"บิ๊กตู่" หัวโต๊ะ ครม.เศรษฐกิจนัดแรก 16 ส.ค. จ่อคลอดมาตรการกระตุ้นเรียกมั่นใจนักลงทุน-ผู้บริโภค สั่งทุกกระทรวงขับเคลื่อนโมเดลบีซีจีแก้ ศก.รากหญ้า พิษสงครามการค้า-ส่งออก-บาทแข็ง-ภัยแล้ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ร่วงสุดรอบ 18 เดือน
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเป็นนัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี โดยในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่กระทรวงการคลัง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวด้วย
“หลังจากประชุม ครม.เศรษฐกิจเสร็จ จะมีการประกาศมาตรการที่แน่ชัดออกมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยรายละเอียดของมาตรการทั้งหมดจะมีความชัดเจนในวันที่ 16 ส.ค.นี้แน่นอน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจ ทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคที่จะมีเชื่อมั่นในมาตรการที่จะออกมานี้ ขณะเดียวกันนายกฯ ยังได้กำชับให้ทุกกระทรวงช่วยกันดู และช่วยคิดมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว เข้ามาร่วมกันสนับสนุน เพราะจะไม่มีมาตรการกระตุ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น บางส่วนต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย” นางนฤมล ระบุ
นอกจากนี้ นายกฯ ยังฝากให้ทุกกระทรวงรับโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ไปพิจารณาคือ โมเดลบีซีจี หรือการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเซอร์คูลาร์อีโคโนมี และเศรษฐกิจสีเขียว หรือกรีนอีโคโนมี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มองว่าโมเดลดังกล่าวจะเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างแท้จริง จึงได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงนำโมเดลนี้ไปคิด เพื่อแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้ชี้แจงให้รับทราบว่า ขณะนี้ตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ มีสัญญาณชะลอตัว มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ คงต้องรอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงในวันที่ 19 ส.ค.นี้
“การส่งออกของไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งกระทรวงการคลังระบุว่า ไม่ใช่แค่ไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็เจอผลกระทบเช่นกัน ทำให้การส่งออกลดลง แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะได้ขยายไปสู่เรื่องของค่าเงินแล้ว ซึ่งไทยก็หาทางรองรับ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% ต่อปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีมาตรการอื่นๆ ตามออกมา” นางนฤมลกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานที่ประชุม ครม.ด้วยว่า เพื่อดูแลเรื่องของผลกระทบและความผันผวนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ล่าสุดกำลังจัดตั้งคณะกรรมการร่วมการเงินการคลัง ที่รวมหน่วยงานอิสระเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง
วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างประธานหอการค้าและภาคธุรกิจทั่วประเทศ 369 ตัวอย่าง มีความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระดับโลกระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออก
ขณะเดียวกันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดความเสียหาย และการส่งออกของเมืองไทยเดือน มิ.ย.62 และในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังคงมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 จากระดับ 47.1 ในเดือน มิ.ย.62 โดยเป็นดัชนีที่ต่ำสุดติดต่อกันในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.62 และเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 18 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.61 นอกจากนี้ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.5 ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไป คาดว่าไตรมาส 4 จะมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางหอการค้าไทยต้องการให้ภาครัฐดูแลปัญหาเรื่องค่าเงินบาทในปัจจุบันที่เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงให้อ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ และไม่ควรให้แข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาคอย่างเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ต้องการให้พัฒนาเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมกับแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงให้มีการปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับออกมาตรการและวางแผนเฝ้าระวังเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติทุกช่วงฤดูกาลอย่างจริงจัง ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ได้อย่างทั่วถึง และมีการออกนโยบายที่จะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |