ใกล้ช่วงเขย่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจ คลังเสนอ ครม.ย้ำยึดกฎเหล็ก


เพิ่มเพื่อน    

              การเมืองช่วงนี้ พรรคร่วมรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ เช่น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี-รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี-รองโฆษกรัฐบาล เพื่อให้ไปทำงานที่ทำเนียบรัฐมนตรี และกระทรวงต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขคือ คนที่จะรับตำแหน่งต้องไม่เป็น ส.ส. แต่หากต้องการเป็นก็ต้องลาออก

                โดยหลังจากนี้ พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อจัดสรรเก้าอี้กันลงตัว ก็จะมีการทยอยนำรายชื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเรื่อยๆ หลังทำมาได้สองสัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่หมด ยังเหลืออีกหลายตำแหน่งที่ยังคุยกันอยู่โดยเฉพาะการจัดสรรเก้าอี้ให้กลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก

                อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งแผงอำนาจที่มากด้วยผลประโยชน์ เพราะเป็นกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจในการทำนโยบาย-ทำโครงการต่างๆ ที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลกันเป็นพันล้านหมื่นล้านบาท นั่นก็คือ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องจับตาดูกันต่อจากนี้ ว่าจากเดิมยุครัฐบาล คสช.ที่คุมกระทรวง-บอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนมีการส่ง ท็อปบูต-บิ๊กทหาร ไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนมากทั้งเกรดเอ-เกรดบี-เกรดซี ในช่วงห้าปียุค คสช.

                 แต่มาวันนี้ แม้จะยังเป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ แต่ยามนี้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเข้าไปรับผิดชอบหน่วยงานต่างๆ แทนที่ ซึ่งแน่นอนว่าพรรคการเมือง-นักการเมือง-รัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงต่างๆ และมีบอร์ดรัฐวิสาหกิจอยู่ในสังกัด ก็ย่อมต้องการส่งคนของตัวเอง–คนใกล้ชิด-นายทุนพรรค ไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เพื่อคอยเป็นมือเป็นไม้ เป็นหูเป็นตาให้ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมที่ว่า พอการเมืองเปลี่ยนขั้ว บอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปเป็นกรรมการ ในรัฐบาลชุดหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนรัฐมนตรี

                โดยธรรมเนียม บอร์ดรัฐวิสาหกิจก็มักจะรู้ตัวดีว่าเวลาหมดลงแล้ว โดยบางคนก็เลือกที่จะลาออกเอง ไม่ต้องให้ฝ่ายการเมืองกดดันหรือส่งสัญญาณให้ลาออก ซึ่งรัฐวิสาหกิจแห่งไหนมีผลประโยชน์มาก เป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอ มีการต้องตัดสินใจอนุมัติโครงการใหญ่ๆ อีกทั้งตัวบอร์ดก็มี ค่าตอบแทนเช่นเบี้ยประชุมสูง-สวัสดิการต่างๆ ดี เช่น มีงบพาไปดูงานต่างประเทศเยอะ ฝ่ายการเมืองก็มักส่งคนของตัวเองไปนั่งกันยกแผง แต่ก็มีบางแห่งบอร์ดไม่ยอมลาออกง่ายๆ จนมีการงัดข้อกับฝ่ายการเมืองให้เห็นกันมาแล้ว

                อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีข่าวว่ากำลังมีการงัดข้อกันระหว่างฝ่ายการเมืองในกระทรวงคมนาคม กับฝ่ายกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย ในเรื่องการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดการบินไทย เป็นต้น

                อย่างไรก็ตาม พบว่าหลังรัฐบาลประยุทธ์ 2 เข้ามา เวลานี้ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกันจนเป็นที่ฮือฮา อาจเพราะรัฐมนตรีแต่ละคนเพิ่งเข้าไปทำงาน ตอนนี้รอให้จัดตัวทีมงานหน้าห้อง ทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรี รวมถึงทีมงานที่มาช่วยงานแบบไม่เป็นทางการให้ลงตัวเสียก่อน

