ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้ว "คณะรัฐประหาร" สนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเหตุผลคือ ขณะนั้น สหรัฐฯ อังกฤษและจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญยังไม่รับรองรัฐบาลภายหลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้น อีกทั้งภาพลักษณ์ของจอมพล ป. หัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับในนานาชาติ เนื่องจากเขาเคยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อนายควงได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 พฤศจิกายน สองวันภายหลังรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะ "ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย" และหัวหน้า "คณะรัฐประหาร" ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่นายควง ความว่า
“ที่ 281/ 2490
กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2490
เรื่อง ขอมอบอำนาจของคณะทหารแก่รัฐบาล
จาก ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
ถึง นายกรัฐมนตรี
ขอได้โปรดนำข้อความดังต่อไปนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วย จะขอบคุณยิ่ง คือ การที่คณะทหาร ตำรวจและพลเรือน ได้ทำการรัฐประหารนั้นก็โดยเห็นว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ตกอยู่ในภาวะอันเสื่อมโทรมอย่างน่าสลดใจ ประชาชนส่วนใหญ่รับความทุกข์ทรมานในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง คนทุจริตคิดมิชอบตลอดจนบรรดาโจรผู้ร้ายก็เกิดขึ้นอย่างชุกชุม และไม่อาจแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไป บรรดาข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจพลเรือน และประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายจึงพร้อมใจกันทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยได้เข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะแก้ไขสถานะการณ์ให้กลับฟื้นฟูคืนสู่ความสมบูรณ์พูนสุขต่อไป
บัดนี้ การจัดการปกครองได้สำเร็จลง และประเทศไทยกำลังจะคืนเข้าสู่สภาพปกติแล้ว กล่าวคือ ได้มีกระแสพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งอภิรัฐมนตรีและประกาศตั้งรัฐบาลแล้ว และเนื่องจากคณะรัฐบาลได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเข้าประจำการตามกระทรวงโดยเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญปัจุบันต่อไป
ในโอกาสนี้คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน จึงยินดีที่จะมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินตามที่คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือนยึดไว้โดยทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นลำดับมา และปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ให้แก่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินแทนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อประโยชน์สุขของบรรดาข้าราชการ สมณะชีพราหมณ์ พ่อค้า ประชาชนและพสกนิกรอื่นๆ ทั้งปวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้บังเกิดสุขเสรี และจำเริญวัฒนาถาวรสืบต่อไปเป็นสำคัญ
ส่วนคณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน จะยังทำการแต่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกำลังอันมั่นคงของประเทศชาติอยู่ต่อไปชั่วคราวเพียงเท่านั้นที่จำเป็น โดยจะพยายามดำเนินกิจการทั้งปวงนี้ให้เข้าสู่สภาพปกติให้เร็วที่สุด
อนึ่ง สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้นขอเรียนว่า ข้าพเจ้าได้มีเจตนาอันแรงกล้าที่ใคร่จะถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ไปพักผ่อนตามเยี่ยงพลเมืองที่ดีทั้งหลาย เพราะคิดว่า ถ้ายังรับราชการสนองพระเดชพระคุณประเทศต่อไป ก็จะเป็นช่องทางให้คนทั้งหลายเห็นได้ว่า ทำรัฐประหารร่วมกับพวกพ้องในครั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ เป็นการขัดต่อเจตนาเดิมที่มุ่งหวังต่อประเทศชาติเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อยืนยันความคิดเห็นดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงจะได้กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมืองบังเกิดขึ้น และประชาชนคลายความอดอยากลงทั่วกันแล้ว พร้อมทั้งเป็นความเห็นชอบของคณะรัฐบาลที่ทำการปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ด้วย
ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าในนามของคณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดประสิทธิ์ประสาทความเกษมสุขศิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแด่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล และขอให้คณะรัฐบาลได้พูลเพิ่มด้วยเกียรติอันสูงส่ง เป็นที่นิยมและรักใคร่ผูกมิตรสนิทสนมของบรรดานานาประเทศใหญ่น้อยทั้งปวง ณ บัดนี้ เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม”
