เพิ่งเริ่มต้น "อย่าด่วนสรุป"


เพิ่มเพื่อน    

                 เมื่อวาน ผมบอก.....

                ให้ "สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ" กับคดีเผาบ้าน-เผาเมือง ปี ๕๓ ที่ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง ๒๔ แกนนำ นปช.

                ปรากฏว่า

                บ้างเข้าใจ บ้างไม่เข้าใจ ที่เข้าใจก็สาธุ ที่ไม่เข้าใจ ก็เตะข้างฝาเปรี้ยง

                บางคนข่มใจ บอก...ก็ดี จบๆ กันไป บ้านเมืองจะได้เดินหน้าซะที

                แทงหวยไม่ผิดจริงๆ ถึงได้บอกแต่แรก อย่าใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นที่ตั้ง

                ย้ำให้สนใจประโยคหนึ่งในคำตัดสิน ไม่ทราบได้ใคร่ครวญกันหรือเปล่า ที่ศาลบอกว่า....

      "วันที่เกิดเหตุการณ์ในแต่ละสถานที่นั้น ขณะที่หากมีการกระทำผิดเป็นรายบุคคล ก็ต้องพิจารณาดำเนินคดีเป็นรายๆ"

                นั่นคือ คดีนี้ ผมว่าอัยการฟ้องแบบ "ครอบจักรวาล"

                คือตั้งข้อหา "ก่อการร้าย"

                แต่ฝ่ายโจทก์ คืออัยการ ไม่สามารถนำสืบได้ว่า ที่ ๒๔ นปช.ทำนั้น เข้าข่ายก่อการร้าย ตามมาตราที่ฟ้อง

                ในคำตัดสินของศาล จึงมีว่า......

                "พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีพยานใดยืนยันว่าการกระทำตามที่โจทก์นั้น นปช.คนใด ดำเนินการอย่างไร ที่จะเป็นความผิดก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๕/๑, ๑๓๕/๒"

                แบบนี้ ต้องพินิจไปที่การทำสำนวนดีของ "ดีเอสไอ-อัยการ" ว่าเป็นอย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกหรือไม่ ว่า

                "สำนวนอ่อน"!?

                ดังนั้น ผลคดีออกมาเช่นนี้ เพ่งพินิจเฉพาะที่คำตัดสิน อันเป็นปลายน้ำไม่ได้

                ต้องไปดูจากต้นทาง คือ DSI-อัยการ ตั้งแต่ยุคนั้น ว่าเขาทำกันมาแบบไหน?

                ถาม "ธาริต" คนทำคดี จาก "ยุคอภิสิทธิ์" แล้วเปลี่ยนสีทันที เมื่อ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เข้ามา

                นั่นแหละ น่าจะตอบได้.......

                ว่า จาก "ต้นน้ำ-กลางน้ำ" ทำไมสำนวนคดีถึง "หลวมโพรก" อย่างนี้!?

                "หลวม-ไม่หลวม" ดูในคำตัดสิน ก็จะทราบ

                "โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม ๕ สำนวน ขอให้ลงโทษฐานก่อการร้าย โดยบรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิด

                และไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วย

                จึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ

                ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะนายอริสมันต์ จำเลยที่ ๒๔ ในความผิดฐานต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้น ฟังได้ว่า.........

                เป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒๔ กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน

                และศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔)

                ครับ...ก็อย่างที่บอก ในเหตุการณ์ที่เรียกเผาบ้าน-เผาเมืองนั้น นี่เป็นเพียง ๑ สำนวนคดีเท่านั้น

                เหมือน "บทคำนำ" หนังสือ ยังมีหน้าต่อไปอีกหลายบท คือยังมีอีกหลายสำนวนคดีสามารถฟ้องได้ ที่ยกฟ้องไปนี้ แค่ ๑ สำนวนคดี ในข้อหาก่อการร้ายเท่านั้น

                 ตามที่ศาลบอก

                ".....หากมีการกระทำผิดเป็นรายบุคคล ก็ต้องพิจารณาดำเนินคดีเป็นรายๆ"

