'ทรัมป์-ปูติน' กลับไปเสริม แสนยานุภาพนิวเคลียร์ใหม่!


เพิ่มเพื่อน    

           โดนัลด์ ทรัมป์สร้างความปั่นป่วนด้านการค้า การเงินและการเมืองเสร็จ ก็หันมาสร้างความไม่แน่นอนเรื่องดุลแห่งอาวุธร้ายแรงกับรัสเซีย

                ด้วยการประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าสหรัฐฯ ประกาศจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty (INF)

                ทำไมต้องรื้อข้อตกลงนี้?

                คำตอบคือ ทรัมป์ต้องการจะให้กองทัพสหรัฐฯ หันไปพัฒนาหัวรบรุ่นใหม่

                แนวทางของทรัมป์คือ Peace Through Strength หมายความว่าเขาจะรักษาสันติภาพด้วยการเสริมสร้างพลังทางด้านอาวุธ!

                ทรัมป์อ้างว่าที่ต้องตัดสินใจอย่างนั้น เพราะรัสเซียยืนยันว่าจะไม่ทำลายขีปนาวุธรุ่นใหม่ของตนเอง

                หากเป็นเช่นนั้น ทรัมป์บอกว่ารัสเซียทำไม่ถูกเพราะองค์การนาโตระบุว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญา  INF

                ทั้งๆ ที่ทรัมป์เองก็ไม่ค่อยจะมีความเลื่อมใสในนาโตนัก เคยพูดแขวะหลายครั้งว่าสมาชิกนาโตเอาเปรียบอเมริกามาตลอด ปล่อยให้สหรัฐฯ เป็นคนควักกระเป๋าดูแลค่าใช้จ่ายขององค์กรนี้เป็นหลัก

                แต่เมื่อเขาสามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อประโยชน์ของตน ทรัมป์ก็ไม่ลังเลที่จะใช้นาโตเป็นหัวหอกในเรื่องที่ตนต้องการทำเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน

                พอนักข่าวทำเนียบขาวถามเรื่องนี้ ทรัมป์บอกว่า "รัสเซียเองก็ต้องการจะถอนตัวจากสนธิสัญญา  INF นี้นี่นา เมื่อเป็นอย่างนี้ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร"

                ทรัมป์บอกว่าเมื่อยกเลิก INF ของเก่าก็จะสามารถเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทน

                INF ที่ว่านี้เป็นข้อตกลงในยุคสงครามเย็น เขาต้องการจะปรับแก้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย

                แต่ทรัมป์บอกว่ายังมิได้หารือเรื่องสนธิสัญญา INF กับประธานาธิบดีปูตินแต่อย่างใด ซึ่งก็แปลว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ทรัมป์ทำก่อนที่จะปรึกษาหารือกับคู่สัญญา

                ปูตินก็ดูเหมือนจะไม่แคร์ เพราะเท่ากับว่าสามารถจะเอารัสเซียออกจากข้อผูกพันเดิมๆ

                สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับชาวโลกก็คือว่า หากสองมหาอำนาจด้านอาวุธร้ายแรงนี้กลับไปสู่การวิจัยและพัฒนาอาวุธพิสัยกลางมากขึ้น ความเสี่ยงของการทำสงครามด้วยอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงก็จะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

                ความไม่แน่นอนของบรรยากาศการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้วทุกวันนี้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

                ยิ่งเรากำลังอยู่ในช่วง "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

                และอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงของการเกิด "สงครามไฮเทค" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซียพร้อม ๆ กันไปด้วย

                ก็ยิ่งทำให้น่าหวาดหวั่นว่า การกลับไปพัฒนาเสริมเขี้ยวเล็บด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกากับรัสเซียอาจจะทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องหันมาทุ่มงบประมาณเพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพิ่มขึ้นอีก

                อะไรๆ ที่น่าหวาดเสียวอยู่แล้วก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดสงครามรอบใหม่ได้อีก

                แม้แต่เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียเรซ ยังแสดงความกังวลว่าหากสนธิสัญญานี้หมดอายุลง โลกจะไม่มีเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ยับยั้งสงครามนิวเคลียร์อีกต่อไป

                นั่นย่อมแปลว่าภัยคุกคามจากขีปนาวุธก็จะเพิ่มขึ้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

                ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติจึงขอให้ทุกฝ่ายหาทางเจรจาตกลงกันเพื่อหาแนวทางใหม่ในการควบคุมอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงนี้

                น่าสังเกตว่าในช่วงหลังๆ นี้ สหรัฐฯ ชี้นิ้วกล่าวหารัสเซียว่าเพิกเฉยต่อคำเตือนจากหลายประเทศเรื่องการละเมิดสนธิสัญญาฉบับนี้

                โดยเฉพาะมีข่าวว่ารัสเซียกำลังซุ่มพัฒนาขีปนาวุธรุ่นใหม่ SSC-8 ซึ่งมีแสนยานุภาพทำลายที่สูง  เป็นอันตรายต่อบรรยากาศสันติภาพของโลก

                มอสโกปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

                เดือนที่แล้วปูตินลงนามในร่างกฎหมายที่สกัดการเข้าร่วมของรัสเซียในสนธิสัญญา INF ชั่วคราว

                ต่อมาประมาณ 5 เดือนก่อนนี้ สหรัฐฯ ได้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

                เท่ากับต่างคนต่างเลิกข้อผูกมัดเดิมแล้ว

                ข้อตกลง INF นี้เป็นผลงานประวัติศาสตร์ระหว่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรแนลด์ เรแกน และอดีตผู้นำรัสเซีย มิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาควบคุมหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF เมื่อปี ค.ศ.1987               

                นั่นเป็นยุคสงครามเย็นที่มีความเสี่ยงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะก่อเหตุร้ายด้วยอาวุธร้ายแรง

                ทำให้เรแกนกับกอร์บาชอฟยอมแสวงหาข้อตกลงเพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของยุโรป โดยห้ามการพัฒนาหรือติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางแบบยิงจากพื้นดินที่มีระยะทำการระหว่าง 500-5,500 กม.

                แต่วันนี้ทรัมป์กับปูตินกำลังจะเล่นเกมอันตรายด้วยการกลับไปสร้างอาวุธร้ายแรงรอบใหม่

                อย่างนี้ทรัมป์จะไปหว่านล้อมให้คิม จองอึนแห่งเกาหลีเหนือเลิกโครงการนิวเคลียร์ของตัวเองได้อย่างไร?

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"