ถกผู้นำท้องถิ่นภาคกลาง นายกขอเลือกตั้งอย่าป่วน


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ถกผู้นำท้องถิ่นภาคกลางตอนล่าง ปชป.-ชทพ.-พท.โผล่พรึ่บ! ยื่นจดแจ้งพรรคใหม่วันที่สองไม่คึกเพิ่มแค่ 2 "สุเทพ" โบ้ยน้องชายตั้งพรรคมวลมหาประชาชน แบะท่าพร้อมช่วยเพื่อประเทศชาติ เพื่อแม้วปัดตั้งวงสุมหัวการเมือง อ้างแค่นัดกินกาแฟ 2-3 คน ปฏิเสธ "หน่อย-เหลิม" ปะทะเดือด "พรเพชร" นัด สนช.โหวตกฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. 8 มี.ค. 
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ซึ่ง กกต.ได้เปิดให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นวันที่สองนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 10.20 น. มีกลุ่มพลังปวงชนไทย นำโดยนายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พร้อมสมาชิกเข้ายื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองในลำดับที่ 43 โดยนายพันธุ์ศักดิ์กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มมาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ ทนายความ ปราชญ์ชาวบ้าน  รวมถึงอดีตสมาชิกพรรคต่างๆ อาทิ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ มหาชน ประชากรไทย 
    นายพันธุ์ศักดิ์กล่าวถึงกรณีรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกว่า ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ  คนนอกหรือคนใน หากเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเราต้องฟังเสียงประชาชน และต้องเป็นไปตามกฎหมายและความชอบธรรม ส่วนที่มีหลายพรรคแสดงจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ คนนอกนั้น กลุ่มเราจะเสนอชื่อนายกฯ เช่นกัน ซึ่งหากเป็นนายกฯ ที่มาจากประชาธิปไตยจะดีกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่าจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ
    จากนั้นเวลา 11.45 น. นายอติโรจ บุญใย รองประธานหอการค้าเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยผู้ก่อตั้งเข้ายื่นขอจดแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ในชื่อพรรคพัฒนาประเทศไทย เป็นลำดับที่ 44 โดยนายอติโรจกล่าวว่าพรรคมีที่ทำการใหญ่อยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ไม่ใช่พรรคท้องถิ่น พรรคพร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทุกเขตเลือกตั้ง โดยได้คัดเลือกสมาชิกจากกลุ่มเกษตรกร ซึ่งนโยบายต้องพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ทั้งนี้ไม่ได้เป็นพรรคของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่มีความเป็นกลาง โดยมั่นใจว่าจะมีเสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภาไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่ง  เพราะมีฐานเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะส่งผู้สมัครทุกเขตเพื่อพิสูจน์ฝีมือ  
    นายอติโรจยังกล่าวถึงกรณีมีนายทหารร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคว่า ทหารมีข้อดีในเรื่องของการได้มวลชนในพื้นที่ โดยพรรคมี พล.อ.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ด้ง อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค    ส่วนจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ยังไม่ขอตอบ ต้องพิจารณาว่าใครจะเหมาะสม อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพิจารณาว่าท่านสนับสนุนใส่ใจนโยบายของพรรคเรามากน้อยแค่ไหน
    ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)  และสมาชิก คสช.กล่าวถึงกรณีกลุ่มการเมืองใหม่ยื่นขอจดทะเบียนพรรคกันคึกคักว่า เป็นสัญญาณที่ดี ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนโรดแมป ส่วนการดูแลสถานการณ์ต่อจากนี้ที่จะมีการผ่อนปรน ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้นั้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้ทำความเข้าใจโดยมีชุดลงพื้นที่ต่างๆ ทุกคนจะได้รับทราบและทำตามกรอบกติกาที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนก.พ.62 
