6มีนาลุ้นศาลฎีกาฯสั่งพิจารณาคดีลับหลังแม้วหรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

 5 มี.ค.61 -  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา  09.30 น. วันที่ 6 ม.ค.นี้  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามกฎหมายใหม่ ในคดีที่ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทุจริตออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต โดยฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยหรือไม่

สำหรับการรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาพิจารณาลับหลัง เนื่องจากจำเลยหลบหนี เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ มาตรา 28 ระบุกรณีที่ศาลออกหมายจับจำเลย แต่ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
 
ทำให้คดีของนายทักษิณที่ถูกจำหน่ายออกจากสารบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) อาจนำมาพิจารณาใหม่ได้ มีคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 2 คดี คือ 1.คดีทุจริตออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิต ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ เป็นจำเลย ซึ่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 5 ต.ค. 2551 ปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่มาศาล พฤติการณ์มีเหตุควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีจึงให้ออกหมายจับจำเลย และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และ 2.คดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณกับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลย นัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 11 ต.ค. 2555 แต่นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล พฤติการณ์สงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ชั่วคราว
 
ทั้ง 2 คดี อัยการสูงสุดได้มีคำร้องขอให้ศาลฎีกา อม. มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ก่อนหน้านี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ตั้งองค์คณะ 9 คน พิจารณาการฟื้นคดีทุจริตออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตแล้ว ซึ่งในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ถ้าองค์คณะพิจารณาเห็นว่าคำร้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีคำสั่งรับคำร้องอนุญาตให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามกฎหมายใหม่  
 
นอกจากนี้ยังมีคดีที่ ป.ป.ช. กับอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เคยร่วมกันสอบสวนและยื่นฟ้องนายทักษิณ 2 คดี คือ 1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยบนดิน) ที่ คตส.โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณกับพวกรวม 47 คน เป็นจำเลย ซึ่งนายทักษิณ จำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ชั่วคราว และ 2.คดีทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (Exim Bank) ที่ คตส.โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ เป็นจำเลย ซึ่งในวันที่ศาลนัดพร้อมจำเลยไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีและออกหมายจับจำเลย
 
ทั้ง 2 คดี ป.ป.ช.ได้มีคำร้องขอให้ศาลฎีกา อม. มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยแล้วเช่นเดียวกันกับทางฝั่งอัยการสูงสุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"