                จากนั้นก็คาดว่าบรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่มีบอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงและเป็นหน่วยงานที่ตัวเองรับผิดชอบ คงได้เริ่มเตรียมจัดทัพบอร์ดรัฐวิสาหกิจตามมาหลังจากนี้ โดยคาดว่าช่วงกันยายน–ตุลาคม น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจกันหลายแห่ง

                ทั้งนี้มีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจในทุกกระทรวงรวมกันแล้วทั้งสิ้น 56 แห่ง โดยมีข้อมูลทางวิชาการอ้างว่า รัฐวิสาหกิจของประเทศไทย รวมกันแล้วมีสินทรัพย์ร่วม 14 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีถึง 4.3 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิ 1.9 แสนล้านบาท

                ก็ให้รอติดตามกันให้ดีว่า หลังจากนี้ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกันอย่างไรบ้าง หรือจะปล่อยไว้แบบเดิม ไม่ไปแตะ เว้นแต่อาจมีบ้างที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

                อย่างไรก็ตาม มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อพบว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ “แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ” โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญบางส่วนเช่น

                1.คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 มีมติรับทราบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอ และให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ดังนี้

                (1) ให้นำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนและพัฒนารัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กรณีกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจได้กำหนดความเชี่ยวชาญไว้เป็นการเฉพาะการกำหนด Skill Matrix ต้องเป็นไปตามความเชี่ยวชาญดังกล่าวด้วย

                (2) กำหนดสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิในภาคธุรกิจเอกชนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่น/ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ จากภาคธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น

                (3) ไม่แต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนด หรือกรณีการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัทที่รัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องของการปฏิบัติงานของผู้บริหารสูงสุดและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

                (4) ไม่แต่งตั้งอัยการและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

                (5) ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2548 เป็นต้น

                2.คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การกำหนด Skill Matrix

                ให้ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณากำหนด Skill Matrix ของกรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับภารกิจและยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจใช้ในการพิจารณาสรรหาบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับ Skill Matrix ทั้งนี้ จำนวน Skill Matrix ต้องไม่เกินกว่าจำนวนกรรมการทั้งคณะ

                ขั้นตอนที่ 2 การสรรหาและการเสนอชื่อ

                ในกรณีที่ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณารายชื่อบุคคลที่ได้มาจากการสรรหาหรือการเสนอชื่อจากกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองเท่าของจำนวนตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะต้องแต่งตั้งเสนอต่อฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณา โดยกรณีที่มีกรรมการครบวาระให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนำเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือน

                ทั้งนี้ ในการแต่งตั้งกรรมการที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งหมายความรวมถึงประธานกรรมการและรองประธานกรรมการที่มิใช่โดยตำแหน่ง บุคคลที่ได้รับการสรรหาและเสนอชื่อต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด และมีความรู้ความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับ Skill Matrix และเป็นไปตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ

                โดยให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งของรัฐวิสาหกิจนั้น ให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณารายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเสนอรวมกับรายชื่อบุคคลจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ สคร.เสนอ และรายชื่อบุคคลที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจเสนอ

                ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาคัดเลือก

                ให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเสนอประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ

                ขั้นตอนที่ 4 การเห็นชอบรายชื่อ

                เมื่อประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งแล้วให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีหรือดำเนินการเพื่อแต่งตั้งตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของรัฐวิสาหกิจต่อไป

                กรณีกรรมการผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดว่างลงให้กระทรวงเจ้าสังกัดเสนอแต่งตั้งผู้แทนเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดให้แต่งตั้งข้าราชการประจำในกระทรวงเจ้าสังกัดซึ่งไม่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น (Regulator) ได้แก่ หน่วยงานที่ให้สิทธิหรือพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการ หรือกำหนดโครงสร้างราคาสินค้าและบริการ และค่าธรรมเนียม หรือกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการประกอบกิจการ

                สำหรับการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจลูก ให้รัฐวิสาหกิจลูกดำเนินการกำหนด Skill Matrix และดำเนินการสรรหาและเสนอชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจโดยความเห็นชอบของรัฐวิสาหกิจแม่ และเสนอฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดต่อไปด้วย ทั้งนี้ กรณีรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด และรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ดำเนินการตามขั้นตอนและแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"