เจ้าของพรรคตัวจริงมาแล้ว! หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น “ประธานยุทธศาสตร์พรรค”
เจ้าหน้าที่ตระเตรียมห้องทำงานชั้น 8 หรือชั้นบนสุดของอาคารปานศรี ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ที่แต่เดิมตั้งใจจัดแจงไว้ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในตอนแรกมีข่าวว่าจะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค ไว้ให้ “บิ๊กป้อม” เรียบร้อย
บทบาทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จะทำหน้าที่รับฟังและแก้ปัญหาให้กับ ส.ส. แตกต่างจากรรมการบริหารพรรค ที่จะทำหน้าที่ตามกฎหมาย
และอีกนัยหนึ่งของ “ประธานยุทธศาสตร์พรรค” ยังเป็นที่ปรึกษาโดยตรงให้กับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งยังเป็นคนเดิม คือ นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
เบื้องต้นโครงสร้างบุคลากรจะมีประมาณ 15 คน ประกอบด้วย รองประธานยุทธศาสตร์และเลขานุการ รวมถึงคณะทำงานแต่ละฝ่าย นอกจากนี้ ยังสามารถแต่งตั้งอนุกรรมการรับผิดชอบงานในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย โดย “บิ๊กป้อม” จะเป็นผู้พิจารณาทีมงานเอง
สถานะ “บิ๊กป้อม” ตอนนี้ สามารถเข้าร่วมประชุมกับพรรคได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องกลัวข้อครหาว่าครอบงำพรรคให้อีกฝ่ายเล่นงาน
ว่ากันว่า 20 สิงหาคมนี้ ฤกษ์ดี “บิ๊กป้อม” จะเข้าร่วมประชุมกับพรรคอย่างเป็นทางการครั้งแรก ไม่นับรวมตอนไปปิดงานสัมมนา ส.ส. ที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ขณะที่วัตถุประสงค์หลักในการมาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐแท้จริงคือ การเข้ามาเป็น “ศูนย์กลาง” ของพรรคในเบื้องหน้า หลังเป็นผู้มากบารมีทำหน้าที่ “ผู้จัดการรัฐบาล” ในเบื้องหลังมาตลอด
แต่ก่อนเวลา ส.ส. และนักการเมืองมีปัญหา จะวิ่งเข้ามูลนิธิป่ารอยต่อฯ หารือกับ “บิ๊กป้อม” ในเรื่องต่างๆ คนละทีสองที วันหนึ่งรับแขกไม่รู้เท่าไร
ตอนนี้ไม่ต้องวุ่นวายเหมือนเดิมแล้ว เพราะต่อไปเวลาใครมีอะไร “บิ๊กป้อม” เข้ามารับฟังด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้แกนนำคอยรับฟังปัญหา แล้วเทียวไปเทียวมาระหว่างพรรคกับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ อีก
ใครมีปัญหาอะไร พูดในที่ประชุมพรรคให้ “บิ๊กป้อม” ฟังเลย เพราะเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ตัวแทนเหมือนในยุคก่อตั้งพรรค ซึ่งลองแล้วว่าไม่ได้ผล แล้วยิ่งสร้างปัญหา
ก่อนหน้านี้ถือเป็น “ช่องโหว่” เพราะผู้บริหารพรรคกับ ส.ส. ทำงานไม่ค่อยสอดประสานกันเท่าไหร่ เวลาผู้สมัครและ ส.ส.มีปัญหาอะไร ช่วยให้ผู้บริหารไปแก้ปัญหา ผลออกมาหายเงียบทุกที
เรื่องของเรื่อง เพราะผู้บริหารไม่ได้เป็นคนที่มีอำนาจเต็ม แต่จะต้องส่งสารไปบอก “ผู้มีอำนาจตัวจริง” อีกต่อ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ส.ส.หลายคนก็มี “อีโก้” เพราะถือว่ามาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้บริหารบางคนเพิ่งจะก้าวเข้าสู่การเมืองเป็นปีแรก ไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่
ปัญหาใหญ่ในพรรคคือ ความเป็นเอกภาพ เพราะมากมุ้ง หลายกลุ่มก๊วน ขบเหลี่ยมเฉือนคมกันตลอดเวลา ไม่มีใครกลัวใคร ประชุมพรรคไม่ค่อยได้บทสรุป เพราะคนมีอำนาจเต็มไม่ได้เข้าร่วมฟังด้วย
พวกได้ตำแหน่งเสนาบดี บางคนสมหวังก็ลอยตัว มีช่องว่างระหว่าง “คณะรัฐมนตรี” กับ “ส.ส.” ที่มองว่าตัวเองเป็นนักรบที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งและรัฐบาล
สารบางสารไม่เคยส่งถึง ส.ส.เหมือนชนชั้นสองที่เวลามีปัญหาไม่รู้จะพึ่งใคร โดยเฉพาะพวกที่เข้าไม่ถึงศูนย์กลางอำนาจ
ยุทธศาสตร์ให้ผู้มีอำนาจตัวจริงมาร่วมรับฟังจึงเกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ต้องเข้าร่วมประชุมรับฟังปัญหากับ ส.ส.ได้โดยไม่โดนข้อหาครอบงำ
ให้ “บิ๊กป้อม” มาสมัครสมาชิกพรรค ในช่วงก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วหาตำแหน่งลอยๆ ที่มีเกียรติให้ลงตัวที่ตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค
ส.ส.หลายคนแฮปปี้ เพราะ “นายใหญ่” ตัวจริงมากระชับอำนาจ สยบคลื่นใต้น้ำที่วุ่นวายก่อนหน้า และไม่มีใครแก้ปัญหาได้
ตัวจริงลงมาใกล้ชิด ส.ส. ไม่ปล่อยให้รู้สึกอยู่แบบลำพัง ไม่มีใครคอยตบเวลาออกนอกลู่นอกทาง
เสียงปริ่มๆ น้ำแบบนี้ “บิ๊กป้อม” ไม่ลงมาก็ไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |