'อ.ศรีสมร'เก๋าอย่างมีพลัง ทำในสิ่งที่รักเคล็ดลับอายุยืน


เพิ่มเพื่อน    

      เป็นวัยเก๋าที่มีพลัง แถมยังเป็นกูรูเรื่องอาหารไทยระดับปรมาจารย์ชั้นครู สำหรับ .ศรีสมร คงพันธุ์ เจ้าของธุรกิจสอนทำอาหาร “โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ ในวัย 86 ปี เพราะไม่ใช่แค่อาจารย์สอนทำอาหารไทย แต่ยังใส่ใจลงลึกถึงดีเทล อย่างการให้ความรู้กับลูกศิษย์ลูกหา ด้วยการสอนเรื่องมรรยาทการจัดโต๊ะอาหาร การตกแต่งเมนูที่ปรุงให้ดูสวยงามน่ารับประทาน การเลือกใช้ภาชนะให้เหมาะกับอาหารไทย กระทั่งการสอนคิดต้นทุนในการปรุงอาหารให้กับผู้ที่มาเรียน นั่นจึงทำให้นักเรียนได้รับประโยชน์จากคอร์สเรียนอาหารไทย ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการปรุงเมนูและอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้คงอยู่

      แต่อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า อ.ศรีสมร เป็นวัยหลัก 8 ที่มีพลัง เพราะเจ้าตัวมีงานด้านอื่นๆ เสริม อย่างการออกรายการวิทยุ และเขียนหนังสือตำราอาหารไทยให้กับสายการบินชื่อดังซึ่งกำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เพราะมองว่างานเขียนนั้น แม้ผู้ประพันธ์จะไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่ผลงานก็ยังคงอยู่ให้คนที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ประสบการณ์และความสามารถของกูรูอาหารไทยที่กล่าวมา นับเป็นตัวอย่างของการทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ และพร้อมส่งต่อกลเม็ดเคล็ดลับในการปรุงอาหารจากต้นทางไปยังปลายทางซึ่งน่าสนใจแล้ว ทว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของ อ.ศรีสมร นับเป็นตัวอย่างที่ดีและควรค่าแก่การสอนลูกหลาน ตั้งแต่การกิน อยู่ ออกกำลัง และสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

(อ.ศรีสมร คงพันธุ์)

        อ.ศรีสมร บอกว่า หลักการมีสุขภาพดีของเจ้าตัวนั้น คล้ายกับการเลือกวัสดุในการปลูกสร้างบ้านเรือน ประกอบเจ้าตัวเป็นคนต่างจังหวัด ดังนั้นเรื่องการกินอยู่นั้นจึงเน้นหลักให้เหมาะสมกับวัย และเลือกรับประทานอาหารที่หาได้ง่ายอาทิ “ไข่” หรือ “ผักและผลไม้ตามฤดูกาล” เนื่องจากสมัยก่อนนั้นไม่มีขนมนมเนยให้รับประทานเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นเด็กๆ สมัยก่อนจึงกินของหวานเป็นผลไม้แทน เช่น มะละกอ มะม่วง ส้มเขียวหวาน และกล้วย

      “เราเรียนจบด้านการทำอาหารมาโดยตรง ดังนั้นเวลาที่ดูแลสุขภาพก็จะเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ สังเกตอย่างง่ายๆ ว่าบางครั้งการที่เรารับประทานอาหารแล้วไม่สบายท้อง ก็เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยชอบ และอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่าระบบย่อยอาหารของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงควรกินอาหารอย่างมีสติ ไม่ใช่กินเพราะความอร่อยอย่างเดียว เนื่องจากอาหารที่อร่อยจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้ง่าย ประการสำคัญ อาจารย์เองก็อายุค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องการท้องผูก จึงจำเป็นต้องกินผักที่มีกากใยอาหารสูง แต่จะต้องนำผักเหล่านั้นมาต้มก่อน

      เช่น ข้าวโพดที่นำมาแกะเมล็ดแล้วต้ม เนื่องจากเป็นอาหารที่ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือถึงกระเจี๊ยบต้มที่มีลักษณะลื่น และช่วยทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ส่วนผักบุ้งต้มจะช่วยบำรุงสายตา ขณะที่ตำลึงจะช่วยเรื่องควบคุมน้ำตาลได้ในเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะในตำลึงมีอินซูลินจากธรรมชาติ นอกจากนี้ อาจารย์ก็จะไม่เลือกกินอาหารที่มีลักษณะแตกหน่อแตกยอด เพราะจะมีกรดแล็กติกที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ และบางครั้งการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดบ้างก็เป็นการรักษาสุขภาพอย่างหนึ่ง เพราะในอาหารเผ็ดจะมีสารแคปไซซินจากพริก ที่ช่วยรักษาโรคจอประสาทตาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี และอย่างที่รู้กันดีว่า เมนูรสเปรี้ยว นั้นจะช่วยบำรุงสมอง อาจารย์จะชอบปรุงเมนู “ยำไข่ต้ม” ใส่มะม่วงและข้าวโพดแกะเมล็ดต้ม ใส่ในเมนูยำไข่ต้ม เพราะมีสารอาหารบำรุงสมอง รวมไปถึงเมนูจากถั่วที่ช่วยบำรุงสมองเช่นกัน

        กูรูอาหารไทยวัยเก๋า ยังบอกอีกว่า กล่าวโดยสรุปนั้น หลักการบริโภคอาหารของอาจารย์จะเน้นไปที่ผักสดแช่น้ำเกลือ 10-15 จากนั้นนำล้างให้สะอาดและนำมาต้ม หรือทำให้สุกก่อนบริโภค เพื่อเพิ่มกากใยอาหารและช่วยย่อยในตัว ที่สำคัญจะกินไข่เป็นประจำ เพราะมีโปรตีนต่อร่างกาย อีกทั้งจะเลี่ยงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ใหญ่ย่อยยาก และถ้าคิดเป็นการบริโภคอาหาร 3 มื้อ เจ้าตัวจะกินเนื้อสัตว์ไม่เกิน 100 กรัม ผักประมาณ 150-200 กรัม นอกจากนี้ก็พยายามลดแป้งลง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น กิจกรรมก็จะลดน้อยลง ถ้าบริโภคมากเกินไป ไขมันจะสะสมไว้ที่บริเวณตับและตามร่างกาย ส่วนการบริโภคของหวาน เจ้าตัวเน้นเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่หวานน้อย อาทิ แตงโม มะละกอ ฝรั่ง และหมั่นจิบน้ำสมุนไพรที่หวานด้วยน้ำตาลทางเลือกอย่าง หญ้าหวาน ที่ปรุงเป็นน้ำตะไคร้ ใบเตย น้ำใบกะเพรา ไม่ดื่มน้ำเย็น และดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำ

      ขณะที่การดูแลเรื่องจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการคิดบวก และการเป็นตัวอย่างในการทำสิ่งที่ดีให้ลูกหลานเห็น ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่หรือผู้ให้ความรู้ด้านการทำงานอาหารไทย ดังนั้นการให้ความรัก ความผูกพันกับผู้ที่มาเรียนที่เปรียบเสมือนลูกหลาน การชวนพูดคุยเพื่อสร้างความเป็นกันเองให้ลูกศิษย์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการชวนพูดคุยเหมือนเพื่อนจะสร้างความสนิทสนม ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนมีความสุขไปพร้อมๆ กัน

        การดูแลจิตที่สำคัญของคนสูงอายุนั้น การที่เราคิดบวกให้มากจะส่งผลดีต่อจิตใจ เช่น ถ้าวันไหนที่ลูกหลานไม่มาหา ก็ให้คิดว่าเขาอาจจะมีธุระเยอะ เราเองก็จะได้พักผ่อน หรือหากวันไหนที่กับข้าวไม่อร่อย เราก็ต้องไม่พูดว่าไม่อร่อย แต่ใช้วิธีการกินอาหารมื้อนั้นให้น้อยลง ซึ่งนั่นก็ดีต่อสุขภาพทำให้เราไม่อ้วน เพราะถ้าเรามองลบก็จะไม่สบายใจ ทำให้นอนไม่หลับ เครียดและเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ที่สำคัญเราต้องทำตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน ตั้งแต่วิธีเรื่องการมองโลกแง่ดี หรือแม้แต่การแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่นั้น การนุ่งผ้าซิ่น และเกล้ามัดผมให้เรียบร้อย ก็ถือเป็นการแต่งกายที่เหมาะสมกับวัย เพราะการทำตัวเป็นแบบอย่างจะทำให้ลูกหลานซึมซับได้ดีกว่า อีกทั้งการเป็นตัวอย่างในเรื่องการพูดขอบคุณและขอโทษก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ

      โดยปกติแล้ววัย 86 ปี เป็นช่วงที่ต้องพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพราะเป็นวัยที่เชี่ยวกรำในการทำงานมานาน แต่ เจ้าของธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารชื่อดัง บอกว่า นอกจากงานสอนลูกศิษย์ปรุงเมนูอาหารไทยที่โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญแล้ว เจ้าตัวยังเจียดเวลาไปออกรายการวิทยุสื่อสารที่ทำให้สมองได้มีการพัฒนา เพราะในรายการจะมีการถามตอบปัญหา และยังทำงานด้านการเขียนตำราอาหารไทยให้กับสายการบินชื่อดัง โดยเน้นเป็นอาหารไทยแบบสำรับ หรืออาหารเป็นชุดที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งจะมีไว้ให้บริการสำหรับลูกค้ากลุ่มชั้นบิสสิเนสและชั้นเฟิร์สคลาสได้อ่านกันอยู่หลายเล่ม ซึ่งกำลังเปิดตัวเร็วๆ นี้

      “เหตุผลว่าทำไมยังต้องทำงานเขียนแม้อายุตอนนี้ 86 ปีแล้ว เพราะว่างานเขียนหนังสือนั้นเป็นกุศลอย่างหนึ่ง เมื่อเราตายไปแล้ว มันก็ยังมีอยู่ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ซึ่งดีกว่าหนังสือที่อยู่ในรูปแบบออนไลน์ ที่เก็บไว้ไม่ได้นานเท่ากับหนังสือที่เป็นรูปเล่ม ที่สำคัญหนังสือทุกเล่มจะเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติไว้ให้คนที่สนใจได้หาความรู้ โดยเฉพาะตำราอาหารไทยที่สามารถนำมาทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ หรือแม้แต่ขนมไทยที่ทั้งอร่อยและมีความหมายดีซึ่งลูกหลานควรจะรู้ไว้

      เช่น “ขนมเทียน มีความหมายถึงความรุ่งโรจน์ในการมอบให้กันและกัน หรือแม้แต่การที่เราถวาย ขนมต้ม ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บูชาองค์พระพิฆเนศวร มีความหมายอย่างไร รวมถึงประวัติของขนมไทย 4 ถ้วย ที่ใช้ในงานมงคลบ้านเรามีความเป็นมาอย่างไร หรือแม้แต่การมอบ ขนมกล้วย ให้แก่กัน ที่มีความว่าเมื่อทำอะไรก็ให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ตรงนี้ถือเป็นการฝึกสมองทางหนึ่ง เพราะการที่เราจะเขียนหนังสือได้ เราจะต้องค้นคว้าหาประวัติข้อมูลของอาหารไทยจากการอ่าน ดังนั้นถ้าเรารักในงานที่ทำและมีความสุขกับมัน โดยเฉพาะการเผยแพร่เรื่องของอาหารไทย ขนมไทยไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ตรงนี้ทำให้เกิดความสุขใจและทำให้เรามีอายุที่ยืนยาวค่ะ”

      เป็นธรรมเนียมของการปิดท้ายเกี่ยวกับ “ข้อคิดคำคม” ที่คนวัยเก๋าฝากไปยังลูกหลาน ที่ อ.ศรีสมร เผยว่าได้สูญเสียลูกชายวัย 42 ปีไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาจากโรคมะเร็งร้าย ที่คร่าชีวิตลูกชายไปอย่างกะทันหัน แต่ลูกชายได้เตรียมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้วโดยที่ไม่มีใครทราบ

      “การที่ลูกชายเสียชีวิตไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาอย่างกะทันหัน และปัจจุบันอาจารย์ก็อยู่กับลูกสะใภ้และหลานบุญธรรม ตอนแรกเราทราบว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กระดูก แต่การรักษาทุกอย่างเป็นปกติมาก ผลเลือดก็อยู่ในระดับที่ปกติ กระทั่งไปพบแพทย์ที่นัดตรวจประจำเดือน และเขาได้จากไปอย่างสงบจากการที่ออกซิเจนในร่างกายต่ำกะทันหัน จนต้องเข้าห้องไอซียู สิ่งที่เกิดขึ้นมันบอกให้เรารู้ว่าเวลาของคนเรานั้นมันสั้นมาก ดังนั้นถ้าจะทำอะไรก็รีบทำ เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไรที่เราจะเสียชีวิตจากไปจากโลกนี้ โดยเฉพาะเรื่องการทำดีที่เราต้องรีบทำค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"