‘เจษฎ์’ยันถวายสัตย์ถูกขั้นตอน


เพิ่มเพื่อน    

 "เจษฎ์" ยัน "บิ๊กตู่" ถวายสัตย์ฯ ถูกต้องทุกขั้นตอน แต่อาจไม่สมบูรณ์ รัฐธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ ไม่จำเป็นต้องลาออกจากเก้าอี้นายกฯ ชี้ไม่เข้าข่าย ม.112 เพราะอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ แนะรอความชัดเจนจากศาล รธน. แต่เพื่อไทยยังขย่มไม่เลิก ไล่ให้ลาออก ขอพระราชทานอภัยโทษ

    นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่เป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ว่าในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนจะผิดหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทลงโทษบัญญัติไว้ แต่ตามมาตรา 5 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐบาลจะกระทำการใดๆ ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เพียแต่อาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น จากนี้ต้องทำให้สมบูรณ์
    “มาตรา 5 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากการกระทำใดไม่เข้าข่ายมาตรา 5 วรรค 1 ให้ยึดตามจารีตประเพณีการปกครองเดิมที่เคยทำมา ซึ่งในอดีตก็ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนแล้วต้องลาออกเช่นกัน ส่วนตัวจึงไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี” 
    นายเจษฎ์กล่าวว่า สำหรับวิธีแก้ปัญหามี 3 แนวทางคือ 1.อยู่เฉยๆ เพราะถือว่าได้ถวายสัตย์ฯ แล้ว 2. เมื่อมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและอัยการ ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ สุดท้ายต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นคือรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และ 3.หากเห็นว่าไม่ครบถ้วนจริง นายกรัฐมนตรีทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยว่า ต้องถวายสัตย์ฯ อีกครั้งหรือไม่ หรือจะมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการอย่างไร
    เขาบอกว่า การจะมีผู้ได้ดำเนินการเอาผิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น่าจะเข้าข่าย เพราะไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ หรือไม่ได้ดูหมิ่น เพียงแต่กระบวนการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกแล้วไม่มีเจตนา และคงไม่มีใครที่จะเจตนาขัดรัฐธรรมนูญถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
    "การถวายสัตย์ฯ ตามมาตรา 161 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้สมบูรณ์ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนยอมรับด้วยเท่านั้น” 
รอศาลรัฐธรรมนูญ
    นายเจษฎ์ยังกล่าวถึงข้อสังเกตหากรัฐบาลดำเนินการตามมาตรา 161 ไม่สมบูรณ์ จะถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และสิ่งที่ดำเนินการระหว่างนี้จะถือเป็นโมฆะหรือไม่ว่า ทั้งหมดต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ความเห็นที่เกิดขึ้นมาในระหว่างนี้ ถือเป็นการสมมุติขึ้นมาของแต่ละบุคคล เพราะเรื่องลักษณะการถวายสัตย์ฯ ไม่สมบูรณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้น 
    “ไม่ใช่ว่าไม่เคยถวายสัตย์ฯ เพียงแต่ไม่สมบูณ์ รัฐบาลไม่ใช่ทำเรื่องที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น เพียงแต่ต้องทำให้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์มีความสมบูรณ์ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางร้าย เท่ากับว่าการแถลงนโยบายจะต้องกลายเป็นศูนย์ รัฐมนตรีทุกคนจะถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่มีรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อยังไม่มีรัฐบาล จะถือว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อ ดังนั้น คสช.จะต้องกลับมาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยากให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะดีที่สุด” นายเจษฎ์กล่าว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะแก้ไขทุกอย่างให้เรียบร้อย ดังนั้น อยากให้ฝ่ายค้านจบเรื่องนี้ได้แล้ว ทางที่ดีพรรคร่วมฝ่ายค้านน่าจะเอาอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่เอาเวลาไปลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน แล้วสะท้อนมายังรัฐบาล เพื่อที่รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งดีกว่ามาทำเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์กับพี่ประชาชน
    รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐบอกว่า ขณะนี้มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากฝากผ่าน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในหลายจังหวัด เพื่อส่งกำลังใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ และไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ท้อด้วยเรื่องนี้ เพราะทราบดีว่าท่านไม่ได้มีเจตนา และทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ฝ่ายค้านทำเหมือนจะนำเรื่องนี้มาล้มรัฐบาล 
    "ประชาชนอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานให้กับบ้านเมืองต่อไป เพราะมั่นใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่มุ่งมั่นทำงานให้กับประชาชนจริงๆ รักชาติ รักประชาชน และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่ประชาชนคาดหวังได้ โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดังนั้น ต้องขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทั่วประเทศที่ห่วงใยท่านนายกฯ และขอให้เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไป" นายธนกรกล่าว
    ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและเเผนงาน พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้นเมื่อถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเกิดผลอะไรตามมาบ้างจากความบกพร่องครั้งนี้ และอยากทราบว่านายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านได้ท้วงติงหลายครั้งถึงเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีการแก้ไข และยังยืนยันว่าการถวายสัตย์ฯ มีความครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเคยถวายสัตย์ปฏิญาณมาแล้วหลายครั้ง แต่เหตุใดครั้งนี้จึงผิดพลาด
ให้ลาออกสถานเดียว
    ทั้งนี้ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด แต่กังวลว่าหากศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำที่ผ่านมาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องนี้จะเป็นอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาว่าจะเพิกถอนการกระทำของคณะรัฐมนตรีหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาล และการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้เข้าข่ายเป็นโมฆะได้ เพราะถือว่าคณะรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์
    นายโภคินกล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า การกระทำทางปกครองผิดคำสั่งหรือรูปแบบ จะต้องไปทำใหม่ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีผลใช้บังคับได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกมายอมรับว่ากำลังแก้ปัญหาอยู่ ขอรับผิดชอบเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียวของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมาในช่วงเวลาที่สายเกินไป แต่ก็ถือเป็นใบเสร็จสำคัญว่าความผิดสำเร็จแล้ว การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ทำให้การเข้ารับตำแหน่งไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามไปด้วย จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหา ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่เหนือกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย 
    "หาก พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.จะรับผิดชอบโดยการลาออก ในสิ่งที่กระทำไม่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้"
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงแรกคนในซีกรัฐบาลพยายามออกมาบิดเบือนว่าเป็นคลิปตัดต่อ หรือเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับสารภาพชัดเจนขนาดนี้ คนเหล่านั้นต้องออกมาขอโทษประชาชน รวมถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.ก็ต้องขอโทษประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน มิใช่เลือกปฏิบัติและกล่าวคำขอโทษเฉพาะคณะรัฐมนตรีเพียงเท่านั้น
    “หาก พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ลาออก ก็มีทางแก้อยู่ 2 ทางคือ 1.นายกฯ ต้องนำ ครม.กลับไปถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบ เพราะการขับเคลื่อนนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินระหว่างนี้ เต็มไปด้วยความกังวลว่า การทำงานของรัฐบาลจะเป็นโมฆะหรือไม่ 2.นายกฯ ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การกระทำที่ผิด กลายเป็นสิ่งที่ไม่ผิด เวลาของ พล.อ.ประยุทธ์และ ครม.มีจำกัด ควรเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน” นายอนุสรณ์กล่าว
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า การขอโทษ ครม.เป็นเรื่องภายในของรัฐบาล ไม่ใช่การขอโทษประชาชน หากออกมาขอโทษประชาชนเขาอาจรับได้ แต่กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการกระทำมิบังควร และเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้สถานภาพของรัฐบาลไม่สมบูรณ์ รัฐบาลจะทำอย่างไรให้สถานภาพของรัฐบาลสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารงาน เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ในอนาคตหากมีการตีความว่ารัฐบาลมีสถานภาพไม่สมบูรณ์ การบริหารงานช่วงที่ผ่านก็จะเป็นปัญหา 
แนะขออภัยโทษ
    "นายกฯ ควรขออภัยโทษ และเคลียร์สถานภาพให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยบริหารงานต่อ ในส่วนของฝ่ายค้านจะยื่นกระทู้ถามสดในเรื่องนี้ในวันที่ 14 ส.ค. หากได้คำตอบที่ชัดเจนก็จะไม่ทำอะไร แต่ถ้ารัฐบาลตอบไม่เคลียร์และไม่ทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็จำเป็นต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่อยากยื่นอภิปรายในตอนนี้ อยากให้รัฐบาลได้ทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก่อน" นายสุทินกล่าว
    ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยมีความคิดจะสละเก้าอี้นายกฯ อยู่ในหัวสมอง ไม่อย่างนั้นคงไม่ทำลายหลักนิติธรรมของประเทศจนพังป่นปี้ และดันทุรังตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าจะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ และอันที่จริงคนกลุ่มแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องขอโทษในกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญคือประชาชน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบขอโทษประชาชนก่อน ไม่ใช่ไปขอโทษรัฐมนตรีใน ครม. ทั้งนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเป็นตีลูกมึนและวางเฉย ทั้งๆ ที่รู้ตัวแล้วว่าได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำผิดต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาล แต่กลับทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่นายกฯ กลับไม่เคารพ 
    "โดยการทำผิดรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ จะเป็นบททดสอบว่ากฎหมายบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนไทยทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันจริงหรือเปล่า หรือว่า พล.อ.ประยุทธ์มีอภิสิทธิ์ จึงทำผิดกฎหมายได้ โดยไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมายเหมือนคนไทยคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบหลังจากนี้ จะเป็นคำตอบได้อย่างดี ทั้งนี้ การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญพอๆ กับคำถามที่ว่ารัฐบาลที่ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลได้พูดปัดความรับผิดชอบ แถมยังบอกให้สังคมมองข้ามเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไม่ควรมองข้าม ไม่อย่างนั้นจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องว่า ประเทศนี้มีระบอบอภิสิทธิ์ชน หากใครมีเงิน มีอำนาจก็ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายก็ได้"
    ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวอีกว่า ที่น่าสังเกตคือ กระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกนั้น รัฐบาลเป็นฝ่ายจุดประเด็นขึ้นมาเอง แล้วก็ออกมาปฏิเสธเอง เหมือนพูดเองเออเอง แต่คนนอกนั้นมองออกตั้งนานแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ยึดติดกับเก้าอี้นายกฯ มากแค่ไหน และทราบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์เสพติดอำนาจหนักขนาดไหน จึงแต่งตั้งตัวเองเป็นทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและความมั่นคง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่สำคัญหาก พล.อ.ประยุทธ์พอจะมีจิตสำนึกอยู่บ้าง ก็คงไม่ทำลายหลักนิติธรรมของประเทศจนเสียหายย่อยยับ เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง ทั้งๆ ที่ก็รู้ตัวดีว่ามันฝืนความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องย้ำบ่อยนักก็ได้ว่ายังไงก็ไม่ลาออก เพราะชาวบ้านเห็นธาตุแท้ของท่านมา 5-6 ปีแล้ว
ญาติวีรชนร่วมวง
    นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ได้ออกแถลงการณ์ของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ครบถ้วน ว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560และยังมีการต่อเติมถ้อยคำนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ถือว่าหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าพระพักตร์
          คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ขอตำหนินายกฯ และใคร่ขอเตือนให้รีบดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร่งด่วน ด้วยเหตุผลดังนี้
          1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะอดีตหัวหน้า คสช.ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกที่เที่ยวตำหนิผู้อื่น นำเรื่องสถาบันมาเล่นงานอีกฝ่ายมาตลอดว่าไม่จงรักภักดี อ้างตนเองมีความจงรักภักดีเหนือกว่าใครๆ ในแผ่นดินนี้ แต่กลับปฏิบัติตนตรงกันข้าม ดังนั้น ต้องรีบการแก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นชัดว่ามีความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
           2.การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคําที่บัญญัติตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องทุกถ้อยคำ ไม่ใช่ใครนึกจะกล่าวคำอะไร ตัดทอน หรือเพิ่มเติมอะไรลงไปได้ ไม่เช่นนั้นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณก็ไร้ความหมาย และการที่คณะรัฐมนตรีกล่าวคำปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์ ถือเป็นการแสดงสัญญาประชาคม จึงเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายอย่างมากต่อประชาชน บุคคลใดจะลบหลู่มิได้
          3.กรณีที่นายกรัฐมนตรีขอโทษต่อคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องรีบแถลงขอโทษต่อประชาชนทั้งประเทศ เนื่องด้วยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่เคารพยิ่งของประชาชนทุกหมู่เหล่า การกระทำใดๆ ที่ไม่แสดงออกซึ่งความจงรักภักดี จึงถือเป็นเรื่องถือสาที่สุดของประชาชนจะทนรับได้ และต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่ใช่ให้คนอื่นหยุดพูด หรือจบแบบเป็นที่กังขาของสังคม
          4.พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ผู้มีภารกิจหน้าที่ ดูแล ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ ต้องแสดงท่าทีต่อการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเร่งด่วน เพราะไม่ว่ามันผู้ใดจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด เพื่อแสดงจุดยืนของกองทัพที่ต้องปกป้องรักษาราชบัลลังก์ สร้างบรรทัดฐาน ไม่ให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
          5.เรื่องพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจขอวิงวอนทุกฝ่ายอย่าดึงสถาบันมาห้ำหั่นกันทางการเมือง เพราะเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดของสังคมไทยมามากพอแล้ว
    นายสุทิน วรรณบวร อดีตนักข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sutin Wannabovorn โดยมีเนื้อหาดังนี้ "คลั่ง ปชต. แต่ใช้มาตรฐานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใครอยู่ใกล้ช่วยพาไอ้หมอนั่นส่งหลังคาแดงที เพื่อเรียกสติคืนมาจาก ย้อนยุคกลับไป 316 ปี ถึงสมัยพระเจ้าเสือ ที่พันท้ายนรสิงห์ยอมถวายหัวเพื่อรักษาไว้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎมณเทียรบาล
    ให้หมอฉีดยาฟื้นฟูสมองให้มันเพื่อได้สำเหนียกว่ายุคนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนปี พ.ศ.2562  นั้นปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบนี้เขาแบ่งอำนาจและถ่วงดุลกันเป็น นิติบัญญัติ ตุลาการ บริหาร
    เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกล่าวว่าฝ่ายบริหารทำความผิด และส่งเรื่องให้ฝ่ายตุลาการพิจารณตัดสินแล้ว  ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอารยะก็จะไม่ก้าวก่ายแทรกแซงโหวกเหวกโวยวายคล้ายกับว่า.. ศรีธัญญาน่าจะมีภาระเพิ่มขึ้น".
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"