อดีตอัยการชี้การถวายสัตย์ปฏิญาณจบไปแล้วผู้อื่นใด'บังอาจ'ยกเอาพระบรมราชวินิจฉัยขึ้นมาพิจารณาอีกไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

13 ส.ค.62-นายถาวร เชาว์วิชารัตน์ อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง 9 มีนบุรี โพสต์บทความ เรื่อง ถวายสัตย์ปฏิญาณ ผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ระบุเนื้อหาว่า ขอบอกกล่าวเป็นเบื้องต้นว่า ผมเขียนและได้ทบทวนบทความนี้สองครั้ง ก่อนโพสท์ จึงเชื่อว่าได้ตรวจทานถ้อยคำภาษาและเนื้อความมาอย่างดีที่สุด ที่จะทำได้แล้ว แต่หากยังมีข้อผิดพลาดประการใด ไม่ว่าถ้อยคำหรือเนื้อหา ผมขอน้อมรับผิดแต่ผู้เดียว

๑. ในราวสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงพระราชพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อถวายคำสัตย์ปฏิญาณ และได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า มีความบกพร่องเกิดขึ้น โดยยังไม่ปรากฏว่าจะลงเอยอย่างไร

หนังสือพิมพ์วันนี้ ก็ยังคงลงเรื่องนี้เพื่อ "แหย่" รัฐบาล อยู่

เรื่องนี้คงหาใครที่จะมาแสดงความคิดเห็นได้ยาก เพราะอาจเกรงไปว่าจะเป็นการกระทบต่อเบื้องยุคลบาท แต่ถ้าไม่มีผู้ใดนำเรื่องนี้มาชี้แจงหรือกล่าวอธิบายต่อสังคมเสียบ้างเลย ก็ดูจะเป็นความอึมครึม และอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผมเห็นว่าน่าจะคลาดเคลื่อนจากหลักการและความน่าจะเป็นอยู่ไม่น้อย ทั้งไม่น่าจะเกิดผลดีแก่สังคมเท่าใดนัก

จึงยอมตัดสินใจว่า จำเป็นต้องเขียนบทความนี้่ขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อขออนุญาตให้เป็นคำอธิบายเรื่องนี้ในเชิงวิชาการ และในทัศนะของข้าแผ่นดินผู้หนึ่ง และอาจทำให้ประเด็นที่เกิดขึ้น ได้ยุติลงเสียได้อย่างราบ รื่น

๒. พิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น มีความหมายอย่างไร หรือมีคามสำคัญอย่างไร

เท่าที่ได้สดับตรับฟังกันมา ใครๆก็มักจะคิดกันว่า เป็นรูปแบบหนึ่ง หรือพิธีการอย่างหนึ่งที่รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องกระทำ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนญ หรือตามธรรมเนียมปฏิบัติ ฟังดูก็เหมือนกับว่าเป็นเพียง สิ่งที่ต้องทำ ก็ต้องทำ โดยไม่เคยมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่น ว่าทำไมจึงต้องทำ

แต่ผมมีความเข้าใจที่แตกต่างออกไป ซึ่งน่าจะช่วยสรุปให้เห็นเป็นความคิดรวบยอดไว้ในชั้นแรกนี้ก่อนว่า พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ "การขอพระราชทานอำนาจในการปกครองแผ่นดินจากพระองค์ท่าน เพื่อนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นช่วงระยะเวลา ๔ ปี" ส่วนคำกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณนั้นก็เพื่อให้เป็นการยืนยันว่า เมื่อได้รับพระราชอำนาจไปแล้ว คณะรัฐมนตรีก็จะใช้อำนาจนั้นอย่างชอบธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้่งปวง ในนามพระมหากษัตริย์

ดังนั้น ทุกครั้งที่เมื่อจะมีรัฐบาลใหม่ จึงต้องเข้าเฝ้ากราบบังคมทูล เพื่อ "ขอพระราชทาน" อำนาจเช่นนั้นจากพระองค์ท่านกันใหม่ ทุกครั้งไปในรูปของพิธีกรรมถวายสัตย์ปฏิญาณ

แล้วทำไมจึงต้องขอพระราชทานอำนาจฯ อำนาจ
มิได้เกิดขึ้นโดยอัตโมัติเมื่อได้ผลการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงนั้นดอกหรือ

คำอธิบายต่อไปนี้ อาจตอบคำถามสองข้อข้างต้นนี้ได้

๓. พระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดิน

ทุกวันนี้ เราถูกหว่านล้อมให้เข้าใจกันไป (ซึ่งอาจถูกตามหลักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ หรือไม่ ผมไม่รู้ เพราะยอมรับว่าไม่ได้ร่ำเรียนมาในเรื่องนี้ คงว่ากันตามสามัญสำนึกของคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น) ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั้น คือ การปกครองที่อาศัยอำนาจจากปวงชนชาวไทย และเราก็เข้าใ่จกันต่อไปอีกว่า อำนาจนี้แหละที่ฝ่ายปกครองใช้อ้างอิงเพื่อตั้งรัฐบาล หรือเพื่อมาปกครองประเทศ

แต่ผมเห็นว่า โดยรูปแบบที่เป็นอยู่ในความเป็นจริงนั้น มิใช่เช่นนั้นทีเดียวนัก หากพิจารณาดูรูปแบบพิธีกรรมต่างๆ โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเห็นว่ามีอะไรมากกว่านั้น อย่างน้อยก็มิได้เป็นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

เรื่องเช่นนี้จะทำให้เ้ข้าใจกันได้ง่ายขึ้น คงต้องมาดูถึงอำนาจการปกครองแผ่นดินในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ของประเทศต่างๆ ดูกันก่อน

ทุกวันนี้เราอาจแบ่งประเทศต่างๆในโลกได้ตามลักษณะของประมุขของประเทศ ได้เป็น ๒ ระบบใหญ่ คือ แบบไม่มีกษัตริย์ กับระบบที่มีกษัตริย์

ระบบที่ไม่มีกษัตริย์ คือระบบประธานาธิบดี ระบบนี้ส่วนใหญ่ ตัวประธานาธิบดีเองเป็นประมุขประเทศ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารปกครองด้วยตนเอง เช่นสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย บางประเทศ เช่น อินเดีย มีประธานาธิบดีเป็นประธานของประเทศอยู่เฉยๆ แต่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง

เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นในบทความนี้ จึงขอผ่านไป

ส่วนระบบที่ยังมีกษัตริย์นั้น มีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง ผมถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบดั้งเดิม ที่คนไทยเรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งบัดนี้ก็ยังมีอยู่บางประเทศ พระมหากษัตริย์ท่านใช้อำนาจของพระองค์ท่านปกครองประเทศในฐานะ "เจ้าของประเทศ" ระบบนี้จะมีข้อดีข้อเสีย เหมาะสมอย่างไร คนชาติอื่นๆ ไม่ควรเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของเขา

เราเองไม่อยากให้ใครมาวิจารณ์เรา จึงไม่ควรไปวิพากษ์เรื่องของประเทศอื่นเขา และด้วยเหตุนี้ จึงไม่กล่าวถึงชื่อประเทศเหล่านั้นในบทความนี้

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีไทยเราอยู่ด้วย และมีอยู่ค่อนข้างมากในโลกนี้ คือ ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขปกครองประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นพระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจการปกครองแผ่นดินอยู่ ไม่ว่าจะโดยรูปแบบธรรมเนียมประเพณี หรือโดยการยอมรับ ความเข้าใจของประชาชนก็ตาม เพียงแต่พระมหากษัตริย์ในประเทศเหล่านี้จะมิได้ทรงใช้อำนาจบริหารประเทศของพระองค์โดยตรง หากแต่พระราชทานอำนาจนั้นบางส่วนให้แก่กลุ่มบุคคลไปบริหารปกครองประเทศ "แทน" พระองค์ โดยในระบอบนี้ ประชาชนจะเป็นผู้เลือกคณะบุคคลขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง

อันเป็นกระบวนการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลที่เราทำกันอยู่ และเพิ่งเสร็จไปเร็วๆ นี้อีกรอบหนึ่ง

และเมื่อจะเข้าไปใช้อำนาจปกครองจริงๆ ก็ต้องเข้าไปกราบถวายบังคมทูล ขอพระราชทานอำนาจ นั้น เสียก่อน

ประเทศเหล่านี้ นอกจากไทยเราแล้ว ที่รู้จักกันดีก็คือ อังกฤษ สเปน ญี่ปู่น กัมพูชาใกล้บ้านเรา และอีกบางประเทศทางยุโรป ประเทศเหล่านี้มีรูปแบบอย่างเดียวกัน คือ ประชาชนเลือกตั้งคนที่ตนเห็นชอบขึ้นมาเป็นผู้บริหาร หรือใช้อำนาจปกครอง

แต่อำนาจปกครองนั้นอยู่ที่ไหน ได้ตอบแล้วว่า เป็นพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะใช้อำนาจนั้นทันที ยังไม่ได้ อาจเตรียมการได้ คุยกันล่วงหน้าได้ แต่ยัง "ใช้อำนาจ" นั้นไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้ยังไม่มีอำนาจเช่นนั้น

อย่างน้อย โดยรูปแบบธรรมเนียมประเพณี ก็วางรูปแบบแห่งเจตนารมณ์ของธรรมเนียมการปกครองไว้เช่นนั้น

เพราะอำนาจปกครองเช่นว่านั้น ยังถือว่าเป็น "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" อยู่ และเป็นของพระองค์ท่านอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่พระองค์ท่าน(ในทุกๆ ประเทศ) ยัีงไม่ได้ใช้ หรือไม่ได้ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ เท่านั้น

คนที่จะมีสิทธิ(หรือหน้าที่) ที่จะใช้อำนาจนี้ "แทนองค์พระมหากษัตริย์" จึงต้องเริ่มด้วยการ 
"ขอพระราชทานอำนาจ" การปกครองแผ่นดินเช่นนี้จากองค์พระมหากษัตริย์ เสียก่อน

เมื่อได้รับพระราชทานอำนาจปกครองแผ่นดิน(บางส่วน ตามวาระ) จากพระองค์ท่านแล้ว จึงนำอำนาจปกครอง นั้นมาใช้ได้

กระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือกระบวนการที่ เข้าไป "กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชอำนาจ บางส่วน" นั้น เพื่อมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองต่อไป

กระบวนการอันเป็นรูปแบบพิธีกรรม หรือพิธีการเช่นนี้ จึงประกอบไปด้วยสองส่วนสำคัญ คือ "การขอ" โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผู้ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้เป็นผู้เข้าไป "ขอพระราชทาน"

และเมื่อ "ขอ" แล้ว ย่อมเป็นพระราชอำนาจ และพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาวินิจฉัยว่า จะสมควร "พระราชทานอำนาจ" นั้นให้หรือไม่ รวมถึงหากมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ว่า ยอมให้ได้ พระองค์ก็อาจพระราชทานพระราชวินิจฉัย หรือพระราชดำริต่าง ๆรวมถึงพระบรมราโชวาทให้คณะบุคคลเหล่านี้ประกอบการนำอำนาจนั้นไปใช้ได้ต่อไป

สมมุติว่า (เป็นแค่สมมุติ) หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบกับคณะบุคคลเหล่านี้ ย่อมมีพระราชอำนาจเต็มในการที่จะไม่ มอบพระราชอำนาจนั้น ก็ย่อมทำได้เสมอ

รวมถึงยังทรงมีพระราชอำนาจในการที่จะทักท้วงการปฏิบัติงานของผู้รับมอบพระราชอำนาจนั้นได้เสมอตลอดเวลาอีกเช่นกัน มิได้หมายความว่า มอบให้แล้วจะเอาไปทำอะไรตามอำเภอใจได้

เรียกได้ว่า พระราชพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณนี้ จึงมีกระบวนการสำคัญอยู่ ๒ ส่วน และผมถือว่า เป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญ คือ ส่วนการปฏิบัติในการ "ขอ" ของผู้ขอ และ ส่วนอันเป็นพระราชวินิจฉัยของพระองค์ผู้ให้หรือมอบอำนาจ ซึ่งในสองส่วนนี้ ผมเห็นว่าส่วนที่เป็นสาระสำคัญมากที่สุด คือ ทางฝ่ายพระองค์ผู้ให้หรือมอบอำนาจนั้น ส่วนผู้ขอนั้นมีความสำคัญน้อยกว่า หรือรองลงไป

ดังนั้น เมื่อข้อปฏิบัติทางฝ่ายพระองค์ผู้มอบอำนาจได้กระทำไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ แล้ว ก็ถือว่า พิธีกรรมเช่นนี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว โดยมิพักต้องมาพิจารณาในส่วนพฤติการณ์ของผู้ขอแต่อย่างใด

ไม่จำเป็นต้องมาพูดกันว่ามีข้อบกพร่อง หรือจะกระทบต่อกระบวนการนี้อย่างไร

พระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์อันแสดงถึงความยินยอมให้มีคณะบุคคล (คณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี) ไปใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองต่อไปนั้น เป็นอันถึงที่สุด และเป็นล้นพ้น และถือว่า เมื่อได้ทรงรับคำกราบบังคมทูลและถวายสัตย์ปฏิญาณอันเป็นส่วนหนึ่งของคำ "กราบบังคมทูลขอ" ตลอดจนได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เสร็จสิ้นแล้ว ก็ืถือว่า องค์พระมหากษัตริย์ได้มีพระราชวินิจฉัยอันเป็นที่สุด ทรงเล็งเห็นและประกาศให้ทราบทั่วกันแล้วในแผ่นดินว่า พระองค์มอบพระราชอำนาจส่่วนนี้ให้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนในกระบวนการระหว่างนั้น หากจะมีสิ่งใดบกพร่องหรือไม่ ครบถ้วนหรือไม่ ควรถือว่า ทั้งหมดเหล่านี้(หากมี) เป็นการอันปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์ และในเบื้องพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ไป ณ เวลานั้น แล้ว ทุกประการ หากพระองค์ท่านทรงเห็นว่า มีข้อบกพร่องถึงระดับที่ยังไม่สมควรที่จะ "พระราชทานอำนาจ" ให้ พระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชอำนาจที่จะ "ไม่พระราชทานอำนาจ" ให้ก็ได้

เป็นพระราชอำนาจอันเป็นที่สุดของพระองค์ หรือขององค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อขั้นตอนนี้ได้ผ่านไปครบแล้ว โดยรูปแบบแห่งพิธีการ ก็ต้องถือว่า องค์พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเห็นว่าข้อบกพร่องเหล่านี้เป็นเรื่องสลักสำคัญแต่อย่างใด อันเป็นพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ ถือได้ว่ากระบวนการแห่งการ "พระราชทานอำนาจ" นั้นครบถ้วนถูกต้อง ผ่านไปเรียบร้อยแล้วทุกประการ

และย่อมมิใช่หน้าที่ของผู้อื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในเรื่องเช่นนี้ที่จะ "บังอาจ" ยกเอาพระบรมราชวินิจฉัยอันเป็นการส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ขึ้นมาพิจารณาอีก

หากจะมีผู้ใด หรือคณะใดที่จะพึงกราบถวายความเห็นในเรื่องเช่นนี้ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก็คงเป็นหน้าที่ของคณะองคมนตรี และถือเป็นพระราชกรณียกิจหรือพระราชภารธุระ เฉพาะขององค์พระมหากษัตริย์ พระองค์เอง เท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องของผู้อื่นใดในแผ่นดินนี้ จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น

๔. ผมจึงเห็นว่า กระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ผ่านมา ซึ่งพิธีกรรมทั้งหลายได้ลุล่วง ผ่านขั้นตอนต่างๆ ไปจนครบถ้วน จนพระมหากษัตริย์ทรงตอบรับ และมีพระบรมราโวาทอันสมควร มอบให้แก่คณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น เป็นการอันเสร็จสิ้นแห่งพระราชพิธีและเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่ถือว่ามีการกระทำใดเป็นการขาดตกบกพร่องในสาระสำคัญของพระราชพิีธีนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

สรุปเป็นภาษาชาวบ้านให้ฟังง่าย ๆ ก็คือ การ "ขอพระราชทานอำนาจ" ครั้่งนี้ ได้ขอไปแล้วตามรูปแบบพิธีการ และพระมหากษัตริย์ได้ "มอบอำนาจ" มาให้ตามที่ขอแล้ว โดยมิได้ทรงมีข้อขัดข้องโต้แย้งแต่ประการใด จึงถือว่า กระบวนการหรือพิธีกรรมนี้สมบูรณ์แล้ว

ส่วนข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจมีขึ้น หรืออ้างว่าได้มีขึ้นในระหว่างกระบวนการนั้น หากมีจริง ก็พึงถือว่า ได้อยู่ในสายพระเนตรพระกรรณที่พระองค์ได้ทรงทราบและได้พระราชทานพระรมราชวินิจฉัยในขณะนั้นเป็นที่ยุติและเสร็จสิ้นเด็ดขาดลงแล้ว

จึงไม่บังควรที่ใครอื่นจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก

จะเรียกว่า ไม่ใช่ธุระของชาวบ้านก็น่าจะได้

และหากจะหาเรื่องพูดกันต่อไปว่า "พระองค์มิได้ทรงเห็นข้อบกพร่องนี้มาก่อน" ก็อาจเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ได้เช่นกัน จึงเป็นการอันไม่ควรกระทำเด็ดขาด

๕. ส่วนการที่จะตำหนิติเตียนตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยประการหนึ่งประการใดก็ดี เป็นการเฉพาะตัวบุคคลนั้นก็อาจจะทำได้ (หากยังคิดอยากจะทำตามอารมณ์ของปุถุชน ที่จะต้องหาเรื่ืองกันให้จงได้) แต่ก็จะยุติลงเพียงภายในกรอบเรื่องภายในสถานะบุคคลธรรมดาสามัญด้วยกันเท่านั้น จะตำหนิกันว่า ไม่รอบคอบ สะเพร่า หรืออื่นใดก็สุดแล้วแต่ แต่ไม่ควรจะให้มีผลใด ๆ ที่ก้าวล่วงไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ต่อไปอีก ไม่ว่าในลักษณะประการใดๆ

ผมไม่อยากจะสรุปด้วยถ้อยคำว่า เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะคำพูดเช่นนี้อาจทำให้มีผู้ตีความโต้แย้งต่อไปอีกว่า เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยได้อย่างไร

ผมอยากจะสรุปเพียงว่า กรณีความบกพร่องอันจะเป็นประการใดมาก็ตาม เรื่องเหล่านี้ได้ผ่านขั้นตอนที่องค์พระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยมาแล้วว่า ไม่ได้เป็นปัญหา พฺิธีกรรมต่างๆ จึงลุล่วงและเสร็จไปแล้วสมบูรณ์และเรียบร้อยแล้ว

และย่อมมิใช่เรื่องที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทกันอีกต่อไป

เพียงแต่ว่า ในวันข้างหน้า หากนายกรัฐมนตรี คนใหม่ หรือคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณกันอีก ก็ขอได้ระมัดระวัง อย่าได้ทำการให้เกิดข้อบกพร่องเช่นนี้อีกก็แล้วกัน

ความผิดพลาดเช่นนี้ ควรจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็มากพอแล้ว

และเรื่องนี้สมควรจะให้เป็นที่ยุติ หรือจบลงได้แล้ว

พระราชอาญามิพ้นเกล้า.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"