'ธรรมนัส' จัดให้ เคลียร์พรรคเล็ก จบปัญหาก่อนถก พ.ร.บ.งบฯ


เพิ่มเพื่อน    

      เพราะความเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 3 เสียง ไม่นับประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ทุกเสียงในการเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค จึงมีความหมายอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ การประคองรัฐนาวา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง จึงเป็นงานที่หนักพอสมควร กับการประคองเสียง ส.ส.รัฐบาลในสภาให้อยู่ได้นานที่สุด ซึ่งที่ผ่านมานับแต่เปิดสภามาร่วมสองเดือนกว่า รัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังไม่เจองานหินมากนัก เพราะยังไม่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ ของรัฐบาลเข้าสภาแม้แต่ฉบับเดียว อาจมีแค่บางนัดที่วิปรัฐบาลเจอปัญหาติดขัดบ้างในบางโอกาสกับการโหวตเสียงในที่ประชุมสภา แต่ก็ผ่านมาพอได้ ยังไม่ถึงกับเสียหายทางการเมืองร้ายแรงนัก

      อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีคิวสำคัญที่รออยู่ก็คือ การผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในช่วงเดือนตุลาคม ที่รัฐบาลจะพลาดไม่ได้เด็ดขาด อาจเพราะด้วยเหตุนี้ ที่พวกนักการเมืองบางคนรู้จุดอ่อนรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำดีว่าสามารถนำมาต่อรองกับแกนนำ พปชร.ได้  ผสมกับจังหวะที่รัฐบาลอยู่ในช่วงการจัดสรรเก้าอี้ทางการเมืองในกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี-รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

      ซึ่งลำพังแค่ภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง การจัดสรร ก็ยังไม่ลงตัว เพราะตำแหน่งมีน้อยแต่คนอยากเป็นเยอะ โดยเฉพาะพวกที่สอบตก ส.ส.เขตหรือพวกลงบัญชีรายชื่อแล้วอันดับ ส.ส.ไปไม่ถึง ตลอดจนสปอนเซอร์ นายทุนพรรค ที่ก็ต้องการไต่เต้าทางการเมือง โดยมีตำแหน่งในฝ่ายบริหารเป็นเครดิตติดตัว เลยทำให้บางพรรคมีปัญหา  จัดสรรกันไม่ลงตัว

      เท่านั้นไม่พอ ในพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มี กลุ่ม 10 พรรค ที่เป็นพรรคขนาดเล็ก มี ส.ส.พรรคละ 1 คน ที่ก็ต้องการมีบทบาทในฝ่ายบริหาร ส่งคนของตัวเองไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล ตามข้อตกลงที่ดีลกันไว้ตอนตั้งรัฐบาล แต่เมื่อเห็นวี่แววว่าจะไม่ได้เก้าอี้ เลยทำให้คนในกลุ่ม 10 พรรคออกมาโวยวาย โดยเฉพาะ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์" ที่ออกมาย้ำว่า จะแยกตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่ร่วมเป็นพรรครัฐบาลแล้ว โดยมีแนวร่วมคือ นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล หน.พรรคประชาธรรมไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว ของนายมงคลกิตติ์เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง จนหลายฝ่ายเริ่มเอือมระอา จนไม่ให้ราคามากนัก 

      กระนั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ในอีกประมาณสองเดือนข้างหน้า ทำให้แกนนำ พปชร.มองว่ายังไงก็ต้องรักษาเสียง ส.ส.รัฐบาลเอาไว้ ไม่ให้แตกแถว ไม่เช่นนั้น เสียงโหวตในสภามีปัญหาแน่ เลยต้องรีบลงมาเคลียร์ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย และรอบนี้ก็ใช้บริการคนเดิม ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ -มือประสานการเมืองคนสำคัญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นคนไปดีลกับกลุ่ม 10 พรรคตั้งแต่ต้น

      โดยในวันอังคารที่ 13 ส.ค.นี้ ธรรมนัส ได้นัดกลุ่ม 10 พรรคไปกินกาแฟ หารือการเมืองกัน ณ อาคารที่ทำการพรรคประชานิยมของ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ย่าน ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับมีข่าวว่าในช่วงหยุดยาวสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำพรรคพลังประชารัฐได้เข้าเคลียร์กับกลุ่ม 10 พรรคหลายคน จนลงตัวเกือบหมดแล้ว ยกเว้นแค่นายมงคลกิตติ์ที่ยังยึกยักอยู่ ทำนองไม่อยากกลับลำตอนนี้ เพราะออกตัวแรงไปแล้ว แม้มีข่าวว่าพลังประชารัฐตกลงจะให้เก้าอี้ประธาน กมธ.การคลังฯ หรือ ปธ.กมธ.ศึกษาฯ หรือโควตาเก้าอี้ประธานกมธ.สามัญคณะใดคณะหนึ่งที่พลังประชารัฐจะได้ ก็จะนำโควตาดังกล่าวไปผลักดันให้นายมงคลกิตติ์ได้ขึ้นมาเป็นปธ.กมธ.แทน

      สำหรับการเคลียร์กันล่าสุดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับกลุ่ม 10 พรรค มีข่าวว่าพลังประชารัฐยอมเฉือนโควตาเก้าอี้ทางการเมือง โดยเฉพาะ "กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี" ให้กับกลุ่ม 10 พรรคแล้ว เบื้องต้นที่ลงตัวมีประมาณ 4-5 พรรค และจะมีการทยอยนำรายชื่อเข้า ครม.ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ หากการตรวจสอบคุณสมบัติผ่านเรียบร้อย ซึ่งที่น่าจะลงตัวระดับหนึ่งก็มีเช่น 1.สมเกียรติ ศรลัมพ์  หน.พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่งได้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (เทวัญ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนา) 2.ให้โควตากับพรรคครูไทยเพื่อประชาชนของปรีดา บุญเพลิง เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 3.นพ.นิทัศน์ รายยวา เลขาธิการพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. ได้เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4.ให้โควตาให้กับพรรคประชาธิปไตยใหม่ของนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย 5.ให้โควตากับนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคพลังไทยรักไทย เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น

      แม้รอบนี้สุดท้ายพลังประชารัฐจะเคลียร์กับกลุ่ม 10 พรรคได้ แต่ก็เชื่อได้ว่าการเป็นรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ แล้วต้องโดนพรรคร่วมรัฐบาลต่อรอง-ขย่มไปแบบนี้ จนพลังประชารัฐและตัวพลเอกประยุทธ์ต้องยอมให้เรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่นอน โดยเฉพาะหากการต่อรองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม

      ถ้าแบบนั้นเชื่อว่าประชาชนคงสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภาเสีย ยังจะดีกว่าปล่อยให้นักการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลกดดัน-ต่อรอง ไม่จบไม่สิ้น!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"