จากนั้น นายควง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้กล่าวตอบการรับมอบอำนาจจาก "คณะรัฐประหาร" ผ่านวิทยุกระจายเสียงความว่า รัฐบาลขอบคุณ "คณะรัฐประหาร" ที่ไม่ยึดอำนาจไว้ และให้ความไว้วางใจให้บริหารประเทศ และประกาศว่า รัฐบาลเป็นอิสระจาก "คณะรัฐประหาร" จอมพล ป.และ "คณะรัฐประหาร" ไม่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหาร โดยมอบอิสระในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ประกอบด้วย เหล่าเชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ส่วนขุนนางในระบอบเก่า เช่น พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) เป็นต้น โดยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางระบอบเก่า และอดีตนักโทษการเมืองที่ก่อกบฏมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลนายควงได้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 29 มกราคม 2491 ขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด คือ 54 คน จากจำนวน 99 คน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ ตลอดจนประเทศมหาอำนาจได้ให้การรับรองรัฐบาลแล้ว "คณะรัฐประหาร" ได้ดำเนินการกดดันให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 เมษายน 2491 ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
9.00 น. นายทหารบก จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1.พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท 2.พันเอก ศิลป์ ศิลปศรชัย รัตนวราหะ 3.พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ 4.พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ มาพบนายควงที่บ้านยื่นคำขาดให้นายควงลาออกภายใน 24 ชั่วโมง
ต่อมานายควงส่ง พันโท รวย อภัยวงศ์ นายทหารติดต่อประจำนายกรัฐมนตรีถือจดหมายไปหาพันโท ก้าน ที่วังสวน
กุหลาบ แต่ไม่พบ ต่อมาพบว่าพันโท ก้าน ไปประชุมอยู่ที่บ้านของจอมพล ป. จึงนำจดหมายไปส่ง
14.00 น. พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพลโท กาจ กาจสงคราม ได้มาพบนายควง ยืนยันความต้องการของ "คณะรัฐประหาร" ที่ต้องการให้นายควงลาออก อย่างไรก็ตาม คำขาดของ "คณะรัฐประหาร" มิได้ทำให้นายควงยินยอมทำตามโดยทันที แต่เขาได้แสวงหาการสนับสนุนรัฐบาลจากทหารกลุ่มอื่น ด้วยการติดต่อไปยังพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ติดต่อไม่ได้ จึงติดต่อไปยังพลอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากผู้บัญชาการทหารอากาศจะอุปสมบท
18.00 น. นายควงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนที่บ้านพัก ในการประชุมครั้งนั้นคณะรัฐมนตรีของเขา มีความเห็นเป็น 2 ทาง คือ ยอมลาออก และต่อสู้ โดยรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้ลาออก คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง) ให้เหตุผลยอมรับว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปดังที่ "คณะรัฐประหาร" กล่าวหา ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้ต่อสู้ คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) ให้เหตุผลว่า การกระทำของ "คณะรัฐประหาร" เป็นกบฏ แต่ท้ายสุดแล้ว นายควงเลือกการลาออกตามคำขาดของ "คณะรัฐประหาร"
จากนั้นนายควงได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "บ้านเมืองไม่ใช่ของข้าพเจ้าแต่คนเดียว เมื่อมีคนดีมาเชิญ ข้าพเจ้าขอกราบลา..."
อย่างไรก็ตาม แม้นายควงจะลาออกแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองและการกีดกัน "คณะรัฐประหาร" ออกไปจากการเมืองจะคงดำเนินต่อไปได้ เนื่องจาก "คณะรัฐประหาร" มิได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ล้มเลิกรัฐสภา และด้วยสาระในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างขึ้นใหม่นี้ สร้างความพอให้ให้กับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมที่พึงพอใจกับโอกาสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาก
สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญใหม่หรือฉบับ 2492 มีการกำหนดกติกาและระบอบการเมืองที่เพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในทางการเมือง และกีดกัน "คณะรัฐประหาร" ออกไปจากการเมือง และได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่ต้องการขึ้น ด้วยการใช้คำว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (มาตรา 2) ขึ้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย
ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมที่มีอิทธิพลในวุฒิสภาและพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองเสียงจำนวนมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันถูกผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้สำเร็จในวันที่ 23 มีนาคม 2492 แม้รัฐบาลนายควงจะถูกบังคับให้ลาออกไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม
ดังนั้น การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาจากรัฐบาลนายควงของจอมพล ป.-นายกรัฐมนตรีที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 2475 ต้องเผชิญหน้ากับระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์.
------------------
ขอบคุณข้อมูล: สถาบันพระปกเกล้า, ณัฐพล ใจจริง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |