“สนามเด็กเล่นปลอดภัย” ถือเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการออกกำลังกาย อีกทั้งช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของเด็กให้แข็งแรง ทว่าปัจจุบันนั้น สนามเด็กเล่นถือว่าเป็นสถานที่สุดอันตราย เนื่องจากมีเด็กบาดเจ็บเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าสูงถึงปีละ 3 หมื่นราย ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ยังกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความใส่ใจในการติดตั้งสนามเด็กเล่นปลอดภัย
(รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์)
“สนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย หน้าตาเยี่ยงไร? คือสิ่งที่ทุกคนที่ห่วงใยเด็กๆ อยากเห็น!!” รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในโอกาสเปิดตัวและส่งมอบสนามเด็กเล่นปลอดภัยให้กับโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ภายใต้สโลแกน “สนามเด็กเล่นได้เล่นดี ต้นแบบสนามเด็กเล่น” มาสะท้อนถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้น้องหนูๆ วัยเรียนได้รับอันตรายจากสนามเด็กเล่นที่ไม่ปลอดภัย 2 ประการ คือ “อุปกรณ์เครื่องเล่นติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน” และ “ขาดการบำรุงรักษา”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ บอกว่า สนามเด็กเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กมาก ในต่างประเทศมีทุกริมถนน แต่ว่าในบ้านเรานั้นมีแต่ก็ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เกือบจะทุกที่คิดเป็นร้อยละ 90 ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการไม่ได้ยึดติดฐานรากของสนามเด็กเล่น จึงนำมาซึ่งอุบัติเหตุเครื่องเล่นล้มทับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นเหตุการตายอันดับหนึ่งสำหรับเครื่องเล่นในบ้านเรา ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่มีเหตุการณ์อันตรายในลักษณะอย่างนี้
“ดังนั้นข้อที่ 1.สำหรับการสร้างสนามเด็กเล่นที่ดีคือ “การยึดติดฐานราก” 2.การตายของเด็กนั้นคือการตกจากที่สูง คือศีรษะกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง ประกอบกับบางครั้งเครื่องเล่นถูกออกแบบมาสูงจนเกินไป ในต่างประเทศมีมาตรฐานบังคับว่า ของเล่นนั้นจะต้องมีความสูงไม่เกิน 180 เซนติเมตร และพื้นต้องดูดซับพลังงานเพื่อป้องกันเด็กหกล้ม เช่น ถ้าเป็นทรายต้องใช้ในปริมาณ 30% ของความลึก แต่ถ้าใช้พื้นยางสังเคราะห์จะต้องคำนวณตามวัสดุที่ใช้ ว่าจะต้องใช้ความหนาเท่าไหร่ เพื่อลดความกระแทก ที่สำคัญบริเวณสนามเด็กเล่นปลอดภัยควรจะมีต้นไม้ที่ไม่สูงมาก อีกทั้งควรมีตัดกิ่งใบเพื่อให้เด็กได้ปีนป่าย ที่สำคัญร่มใบของต้นไม้นั้นจะช่วยลดอุณหภูมิความร้อน และทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ตรงนี้ก็จะยิ่งเพิ่มการเล่นในสนามเด็กเล่นของเด็กให้ยาวนานขึ้น หรือแม้แต่การทำรั้วล้อมรอบสนามเด็กเล่น ตรงนี้จะช่วยป้องกันเด็กเดินสะดุดขอบสนามเด็กเล่น เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์จะไม่เดินเข้าไปชนวัตถุที่ก่อให้เกิดอันตราย ตรงกันข้าม เด็กจะระมัดระวังในการเดินไปสู่สนามเด็กเล่น เรื่องอื่นก็จะรองลงมา เช่น ช่องหรือรูของเครื่องเล่นที่จะไปรัดคอเด็ก หรือแม้แต่การออกแบบให้มีเชือกปีนป่าย ซึ่งจะสามารถทำให้พันคอเด็กได้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องห้าม ส่วนการบาดเจ็บอื่นๆ เช่น กระดูกหัก และนิ้ว มือติด ปากถูกของเล่นทิ่มแทง อีกทั้งต้องคำนึงถึงการบาดเจ็บจากสารเคมีที่มองไม่เห็น สารตะกั่วที่อยู่ในสี มีผลต่อไอคิว
สนามเด็กเล่นนั้นเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว “การตรวจเช็กความปลอดภัย” ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉะนั้นการที่มีการตรวจสอบ การซ่อมแซม และการหยุดห้ามการเล่นเมื่อมีการชำรุดเป็นสิ่งที่สำคัญ เด็กนั้นต้องเล่นอย่างฉลาด และต้องมีการเรียนรู้กฎระเบียบการเล่น ในส่วนของทางโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ที่จัดให้มีกิจกรรมอบรมพี่เลี้ยง หรือนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 ในการตรวจเช็กอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นปลอดภัยทุกเช้า และคอยเฝ้าดูการเล่นของเด็กเล็ก คอยเตือนน้อง เช่น การไม่นำเชือกไปผูกขึงไว้ที่เครื่องเล่น และปืนขึ้นไป ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดอันตรายจากการตกจากที่สูง นอกจากนี้ เด็กๆ จะต้องไม่กระโดดจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง รวมถึงต้องเล่นให้ถูกต้องกับเครื่องเล่นแต่ละชนิด เช่น เครื่องเล่นที่ออกแบบให้เล่นด้านใน เด็กๆ ก็ต้องเข้าไปเล่นข้างใน โดยไม่ปืนป่ายข้างนอก เพื่อให้เด็กเล่นที่เข้ามาเล่นในสนามเด็กเล่นปลอดภัย เครื่องเล่นไม่ล้มทับ ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะทำให้เกิดการตรวจสอบในระยะยาว เพราะต้องทำทุกวัน ทำให้เกิดภาพการดูแลที่ชัดเจน เพราะถ้าให้ครูดูอย่างเดียว ครูอาจจำกัดเวลาในการเล่นเลย เช่น เปิดให้เล่นบางชั่วโมง ซึ่งนั่นจะไม่ใช่ฟรีเพลย์ แต่จะเป็นการเล่นที่กำหนด เช่น เล่นในชั่วโมงวิชาพลศึกษา ทำให้เสียโอกาสในการเล่น ดังนั้นเราก็อยากให้การเล่นของเด็กเป็นเรื่องที่อิสระ แต่ครอบคลุมความปลอดภัยได้ หรือในวันหยุดนั้น ในโรงเรียนที่ได้มีการสร้างสนามเด็กเล่นปลอดภัย ก็ควรมีแนวคิดในการเปิดพื้นที่โรงเรียนให้เป็นพื้นที่ของครอบครัวในวันหยุด เพื่อให้ใช้พื้นที่สาธารณะในโรงเรียน ตรงนี้เป็นนโยบายที่อยากฝากไปถึงโรงเรียนช่วยพิจาณาดูครับ”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกอีกว่า ในส่วนของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากที่ส่งมอบสนามเด็กเล่นปลอดภัยให้กับทางโรงเรียนวัดสุวรรณารามแล้ว ทุก 3 เดือนก็จะส่งฝ่ายกายภาพของสถาบันเด็กฯ ทั้งชุดที่ร่วมก่อสร้างและติดตั้งสนามเด็กเล่นปลอดภัยร่วมกับโรงเรียนและชุมชน มาตรวจเช็กอุปกรณ์ของเล่น และรับรายงานการตรวจของนักเรียน ที่เป็นการตรวจแบบพินิจเป็นประจำทุกวัน เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขเครื่องเล่นให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดของนอต หรือสนิมที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เครื่องเล่นชำรุด เป็นต้น
(ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์)
ด้าน ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวเสริมว่า “สำหรับอุปกรณ์ของเล่นที่นำมาติดตั้งในครั้งนี้ถือว่ามีความปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานสนามเด็กเล่น ที่สำคัญเป็นเครื่องเล่นซึ่งผลิตจากเมืองหนานจิง ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับมาตรฐานในการผลิตของเครื่องเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ ดังนั้นทุกครั้งในการเล่นสนามเด็กเล่นของเด็ก นอกจากเครื่องเล่นมีความปลอดภัย และมีพี่ ป.4-ป.5 คอยดูแลน้องๆ แล้ว เด็กๆ ก็จำเป็นจะต้องเล่นอีกถูกวิธี เช่น ไม่ปืนขึ้นไปบนของเล่นและกระโดดลงมา เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ และเวลาที่เล่นเครื่องเล่นก็ต้องไม่แขวนสร้อยพระ ตรงนี้พี่ๆ ป.4 ที่ได้รับการอบรมให้ดูแลน้องก็ต้องคอยตรวจสอบด้วยเช่นกัน”.
พี่ป.4 ดูแลน้องๆวัยซน เพื่อสนามเด็กเล่นปลอดภัย
(กานดา ขาพันธ์)
ข้าวเม่า-กานดา ขาพันธ์ บอกว่า “เป็นเวรตรวจเช็กสนามเด็กเล่นวันอาทิตย์ช่วงเช้าค่ะ ส่วนหนึ่งก็ชอบสนามเด็กเล่นปลอดภัยนี้มาก ซึ่งนอกจากเครื่องเล่นที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ล้มทับน้องๆ แล้ว ก็ชอบตรงพื้นทราย เวลาที่น้องๆ หกล้มจะไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่ข้อเสียพื้นทรายอาจจะมีเศษใบไม้ลงไปฝังทำให้สกปกปรกได้ง่ายค่ะ“
(พรชิตา อรอ่อน)
บิว-พรชิตา อรอ่อน บอกว่า “บิวได้รับผิดชอบให้ตรวจสอบสนามเด็กเล่นวันศุกร์ค่ะ ชอบสนามเด็กเล่นปลอดภัยนี้ค่ะ ส่วนหนึ่งเครื่องเล่นก็มีสีสันสดใสน่าเล่น มีต้นไม้ให้น้องๆ ได้ปีนป่าย เวลานั่งเล่นก็ไม่ค่อยร้อนค่ะ บิวชอบทุกอย่างเลย มันแตกต่างจากสนามเด็กเล่นก่อนหน้านี้ค่ะ คือแต่ก่อนจะค่อนข้างมีสนิมเกาะที่ของเล่น หรือบางอย่างก็ชำรุด ทำให้เล่นไม่ค่อยสนุก แต่ตอนนี้ก็ดีหมดทุกอย่างค่ะ ที่สำคัญมีรั้วเปิด-ปิดเป็นเวลาค่ะ”
(ขวัญกมล กอสาลี)
แสตม-ขวัญกมล กอสาลี บอกว่า “รู้สึกดีมากค่ะที่โรงเรียนของเรามีสนามเด็กเล่นปลอดภัย ส่วนตัวหนูชอบทุกอย่างเลย โดยเฉพาะความแข็งแรงของสนามเด็กเล่น มีทรายนิ่มๆ ให้น้องๆ วิ่งเล่น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมาก ที่สีของเครื่องเล่นจะแตกติดมือเวลาที่ไปเล่น และเครื่องเล่นทุกชิ้นมีการยึดติดนอต ก็จะช่วยเซฟความปลอดภัยให้น้องๆ เพื่อไม่ให้ของเล่นล้มทับ โดยเฉพาะเวลาที่น้องนั่งแกว่งชิงช้าเล่น ส่วนหน้าที่รับผิดชอบของหนูก็คือ การตรวจเช็กสภาพของเครื่องเล่นให้ใช้งานได้เป็นปกติ และความสะอาดรอบๆ สนามเด็กเล่นค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |