งประเทศไทยประกาศพระบรมราชโองการ แล้วรถถึงค่อยให้ออกจากโรงพิมพ์ไทยรัฐ จากที่ปกติพอพิมพ์หนังสือพิมพ์เสร็จตี 4 ตี 5 รถส่งหนังสือพิมพ์ก็วิ่งออกไปเลย แต่วันนั้นให้รอ

...ผมก็ถาม ผอ.กำพลว่าแล้วหากวิทยุไม่ประกาศเรื่องนี้ ประกาศไม่ได้ ที่สั่งพิมพ์หนังสือพิมพ์ไว้ทั้งหมดที่เสนอข่าวนี้จะทำอย่างไร ท่านก็บอกหากไม่ประกาศหรือประกาศไม่ได้ หนังสือพิมพ์ทั้งหมดก็ให้ทิ้งหมดเลย กล้าเสี่ยงขนาดนั้น จนต่อมาตอนเจ็ดโมงเช้าพวกเราก็เอาวิทยุมาตั้งเพื่อเปิดฟังข่าวตอนเช้าเจ็ดโมง ก็มีการประกาศเรื่องปลดพลเอกอาทิตย์ ก็เฮกันเลย สั่งรถส่งหนังสือพิมพ์ออกทันทีเลยตอนเช้า  ปรากฏว่าวันนั้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐขายดีเป็นเทน้ำเทท่า คือ ผอ.กำพลอยู่กับพวกเรากอง บ.ก.ตลอดเวลา จะดึกดื่นอย่างไร หากออกไปข้างนอกก็จะกลับมาดูพวกเรา ไม่ได้มาจับผิด แต่มาอยู่เป็นเพื่อน

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในการได้ทำงานกับคุณกำพล ก็คือความฉลาด ความเอื้ออารีกับลูกน้อง  เป็นคนใจนักเลง ใจกว้าง ท่านสอนให้เราเอื้ออารีต่อกันแม้ไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน แต่หากเรามีโอกาสจะช่วยใครก็ต้องช่วย อย่างที่ท่านสนับสนุนการสร้างโรงเรียน ก็เพราะตอนเด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะต้องทำงาน พอมีเงินก็เลยสร้างโรงเรียนให้เด็กได้เรียน และเด็กต้องกินอิ่มด้วย เมื่อก่อนเด็กได้ค่าอาหารหัวละหกบาท ก็ให้เงินมาเพิ่ม

มานิจ-กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ เล่าที่มาที่ไปของการสร้างโรงเรียนไทยรัฐ ที่ถึงสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 111 แห่งว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยาตั้งขึ้นแห่งแรกที่จังหวัดลพบุรี ที่มาที่ไปเกิดจากช่วงเวลานั้นผู้ว่าฯ ลพบุรีติดต่อมายังกอง บ.ก.ไทยรัฐ เพื่อชวนให้ไปเตะฟุตบอลเชื่อมสัมพันธไมตรีกัน เราก็ตอบตกลง พอจัดงานเสร็จผู้ว่าฯ โทรศัพท์มาบอกว่าเงินเหลือจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 58,000 บาท  คุณกำพลก็แจ้งไปว่าแล้วแต่ผู้ว่าฯ จะพิจารณาเช่นไปทำบุญ แต่หลังจากนั้นทางผู้ว่าฯ ก็ยังไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปทำอะไร จนต่อมามีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงผู้ว่าฯ ลพบุรี โดยนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ก็ไปเป็นผู้ว่าฯ ลพบุรีคนใหม่ ซึ่งเขาก็คุ้นเคยกับไทยรัฐเลย เขาเดินทางมาที่โรงพิมพ์ไทยรัฐเลย ก็มาถาม ผอ.กำพลว่าเงินดังกล่าวจะเอาไปทำอะไรดี ก็นั่งคิดกัน พอดีตอนนั้นคุณอุทธรณ์ พลกุล นั่งอยู่ด้วย ก็เสนอว่าเอาเงินไปสร้างโรงเรียน หลายคนก็เห็นด้วย ไทยรัฐวิทยาหลังแรกอยู่กลางทุ่งนาเลย แต่ตอนนี้เจริญแล้วมีถนนเข้าไป พวกห้างค้าปลีกใหญ่ๆ ไปตั้งรายล้อมโรงเรียนหมดแล้วเมื่อก่อนกันดารมาก หลังจากนั้นก็มีคนมาขอ ท่านก็บอกเราพอมีเงินก็ทำให้เขา ช่วงแรกก็สร้างปีละโรงเรียน แต่ตอนหลังบางปีสร้างสิบโรงเรียนก็ยังเคยมี จนไปสร้างแห่งสุดท้ายที่ร้อยเอ็ด 

                ถามปิดท้ายเรื่องการทำงาน การเสนอข่าวของไทยรัฐ ที่อาจทำให้บางฝ่ายไม่พอใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะในอดีต มานิจ-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เล่าว่า ไทยรัฐเองก็เจอตลอดอย่างเช่นตอน 6 ตุลาคม 2519 เราก็เสนอข่าวเป็นกลาง แต่ว่าฝ่ายกระทิงแดง ฝ่ายช่างกลไม่พอใจ มีการมาเดินขบวนข่มขู่ เราก็บอกว่าเราเสนอตามความเป็นจริง หากมีอะไรก็แถลงมา เราจะลงให้  เขาก็บอกไม่เอา พวกนักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัยพูดเก่งกว่า เราก็บอกจะวัดพื้นที่การเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ให้เลย ลงข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยสิบนิ้ว ก็ลงให้ฝ่ายคุณสิบนิ้ว ก็แถลงมา ตอนหลังก็ไม่พอใจ ก็เอาปืนครกมายิง เพราะเมื่อก่อนแถวถนนวิภาวดีรังสิตไม่ค่อยมีตึกอะไร เป็นที่ชาวบ้าน เป็นสลัม ก็ยิงมาติดที่ตึกในไทยรัฐ ส่วนเรื่องระเบิดอะไรต่างๆ ก็มี เมื่อก่อนก็โดนบ่อย อย่างบนทางด่วนจะเห็นแผงกั้น เพราะเมื่อก่อนวิ่งรถจากทางด่วน ก็ยิงปืนครก ขว้างระเบิดเข้ามาบ้าง บางทียิงเข้ามาติดหลังคา

...ในอดีตมีอยู่ครั้งหนึ่งเลขาฯ คุณกำพล ชื่อคุณสมาน แต่อันนี้ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เขาเล่าให้ฟังว่ามีอยู่วันหนึ่งมีคนโทรศัพท์เข้ามา บอกว่าจะขอพูดสายกับคุณกำพล เขาก็ถามว่าจะคุยเรื่องอะไร  ปลายสายก็บอกว่ามีคนจ้างให้เอาระเบิดส่งมาทางไปรษณีย์ แล้วบอกลักษณะกล่อง แล้วเขาบอกว่าแต่ผมสำนึกได้ว่าไม่ควรทำ เลยจะบอกให้ระวัง คุณสมานก็ไปเห็นมีกล่องวางอยู่ ก็บอกขอบคุณ แล้วก็เรียกหน่วยอีโอดีมากู้ ซึ่งก็พบว่าก็เป็นกล่องที่มีนาฬิกา ถ่านไฟฉาย ฟิล์มจุดชนวน ก็แบบนั้นส่งเข้ามา จะข่มขู่หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่คนส่งเขาโทร.มาบอกว่าให้ระวัง อย่าไปเปิดมัน

...บางรายก็มีแบบมาพูดดีๆ ด้วย มาบอกว่า "เบาๆ หน่อยนะ ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น" คุณกำพล  วัชรพล ก็จะบอกคนดังกล่าวไปว่าให้ชี้แจงกับนักข่าวได้เลย จะว่าอย่างไรก็ว่ามาเดี๋ยวลงให้ แต่จะมาบอกว่าให้ช่วยสั่งให้หยุด สั่งไม่ได้ เว้นแต่นักข่าวจะไปเขียนข่าวหมิ่นประมาท.

............................................... 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"