ปัจจุบันภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่จากข้อมูลกลับพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังไม่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่มากพอ ส่งผลให้ทุกครั้งที่เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยพิบัติในด้านอื่นๆ มักจะเกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง และหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดชะงัก
ทั้งยังส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตของประเทศ กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดโอกาสทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด รวมทั้งกลุ่มธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จึงควรมีการสรรหาเทคโนโลยีเพื่อรองรับหรือป้องกันผลกระทบดังกล่าว รวมถึงมีแผนในการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานให้มากขึ้น ซึ่งยังเป็นผลดีในด้านการลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาที่ในภาพรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี โดย นายณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 นี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยควรหันมาให้ความสนใจและวางแผนในเรื่องความเสี่ยงทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากภัยพิบัติ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ด้วยเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต โดยคาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น เขตอีอีซีคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
2.น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับที่รุนแรง แต่อาจมีผลในด้านความล่าช้าและความต่อเนื่องทั้งในการกระจายสินค้า การผลิต รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องจักรและความปลอดภัย ส่วนปัญหาอุทกภัยคาดว่าปีนี้จะไม่อยู่ในระดับวิกฤติ เนื่องด้วยข้อมูลการระบายของน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ และข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ไม่น่ากังวลมากนัก
และ 3.ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงปลายปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) จนยาวไปถึงต้นปีถัดไปที่อาจจะมีความรุนแรง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรมีแผนควบคุมมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมทั้งการจัดการหากสภาวะดังกล่าวอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรหรือผู้ใช้แรงงาน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งวิทยาลัยประชากรศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยง และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งนาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น นำแนวคิดการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการคำนึงถึงทรัพยากรและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนมาปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยสำหรับรับมือผลกระทบด้านอุทกภัย
ด้าน นายทาดาชิ โยชิดะ ประธานสมาคมบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า JMA ได้จัดงาน Maintenance & Resilience Tokyo ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุปกรณ์ เทคโนโลยี และโซลูชั่นในการบำรุงรักษาโรงงานและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ชัดเจนของรัฐบาลไทย จึงเป็นตัวผลักดันให้ JMA ริเริ่มจัดงาน Maintenance & Resilience ASIA 2019 ณ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค.ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอันชาญฉลาด ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอย่างเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้อีกด้วย.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |