จ.น่าน / จัดงานรำลึกครบรอบ 1 ปีดินโคลนถล่มบ้านชาวลัวะห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ชาวบ้านวอนรัฐเร่งสร้างบ้านพักถาวรเพราะอยู่บ้านพักชั่วคราวคับแคบมานานเกือบ 1 ปีแล้ว เผยงานก่อสร้างบ้านพักถาวร 60 หลังล่าช้าเพราะติดปัญหาสภาพพื้นที่เป็นภูเขา การขนส่งลำบาก มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้บริษัทรับเหมาทิ้งงานสร้างบ้าน 30 หลัง ด้านกองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลกเตรียมส่งทหารช่างช่วยสร้างบ้าน
จากเหตุการณ์ดินจากภูเขาถล่มลงใส่หมู่บ้านชาวลัวะ บ้านห้วยขาบ ต.บ่อเกลือเหนือ จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ทำให้บ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่บริเวณเชิงเขาถูกดินถล่มพังทลาย 4 หลัง และเสียหายบางส่วน 2 หลัง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ต่อมาทางจังหวัดน่านมีคำสั่งอพยพชาวห้วยขาบทั้งหมู่บ้าน 60 ครัวเรือน ประชากร 253 คน ลงมาพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว บริเวณสนามกีฬา อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ เพื่อรอการสร้างบ้านพักถาวรในที่ดินแปลงใหม่ โดยมีพิธีลงเสาเอกสร้างบ้านเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ตามแผนงานการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ แต่จนถึงบัดนี้การก่อสร้างบ้านพักถาวรและสาธารณูปโภคต่างๆ ยังมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน
ล่าสุดวันนี้ (9 สิงหาคม) มีการจัดงาน ‘รำลึกภัยพิบัติดินโคลนถล่มบ้านห้วยขาบ’ ที่บริเวณบ้านห้วยขาบเดิม ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ร่วมจัดโดยหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อำเภอบ่อเกลือ กรมป่าไม้ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.น่าน ฯลฯ มีการทำบุญอุทิศกุศลและรำลึกผู้เสียชีวิต การเสวนาแลกเปลี่ยนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ความคืบหน้าการสร้างบ้านพักถาวร โดยมีนายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน มีชาวห้วยขาบและผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนในภาคเหนือเข้าร่วมงานประมาณ 150 คน
นายภานุวิชญ์ จันที ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อเกลือเหนือ ในฐานะผู้แทนชาวบ้านห้วยขาบกล่าวถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวห้วยขาบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านห้วยขาบทั้งหมดจำนวน 60 ครัวเรือน 253 คน ต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมมาอยู่ในบ้านพักชั่วคราวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนงบประมาณและช่วยกันก่อสร้าง เป็นห้องแถวสังกะสี แต่สภาพค่อนข้างคับแคบ กว้างยาวประมาณ 4X4 ตารางเมตร ต้องอยู่กันอย่างแออัด ไม่มีห้องน้ำในตัว ต้องใช้ห้องน้ำรวม และตั้งอยู่ไกลจากบ้านพัก
“คนลัวะจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ บ้านหลังหนึ่งอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 4 คน บางหลังมี 7-8 คน พอมาอยู่บ้านพักชั่วคราวจึงต้องอยู่อย่างแออัดยัดเยียด ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนก็ยิ่งลำบาก เพราะบ้านสร้างด้วยสังกะสี มีหน้าต่างบานเดียว อากาศไม่ค่อยถ่ายเท ยุงก็เยอะ ชาวบ้านก็สุขภาพจิตไม่ดี ทำให้ซึมเศร้า จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันเร่งสร้างบ้านถาวร เพราะมีพิธีลงเสาเอกไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามแผนงานจะใช้เวลาสร้างประมาณ 6 เดือน แต่ตอนนี้เลยกำหนดแล้ว แต่ยังสร้างบ้านตัวอย่างได้แค่ 2 หลัง และยังสร้างไม่เสร็จ ชาวบ้านอยากได้บ้านใหม่เร็วๆ จะได้อยู่ดีกว่าเดิม” ผู้แทนชาวห้วยขาบบอก
สภาพบ้านพักชั่วคราว
ทั้งนี้การก่อสร้างบ้านพักถาวรให้กับประชาชนที่ประสบภัยบ้านห้วยขาบจำนวน 60 หลังคาเรือน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 22,500,000 บาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนการสร้างบ้าน และการประกอบอาชีพ รวม 1,320,000 บาท อบต.ดงพญา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนการจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ ตามแผนงานจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ โดยมีพิธียกเสาเอกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี
ขณะที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้จังหวัดน่านใช้ที่ดินบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ป่าผาแดง หมู่ที่ 2 ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยขาบที่เกิดภัยดินถล่มประมาณ 3 กิโลเมตร เนื้อที่ 39 ไร่ เพื่อสร้างบ้านพักถาวรและเป็นที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน ระยะเวลาอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (ช่วงแรก) 30 ปี ตั้งแต่มกราคม 2562 - มกราคม 2592 โดยชาวบ้านจะได้รับการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านและทำกินครัวเรือนละ 120 ตารางวา (ยังสามารถเข้าทำกินในที่ดินเดิมที่บ้านห้วยขาบได้) สร้างบ้านขนาด 5X8 ตารางเมตร (มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น) โครงสร้างเป็นปูนและเหล็ก รูปแบบบ้านประยุกต์มาจากบ้านของชาวลั๊วะ ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 269,924 -293,014 บาท
บ้านพักถาวรเพิ่งสร้างได้ 2 หลัง
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างบ้านพักถาวรในช่วงที่ผ่านมา บริษัทไทยเบฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2 ราย สร้างบ้านรายละ 30 หลัง แต่การก่อสร้างบ้านในช่วงที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า เนื่องจากทางเข้าพื้นที่ก่อสร้างบ้านเป็นเนินเขาสูงต้องทำถนนและปรับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่งวัสดุก่อสร้างต้องสั่งมาจาก อ.ปัว ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.บ่อเกลือประมาณ 60 กิโลเมตร เส้นทางเป็นภูเขาคดเคี้ยว ทำให้การขนส่งลำบาก ใช้เวลาขนส่งประมาณ 2 ชั่วโมง จึงมีค่าใช้จ่ายสูง บริษัทรับเหมารายหนึ่งจึงทิ้งงานไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การก่อสร้างบ้านทั้งหมด 60 หลัง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างบ้านตัวอย่าง 2 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการก่อสร้างงานฐานรากและโครงหลังคา
นายสัมฤทธิ์ รอง ผวจ.น่าน
นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ปัญหาความล่าช้าเรื่องการก่อสร้างบ้านพักถาวรนั้น ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว โดยผู้บัญชาการทหารบกจะเอาทหารช่างมาช่วยสร้างบ้านให้ชาวบ้าน คาดว่าภายในปลายปีนี้การก่อสร้างบ้านจะแล้วเสร็จ รวมทั้งเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งหากจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดคงจะเป็นเดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้ เช่น การเพาะเห็ด การส่งเสริมเรื่องกาแฟอินทรีย์ และการปลูกถั่วดาวอินคา รวมทั้งผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพราะอำเภอบ่อเกลือเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวอยากจะมาเที่ยวชมธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
มีรายงานข่าวจากกองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า จากปัญหาการก่อสร้างบ้านพักถาวรให้ชาวห้วยขาบมีความล่าช้า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะอยู่บ้านชั่วคราวมานาน 1 ปี สภาพบ้านคับแคบและแออัด ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดน่านแล้ว โดยกองทัพภาคที่ 3 จะส่งทหารช่างจากจังหวัดพิษณุโลกเข้ามาช่วยก่อสร้างบ้านแทนบริษัทเอกชนที่ทิ้งงานไป จำนวน 30 หลัง โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคมนี้
สภาพหมู่บ้านห้วยขาบในหุบเขา
สภาพบ้านที่โดนดินถล่มเมื่อเดือนกรกฏาคม 2561
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |