14 ส.ค.62- เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน อาทิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ, เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ จ.สกลนคร, กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร และเครือข่ายปัญหาที่ดิน จ.หนองบัวลำภู ร่วมกันจัดเวทีชำแหละนโยบายทวงคืนผืนป่า ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมออกแถลงการณ์ หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน โดยระบุส่วนหนึ่งว่า แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าเกิดขึ้นภายหลังคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/ 2557 เรื่อง การป้องกัน และปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้
แม้นโยบายข้างต้นจะมีเจตนาเพื่อมุ่งเน้น เอาผิดกับนายทุน ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ถือครองที่ดินในเขตป่า แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ผู้ประสบชะตากรรมส่วนใหญ่กลับกลายเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรรายย่อยที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนการประกาศเขตที่ดินป่าไม้ และเกิดกรณีพิพาทกับรัฐ ในหลายกรณีมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กระทั่งนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ข้อตกลงเหล่านี้ต้องถูกยกเลิกไปด้วย นโยบายทวงคืนผืนป่า
ปรากฏการณ์ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทำกินที่พิพาทสิทธิ เริ่มต้นที่ชุมชนเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องมาถึงการปิดป้ายบังคับให้ออกจากพื้นที่ของชุมชนโคกยาว ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร และลุกลามไปทั่วประเทศ ทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมาย คำสั่งทางปกครอง การข่มขู่ คุกคาม การตัดฟันทำลายผลอาสิน การบังคับให้เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่ การจำกัดการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร เป็นต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น คือ ความทรงจำที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของประชาชนอีสาน ซึ่งถูกกระทำภายใต้โครงการ คจก. โดยเผด็จการ รสช. ในช่วงปี 2534 – 2535 ประชาชนอีสานจำนวนมากต้องถูกอพยพ ขับไล่ออกจากที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย
กระทั่งเกิดการเดินขบวนคัดค้านโครงการดังกล่าว และรัฐบาลได้ยกเลิกไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 แต่มรดกทางความคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องการผูกขาด และรวมศูนย์การจัดการไว้ที่หน่วยงานรัฐก็ยังคงดำรงอยู่ กระทั่งปัจจุบันและจะดำเนินต่อไป หากยังไม่ทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของประชาชน และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง
กล่าวเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งมีข้อพิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดหมายบังคับคดี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเข้าทำการรื้อถอนตามหมายในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นี้ ในขณะที่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้วว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อนทั้ง 277 ราย ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการตัดสินใจทางนโยบาย เพื่อยกเลิกหมายบังคับคดี และรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน เทศกาลขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงทิศทาง นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐบาลปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี เพียงเพราะความล่าช้าในการตัดสินใจทางนโยบาย กรณีชาวบ้านคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ที่ถูกคุกคามสิทธิ์ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงการถือครองทำประโยชน์มาก่อนของประชาชน รวมทั้งปัญหาในทางกฎหมาย นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ต้องมีการทบทวน แก้ไขให้มีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิที่ดิน และทรัพยากรของประชาชน
ภาพจากเฟซบุ๊ก ขบวนการอีสานใหม่
ด้วยเหตุดังนี้ เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสาน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน และทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 และแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 รวมทั้งแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่อนุรักษ์ของกรมอุททยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมทั้งให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน หาไม่แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม้รู้จบสิ้น .
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |