คลังเข็นมาตรการกระตุ้นศก.


เพิ่มเพื่อน    

 จับตาประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก "บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ “ขุนคลัง” มองหุ้นไทยทรุดจากปัจจัยนอกประเทศ ชี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนรับมือ เน้นกระตุ้นใช้จ่าย-ลงทุน เรียกความมั่นใจนักลงทุน คาดทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากกว่า 1 แสนล้านบาท

    ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม คณะผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2562
    โดยนักธุรกิจสหรัฐและผู้บริหารของ USABC ประกอบด้วย 47 บริษัท จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน 2.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.สุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ 4.อาหารและการเกษตร 5.การผลิต  6.บริการทางการเงิน และ 7.การท่องเที่ยว อาทิ บริษัท Amazon, Apple, ConocoPhillips, FedEx, Harley-Davidson, Johnson & Johnson, Marriott International, Mastercard, Netflix, Paypal และ Stripes เป็นต้น
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยินดีต้อนรับคณะนักธุรกิจ USABC และบอกว่ารัฐบาลไทยเดินหน้าพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการลงทุนให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุนของบริษัทต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากมีฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว สามารถเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายคมนาคมทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการรองรับการลงทุนและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย จึงขอเชิญชวนให้บริษัทสหรัฐเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ
    ด้านประธาน USABC แสดงความขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์และแจ้งถึงแนวนโยบายเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐเชื่อมั่นในศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และมองเห็นโอกาสการลงทุนในไทย โดยการเยือนไทยครั้งนี้ นอกจาก USABC จะได้พบผู้บริหารระดับสูงแล้ว จะได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการอีอีซี เพื่อแสวงหาการลงทุนและความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มเติม นอกจากนี้ประธาน USABC ยังเชื่อมั่นว่าการเป็นประธานอาเซียนของไทยจะสามารถผลักดันอาเซียนให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า นักข่าวสนใจเศรษฐกิจมากกว่าการเมืองหน่อยนะ ขอให้ติดตามการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 16 ส.ค. และวันนี้มาตรการทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาจำนวนมากผ่านทางโทรทัศน์ แต่ยังไม่ผ่านในที่ประชุม ครม. กำลังหารือในมาตรการที่เหมาะสม หากทำอย่างหนึ่ง ก็อย่าให้มีปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็แล้วกัน เพราะยังมีคนไม่เข้าใจอีกมาก 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 16 ส.ค. จะเริ่มเวลา 09.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทําเนียบรัฐบาล นายกฯ จะนั่งเป็นประธานการประชุมอย่างเป็นทางการ และภายหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าว โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  
    วันเดียวกันนี้ นายอุตตมเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์ความผันผวนเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นไทย และการเกิดภาวะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว (อินเวิร์ต ยีลด์ เคิร์ฟ) เพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจนัดแรก วันที่ 16 ส.ค.นี้ โดยยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงมาก มีผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก
    รมว.การคลังกล่าวว่า แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เห็นชอบในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะใช้เม็ดเงินไม่ถึง 1 แสนล้านบาท แต่จะมีเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมไว้รองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกระทบกับการส่งออกของไทยต่อเนื่อง
    รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรผ่อนคลายหนี้สินสนับสนุนพิเศษด้านดอกเบี้ย ทั้งสนับสนุนสินเชื่อใหม่และต้นทุนการเพาะปลูก
    2.มาตรการดูแลปรับเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ด้วยการแจกเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกรณีพิเศษเพิ่มอีก 2 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.2562 รวมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การแจกเงินพิเศษให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการทุกคน คนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 1,000 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า โดยใช้งบประมาณ 14,600 ล้านบาท มีผู้ได้รับสิทธิทั้ง 14.6 ล้านคน
    นอกจากนี้ ยังมีการแจกเงินบรรเทาค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการและมีอายุ 60 ปีขึ้นไป อีก 2 เดือน เดือนละ 500 บาท รวม 1,000 บาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายได้รับเงิน 5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมถึงการแจกเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมีอายุ 0-6 ปี เพิ่มเดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 600 บาท จำนวน 8 แสนคน โดยใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท
    “เงินที่เติมให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการรอบนี้จะเป็นเงินพิเศษ ไม่รวมกับเงินสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนได้รับอยู่แล้ว โดยเงินรอบพิเศษจะทำให้คนถือบัตรสวัสดิการฯ มีโอกาสได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 1,000-2,600 บาท ซึ่งจะถูกนำไปเติมให้ในช่องเงินอี-มันนี สามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการผ่านจากร้านธงฟ้าประชารัฐ แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และยังถอนเป็นเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้ด้วย” รายงานข่าว ระบุ
    3.มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวล่าสุดที่สอดรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เล็งสร้างเงินสะพัดในท้องถิ่นจากการใช้จ่ายอุปโภค ที่อยู่ และการช็อปสินค้าชุมชน โดยจะแจกเงินให้กับประชาชน 10 ล้านคน คนละ 1,500 บาท
    นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายเล็กทั่วประเทศเข้าถึงเงินทุน เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"