สุเทพโบ้ยน้องตั้งพรรค
    ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และอดีตเลขาธิการ กปปส. กล่าวถึงกรณีนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์  น้องชายยอมรับจะจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มปท.) ว่า นายธานีเป็นนักการเมืองและประชาชนคนหนึ่ง ไม่ควรเหมาว่าการที่นายธานีพูดอะไรออกมาจะเป็นการพูดหรือออกมาจากใจของตน เพราะนายธานีมีความคิดส่วนตัวต่างหากที่อยากจะทำ ไม่ใช่ความผิดอะไร และตนไม่ใช่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่จะต้องมีนอมินีหรือตัวแทน 
    "ไม่มีเหตุที่นายธานีต้องมาปรึกษาผม แต่ส่วนตัวแล้วไม่ได้ปฏิเสธหน้าที่ในฐานะประชาชน ที่มีอิสรเสรีในความคิดเหมือนกับประชาชนและมีใจพร้อม ถ้าประชาชนมีความตั้งใจกันจริงๆ ก็จะรับใช้ประชาชนตามกำลังความสามารถและประสบการณ์ที่มี ผมพูดจาชัดเจนต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศเป็นสัจวาจาแล้วว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะไม่รับตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมืองใดๆ และจะไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น โดยจะวางบทบาทตัวเองในฐานะเป็นคนทำงานรับใช้ประชาชน" นายสุเทพระบุ 
    สำหรับภารกิจของ กปปส.นั้นจบลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ซึ่งพี่น้องประชาชนที่มาร่วมต่อสู้ต่างกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมของตัวเอง รวมถึงนักการเมืองกลับไปที่พรรคการเมืองของตัวเอง ส่วนตนได้ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ตัดสินใจออกมาต่อสู้กับประชาชน และจะไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว
     ส่วนประชาชนที่มีแนวความคิดสืบทอดเจตนารมณ์ กปปส.อาจมีแนวคิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาก็ได้ ซึ่งตนจะดูว่าประชาชนทั้งหลายคิดอย่างไร แต่ไม่ต้องการออกมาชี้นำ เมื่อถึงเวลาที่จะตัดสินใจจะดูจากสถานการณ์และความตั้งใจของประชาชนเหล่านั้นเป็นหลัก
    "ขอย้ำว่าตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่การจะไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเป็นสิทธิ์ของประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว เมื่อใดที่ประชาชนที่ตนเชื่อถือศรัทธาประกาศว่าจะตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติให้เห็นประจักษ์ จะไปร่วมและไปช่วย เพราะมีความสันทัดในเรื่องนี้ เป็นนักการเมืองมากว่า 40 ปี และคิดว่าทำประโยชน์ให้ประชาชนได้" นายสุเทพกล่าว
    เมื่อถามย้ำว่าจะจัดตั้งพรรคหรือสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้งหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่าตนทำการเมืองไม่ได้ทำเพื่อตัวบุคคล และคิดว่าประชาชนที่จะทำพรรคการเมืองต้องมุ่งมั่นที่จะทำพรรคการเมืองเพื่อประเทศชาติ แต่โดยส่วนตัวในวันนี้ประกาศชัดเจนว่ายังไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ของประเทศไทย แล้วยังคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้ 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ตนรับผิดชอบ มีการพูดคุยกันเป็นการภายใน โดยอดีต ส.ส.กทม.ที่เป็น กปปส.ต่างยืนยันพร้อมจะลงสมัครในนามพรรคเช่นกัน อย่างไรก็ตามพรรคดำเนินการในส่วนที่ทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่นการดำเนินการเตรียมนโยบายพรรคที่จะเสนอต่อประชาชน นโยบายที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ และอีกส่วนเตรียมผู้สมัครในพื้นที่ที่พรรคไม่มี ส.ส.อยู่ ดังนั้นขณะนี้จึงเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของพรรคเราเอง เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดโดยไม่ขัดคำสั่ง คสช. 
    ส่วนพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะ กปปส.ที่อาจจะกระทบต่อประชาธิปัตย์นั้น นายองอาจ กล่าวว่าให้ความเคารพในสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล ที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาทำงานการเมืองร่วมกันได้ และเวลามีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าพรรคอะไรก็ตาม เขาต้องมีความพยายามที่จะให้ประชาชนสนับสนุนพรรคของตัวเอง หากบอกว่าไม่กระทบคงเป็นไปไม่ได้ ก็มีผลกระทบบ้างจากคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งพรรคต้องทำงานหนักโดยอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าควรจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต่อเพราะอะไร เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่หรือไม่ นายองอาจกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค เชื่อมั่นว่าสมาชิกพรรคส่วนมากให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เพื่อนำพรรคต่อไป
ปัดหน่อยปะทะเหลิม
    ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมพร้อมดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่จะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 เม.ย. มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ แยกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ให้ความสนใจในความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย แต่ข่าวที่นำเสนอมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงอยู่มาก ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีการจัดประชุมและไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ได้ 
    ส่วนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองนั้น สามารถทำได้ผ่านช่องทางการสื่อสารทั่วไปอยู่แล้ว หรือหากจะมีพบกันกลุ่มเล็กๆ 2-3 คน มีเพียงการนัดกินกาแฟหรือทานข้าวกันเท่านั้น ยิ่งกรณีที่มีข่าวว่าประชุมกลุ่มย่อยโดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะนายสมชายไม่ได้เข้าพรรคมานานมากแล้ว สำหรับเรื่องหัวหน้าพรรค  พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ที่มีข่าวว่าบุคคลระดับแกนนำของพรรคมีความขัดแย้งก็ไม่เป็นความจริง ธรรมชาติของสถาบันทางการเมืองอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยไม่เคยนำเอาความเห็นที่แตกต่างไปเป็นความขัดแย้งภายในพรรคอย่างแน่นอน 
    ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งให้นัดประชุม สนช.ในวันที่ 8 มี.ค.นี้เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน  3 ฝ่ายระหว่าง สนช., คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กกต.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ตามขั้นตอนหากที่ประชุม สนช.มีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ในทางกลับกันหากที่ประชุม สนช.มีมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 165  เสียงจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 248 คนมีมติไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.มีอันต้องตกไปและดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ใหม่อีกครั้ง
    สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กมธ. 3 ฝ่ายได้พิจารณาเสร็จแล้วนั้น มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ การกำหนดในบทเฉพาะกาลให้นำวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.ได้เสนอทั้งเรื่องการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม การให้บุคคลสมัคร ส.ว.ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล และการยกเลิกนำระบบการเลือกไขว้มาใช้กับการเลือก ส.ว.ใน 5 ปีแรก แต่หลังจากเมื่อพ้นเวลา 5 ปีจะกลับไปใช้ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามที่ กรธ.บัญญัติ ทั้งการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม การสมัคร ส.ว.ในนามอิสระเท่านั้น และการเลือกไขว้
    ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายได้ปรับแก้เนื้อหาดังนี้ 1.ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถูกตัดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง และข้าราชการรัฐฝ่ายการเมือง รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น 2.ให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองมีหมายเลขผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งแตกต่างกัน 3.การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด โดยจะกำหนดให้ใช้จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคำนวณมิได้ 4.ห้ามทำการหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี 5.ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และ 6.ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนคนพิการ โดยให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ปชป.-ชทพ.-พท.โผล่รับตู่
    ที่เขาวัง จ.เพชรบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดสมุทรสาครและเพชรบุรี ได้พบปะผู้นำท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 หรือเพชรสมุทรคีรี   โดยในส่วน จ.สมุทรสาคร ได้แก่ นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร, นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีต ส.ว.สมุทรสาคร, นายวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีต ส.ว.สรรหา,  นายนิติรัฐ สุนทรวร อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุนทร วัฒนาพร อดีต ส.ว.สมุทรสาคร ขณะที่ จ.สมุทรสงคราม ได้แก่ นายสมชัย ตันประเสริฐ นายกเทศมนตรีเมือง, นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ 
    ส่วน จ.เพชรบุรี ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร, นายอรรถพร พลบุตร, นายกัมพล สุภาแพ่ง, นายอภิชาติ สุภาแพ่ง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายยุทธพล อังกินันทน์ อดีต ส.ส.ชาติไทยพัฒนา, นายชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี, นายพลยุทธ อังกินันทน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี, น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีต ส.ว., นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีต ส.ว., นายสุชาติ อุสาหะ อดีต ส.ว., นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง, นายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ, จ.อ.อภิชาติ แก้วโกศล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านลาด และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ นายไชยณรงค์ เชื้อวงศ์สกุล รองนายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์, นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน และนายชิตชัย จิวะตุวินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลบางสะพานน้อย 
    ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตั้งจุดสแกนวัตถุต้องสงสัยและบุคคลผ่านเข้าออก ที่ต้องติดบัตรและแสดงตัวก่อนขึ้นบริเวณสถานที่หารือกับผู้นำท้องถิ่น และมีสารวัตรทหารดูแลความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ได้ทำการสกัดไล่ฝูงลิงเพื่อป้องกันการรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
    โดยนายมณฑล  ไกรวัตนุสสรณ์ กล่าวก่อนการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์และผู้นำท้องถิ่นภาคกลางตอนล่างว่า จะเสนอโครงการการก่อสร้างสะพานต่างระดับถนนพระรามที่ 2 แยกบ้านแพ้ว การก่อสร้างถนนผังเมือง จ.1 ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 2 กับถนนเอกชัย โดยต้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน นอกจากนี้ท้องถิ่นได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อประชากร 
    เมื่อถามว่าต้องรอให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือไม่ นายมณฑลกล่าวว่า "ไม่ออกความเห็น แล้วแต่ ฯพณฯ" เมื่อถามย้ำมีหลายฝ่ายสนับสนุนให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งต่อไป นายมณฑลกล่าวว่าจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อแล้วแต่ท่าน
    นายยุทธพล อังกินันทน์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากของเพชรบุรี  คือขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรี และขุดคลองสาขาคือคลองสาย 3 เพื่อระบายน้ำออกไปยังหาดปึกเตียน ที่จะสามารถระบายน้ำได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในตัวจังหวัด หวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณา เพราะขณะนี้ขาดงบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท
    ต่อมาเวลา 18.20 น. ที่อาคารราชธรรมสภา อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) ต.คลองกระแซง อ.เมืองเพชรบุรี พล.อ.ประยุทธ์พบคณะผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรสมุทรคีรี: เพชรบุรี-สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร-ประจวบคีรีขันธ์) โดยนายกฯ กล่าวกับคณะผู้นำท้องถิ่นว่า อยากขอให้ทุกคนมองประเทศชาติไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรกับประเทศ ที่ผ่านมานั้นผู้นำท้องถิ่นทุกคนมีบทบาทมาตลอดในการทำงานให้กับท้องถิ่น ซึ่งในการทำงานของนายกฯ เองก็ไม่มีเจตนาทางการเมือง เป็นการตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ไม่ใช่เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ทำเพื่อแก้ไขสิ่งที่ติดขัด แก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่สามารถทำได้  
    ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นก็จะเลือกตั้งลำบาก จึงไม่อยากให้เกิดปัญหาความวุ่นวายขึ้นอีก และไม่อยากให้มีการต่อต้านการเลือกตั้ง เพราะได้มีการวางโรดแมปไว้แล้ว จึงขอให้ผู้นำท้องถิ่นช่วยกันทำให้ประเทศปลอดภัย มีความมั่นคงยั่งยืน และต้องคิดทบทวนว่าจะทำให้การเมืองนำพาประเทศชาติเข้มแข็งได้อย่างไร อีกทั้งในการทำงานของผู้นำท้องถิ่นจะต้องทำให้ประชาชนรับรู้ จะต้องตอบโจทย์การปฏิรูป และจะต้องตอบยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ อย่าทำให้ประชาชนเลือกที่รักมักที่ชัง ให้มีความจริงใจต่อกัน รวมทั้งต้องทำให้ไม่เกิดปัญหาการเมืองเพื่อทำให้คนไทยมีความสุข" นายกฯ กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ผู้นำท้องถิ่นช่วยกันคิดทำสิ่งใหม่ๆ ตนจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น และจะไม่ปล่อยให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศ ทั้งนี้สิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลทำก็เพื่อประชาชนทุกคน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"