                อีกทั้งคดีก่อการร้าย ที่มี ๒๔ แกนนำ นปช.เป็นจำเลยและศาลยกฟ้องไปนี้ เป็นเพียงศาลชั้นต้น

                อัยการต้องอุทธรณ์อยู่แล้ว หนังชีวิต ก็ต้องยาวอย่างนี้แหละ

                อันที่จริง ผมว่า หลายคน อาจยังไม่เข้าใจระบบของศาล เมื่อไม่เข้าใจ ก็เหมือนดูฟุตบอลไม่รู้กติกา ดูได้...แต่จะเข้าใจผิดๆ ถูกๆ

                "ศาลอาญา" เป็นระบบกล่าวหา คือศาลท่านจะเป็นคนกลาง

                มีหน้าที่ฟังฝ่ายโจทก์-ฝ่ายจำเลยอย่างเดียว....

                จะไปซักถาม ไปหาพยานหลักฐานใดๆ ในคดีเองไม่ได้

                เป็นหน้าที่ฝ่าย "โจทก์-จำเลย" โดยตรง

                คืออัยการ "ฝ่ายกล่าวหา" เป็นโจทก์ เมื่อกล่าวหาเขา ก็ต้องเอาพยานหลักฐานมาแสดงว่าเขาผิดจริง

                กับ "ฝ่ายถูกกล่าวหา" โดยทนายความ "เป็นจำเลย" เมื่อจะสู้ให้พ้นข้อกล่าวหา ก็ไปหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาเขาให้ตก

                นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องเอาหลักฐานมาสู้กัน มาหักล้างกันเอง "ต่อหน้าศาล"

                ศาลจะฟังการโต้ตอบ การซักพยาน การแสดงพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่หักล้างกัน และบันทึกความไว้

                ดังนั้น ในระบบกล่าวหานี้....

                ฝ่ายไหน "ผิด-ถูก" ขึ้นอยู่กับใครมีพยานหลักฐาน นำมาสืบ นำมาแสดงได้จะแจ้งกว่ากัน เป็นหลักใหญ่

                ส่วนฝ่ายไหน แม้ว่าถูกในข้อเท็จจริงก็เถอะ แต่ขาดพยานหลักฐานที่จะนำมาหักล้างสู้กับอีกฝ่ายไม่ได้

                ศาลจะถือว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายนั้นเอง การตัดสิน ศาลจะพิเคราะห์ตามน้ำหนักพยานหลักฐานแต่ละฝ่าย

                จึงมีคำที่เราชินหู ที่ว่า...

                "ยกประโยชน์ในข้อนี้ให้แก่จำเลย" นั่นแหละ!

                ในสำนวนคดีก่อการร้ายที่ยกฟ้อง ก็เข้าลักษณะนี้ คือมีส่วน "ยกประโยชน์ให้จำเลย"

                เพราะอัยการ "ฝ่ายโจทก์" นำพยานหลักฐานมาแสดงไม่ได้ว่า ๒๔ แกนนำ นปช.มีการกระทำเข้าองค์ประกอบ "ก่อการร้าย" ตามที่ฟ้อง

                น่าจะเข้าใจดีขึ้นแล้วนะ ยกฟ้องแค่คดีครอบจักรวาลคดีเดียว

                ที่เป็นความผิดรายบุคคล ที่ต้องคำเนินคดีเป็นรายๆ ไป ยังมีอีกเยอะ อย่าเพิ่งปลงจนหนีไปบวชเป็น "สมีจูเลี่ยน" ซะล่ะ

                อย่างเช่นคดี "พลเอกร่มเกล้า"

                นปช.ขว้างระเบิดใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างการสลายชุมนุม นปช. เมื่อ ๑๐ เม.ย.๕๓ ที่สี่แยกคอกวัว

                อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง “นายสุขเสก พลตื้อ” แนวร่วม นปช. และ “นางพรกมล บัวฉัตรขาว" หรือ "นางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์” อดีตผู้ดำเนินรายการทีวีสถานีเอเชียอัพเดท เมื่อ ๒๘ มี.ค.๖๒

                ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินผู้อื่น จนเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย

                ศาลปล่อยตัวทั้ง ๒ คน ชั่วคราวระหว่างการพิจารณา

                นี่ก็อยู่ในภาพใหญ่ของเรื่องราว "เผาบ้าน-เผาเมือง" แต่แยกฟ้องรายคดี-รายบุคคล

                ที่น่าสนใจคือ เมื่อ ๕ สิงหา.นี้เอง "คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม" ภรรยา "พล.อ.ร่มเกล้า"

                ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอเป็น "โจทก์ร่วม" ในคดีที่อัยการฟ้องนี้ ซึ่งศาลท่านก็อนุญาตแล้ว

                ก็ดีไปอย่าง ถึงไม่ได้มีพยานหลักฐานใดมาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในสำนวนฟ้องของอัยการ

                แต่การเป็นโจทก์ร่วมของคุณนิชา อย่างน้อยก็จะช่วยเสริมการทำงานอัยการในจุดนี้ได้บ้าง

                จะได้ไม่ "หลวม" เหมือนคดีก่อการร้ายนั่นไงล่ะ!

                ส่วนนายอริสมันต์ ๑ ใน ๒๔ นปช.ที่ศาลบอก "ฟ้องซ้ำ" และรอดคดีก่อการร้ายนั้น

                เมื่อปี ๕๘ ศาลจังหวัดพัทยา ตัดสินจำคุก ๔ ปี พร้อมพวก ๑๕ คน ในคดีบุกการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยา เมื่อปี ๒๕๕๒

                ศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น คือโทษคุก ๔ ปี

                นายอริสมันต์กับพวกฎีกา........

                ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอฎีกาเป็นศาลสุดท้าย แต่วานซืน (๑๓ ส.ค.๖๒)

                นายอริสมันต์ไปร้องอัยการสูงสุด ขอให้อัยการ "ถอนฟ้อง"

                เนื่องจากพยานโจทก์ในคดีถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จ

                นี่เขาว่า คนมันจะถึงคราว ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนโทษคุก ๔ ปีไว้แล้ว ที่ยังไม่เข้าคุก เพราะตัวเองฎีกา

                แล้วไปขอให้อัยการถอนฟ้อง!?

                สมมุติว่าเขาถอน ถอนปุ๊บ เท่ากับคดีจบที่ศาลอุทธรณ์ อริสมันต์เข้าคุก ๔ ปีทันที

                รู้อย่างนี้แล้ว ยังจะขอถอนอีกมั้ย..อริสมันต์?

                แต่จริงๆ แล้ว คดีในความผิดต่อแผ่นดิน เมื่อสู่ศาลแล้ว มีคำตัดสินแล้ว มันถอนไม่ได้

                นี่ถือว่าโชคดี ที่ยังหายใจ "อากาศภายนอก" ได้อีกระยะระหว่างรอคำตัดสินศาลฎีกา!

                ๑๕ นปช.ที่รอฎีกานี้ มีใครบ้างล่ะ เอ้า...ดูกันหน่อย

                ๑.นายนิสิต สินธุไพร ๒.นายสำเริง ประจำเรือ ๓.นายนพพร นามเชียงใต้ ๔.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ๕.นายสมยศ พรมมา

                ๖.นายสิงห์ทอง บัวชุม ๗.นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อย หรือเกิดดี ๘.นายวรชัย เหมะ ๙.นายพายัพ ปั้นเกตุ

                ๑๐.นายธรชัย ศักมังกร ๑๑.นายศักดา นพสิทธิ์ ๑๒.นายวัลลภ ยังตรง ๑๓.นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง

                ๑๔.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ๑๕.พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ 

                แต่ "หนีคดี" ไปแต่แรก ๒ คน คือ นายสุรชัย และ พ.ต.ต.เสงี่ยม เหลือรอฎีกาทั้งหมด ๑๓ คน

                เห็นต้นมากับพระ ตอนจบ ก็ต้องไปพระ ดังนี้

                สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของของตน, มีกรรมเป็นผู้ให้ผล, มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นผู้ติดตาม, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

                จักทำกรรมอันใดไว้, เป็นบุญหรือบาป, จักต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"