ความหวังปฏิรูปการศึกษา กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่


เพิ่มเพื่อน    

                หนึ่งในความหวังจากรัฐบาลใหม่ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วก็คือการศึกษาที่เป็นปัญหาใหญ่หลวงมายาวนาน

                ใครที่ยังมีความหวังว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาได้จริงๆ ควรจะวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานชิ้นนี้เพื่อหาทางสร้าง "ความสามารถในการแข่งขัน" ทางด้านการเรียนการสอนระดับมัธยมให้มีผลทางปฏิบัติชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ครับ

                รายงานนี้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน แต่ยังเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับรัฐมนตรีศึกษาท่านใหม่ เพื่อที่จะแก้ไขจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยให้จงได้

                รายงานชิ้นนี้บอกว่า สิงคโปร์ขึ้นแท่นอันดับ 1 ม.ปลายดีที่สุดในโลกขณะที่เวียดนามแซงขึ้น

                ข่าวร้ายคือประเทศไทยนั้นติดอันดับที่ร่วงหล่นลงมาอีกแล้ว

                รายงานนี้อาจจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2560 แต่ก็ยังเป็นข้อมูลทันสมัย เพราะมาตรฐานโรงเรียนมัธยมของไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้น

                รายงานชิ้นนี้บอกว่าคุณภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แจ้งว่า Organisation for Economic Co-operation  and Development (OECD) ได้เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน Universal Basic Skills What Countries  Stand To Gain

                ซึ่งได้มีการวิเคราะห์และจัดอันดับระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน 76 ประเทศทั่วโลก และพบว่ามี 20 ประเทศอันดับแรกที่สามารถจัดระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายดีที่สุดในโลก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์

                อันดับ 2 เกาะฮ่องกง

                อันดับ 3 ประเทศเกาหลี

                อันดับ 4 ประเทศญี่ปุ่น

                อันดับ 5 ประเทศไต้หวัน

                อันดับ 6 ประเทศฟินแลนด์

                อันดับ 7 ประเทศเอสโตเนีย

                อันดับ 8 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

                อันดับ 9 ประเทศเนเธอร์แลนด์

                อันดับ 10 ประเทศแคนาดา

                อันดับ 11 ประเทศโปแลนด์

                อันดับ 12 ประเทศเวียดนาม

                อันดับ 13 ประเทศเยอรมนี

                อันดับ 14 ประเทศออสเตรเลีย

                อันดับ 15 ประเทศไอร์แลนด์

                อันดับ 16 ประเทศเบลเยียม

                อันดับ 17 ประเทศนิวซีแลนด์

                อันดับ 18 ประเทศสโลวีเนีย

                อันดับ 19 ประเทศออสเตรีย

                อันดับ 20 ประเทศอังกฤษ

                โดยประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในปีนี้ก็คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12 ในขณะที่ประเทศไทยตกไปอยู่ในอันดับที่ 47 ดีกว่าประเทศมาเลเซียอยู่ไม่มากนัก

                เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศมาเลเซียจะสามารถพัฒนาระบบการศึกษาขึ้นมาได้เทียบเท่ากับประเทศไทย เพราะในขณะนี้ประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างการเร่งปฏิรูปการศึกษาให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

                อาจารย์ภาวิชตั้งข้อสังเกตว่า ผลการจัดอันดับชุดนี้เป็นการนำข้อมูลการทดสอบ ทั้งโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) และการสอบภายในประเทศ เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET  มาวิเคราะห์และนำมาจัดอันดับ เป็นต้น

                ผลที่ออกมาไม่เป็นที่น่าแปลกใจมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับการจัดการศึกษาในระดับนานาชาติของหน่วยงานอื่น

                ข้อมูลของหลายแหล่งประมวลแล้วพบว่าไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย

                นั่นเท่ากับว่าการพัฒนาของเราหยุดนิ่งขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเดินไปข้างหน้า

                นั่นย่อมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพราะทั่วโลกจะมองข้ามประเทศไทย

                อาจารย์ภาวิชตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมหลักหลายประเภทที่เคยมีฐานการผลิตในประเทศไทยเริ่มย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

                ด้วยเหตุนี้เราจึงควรหันกลับมาเร่งพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง

                อาจารย์ภาวิชบอกว่า

                "โดยหลักการแล้วเราเห็นด้วยว่าเด็กไทยทุกวันนี้เรียนมากเกินไป แต่การลดเวลาเรียนต้องทำอย่างเป็นระบบแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหลักสูตรปัจจุบันจัดการเรียนการสอนโดยเน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้น การปรับลำดับแรกจึงควรสร้างหลักสูตรใหม่ที่ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่เรียน

                โดยบางวิชาที่เคยเรียนในห้องเรียนก็สามารถนำมาจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ เช่นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาผมได้จัดทำหลักสูตรใหม่ที่ลดเวลาเรียนลงเหลือ 660 ชั่วโมงต่อปี รวมถึงมีตัวอย่างกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาเรียน"

                นี่เป็นเพียงเรื่องราวของการศึกษาระดับมัธยมปลาย หากมองภาพรวมถึงระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัยด้วยแล้วก็ยิ่งจะมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก

                คนไทยคงกำลังรอให้รัฐมนตรีศึกษาฯ ท่านใหม่ คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาฯ อีกสองท่านคือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กับคุณกนกวรรณ วิลาวัลย์

                อย่าให้ใครปรามาสได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็น "กระทรวงเกรด C" ทีเดียวนะครับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"