ฟันบิ๊กปปช.ซุกทรัพย์สิน260ล.


เพิ่มเพื่อน    

  งามไส้! บิ๊ก ป.ป.ช.ซุกทรัพย์สิน 260 ล้านบาท เชื่อเอี่ยวคดีสินบนข้ามชาติปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย เตรียมฟ้องศาลพร้อมฟันวินัย ก่อนยึดทรัพย์ “ไปรษณีย์ไทย” เตรียมหนาว ป.ป.ช.รับสารพัดคดีทั้ง “ปณ.ยักษ์-ติดพัดลมเว่อร์” “สุเทพ” ยืดอกพร้อมสู้คดีโรงพักตำรวจ ลั่นไม่ใช่เรื่องทุจริต

    เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งถึงการไต่สวนคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย ของบริษัท ปตท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ หรือ พีทีทีจีอี ซึ่งถือเป็นคดีข้ามชาติที่ ป.ป.ช.ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยระหว่างการไต่สวน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพบความผิดปกติในกรณีการจ้างค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทย และหนึ่งในนั้นเป็นเครือญาติของผู้บริหารระดับสูงใน ป.ป.ช. ทำให้ทาง ปปง.ส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถึง ป.ป.ช.ทันที เพื่อให้ตรวจสอบไปถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช.ดังกล่าว 
รายงานแจ้งอีกว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งองค์คณะ 9 คนขึ้นไต่สวนกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯ ที่ควรแจ้ง ซึ่งจากการไต่สวนพบว่าเกิดความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ของคู่สมรสผู้บริหารคนดังกล่าว โดยไม่ได้แจ้งทรัพย์สินมูลค่ากว่า 260 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินในบัญชีทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศด้วย ป.ป.ช.ชุดใหญ่จึงมีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯ ที่ควรแจ้งต่อ ป.ป.ช.และให้ส่งสำนวนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
“คดีดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยนอกจากจะส่งสำนวนไปยังศาลแล้ว ต้นสังกัดต้องพิจารณาลงโทษทางวินัย โดยอาจให้พ้นจากตำแหน่งด้วยการไล่ออกหรือให้ออก และ ป.ป.ช.ยังมีสิทธิ์ไต่สวน หากพบว่าเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งขอให้ศาลยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน”
    รายงานข่าวจาก ป.ป.ช.ยังแจ้งอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปทุมธานีได้เข้าตรวจสอบข้อมูลตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียว่าที่ทำการไปรษณีย์คูคต ต.คูคต อ.ลําลูกกา จ.ปทุมธานี ได้ติดตั้งพัดลมจำนวน 30 ตัว ในพื้นที่ห้องเพียง 45 ตารางเมตร โดยราคาพัดลมตัวละ 6,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ซึ่งจากการตรวจสอบก็มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ว่าจ้างและผู้อนุมัติแบบเเปลนโครงการ อาจมีพฤติกรรมส่อในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ป.ป.ช.เล็งสอบไปรษณีย์
    “กรณีนี้อยู่ในอำนาจของสำนักไต่สวนรัฐวิสาหกิจ 2 สำนักงาน ป.ป.ช. จะพิจารณาไต่สวน ดังนั้น ป.ป.ช.จังหวัดปทุมธานีจึงส่งเรื่องให้สำนักไต่สวนฯ ไปดำเนินการ ในกรณีอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติการณ์ส่อไปในทางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” รายงานระบุ และว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังมีหนังสือลงวันที่ 22 ก.ค.2562 แจ้งหลักฐานเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช.ปทุมธานี โดยระบุว่า การปรับปรุงที่ทำการไปรษณีย์ในคราวเดียวกับไปรษณีย์คูคตนั้น ดำเนินการพร้อมกัน 4 แห่ง ได้แก่ ไปรษณีย์คลองหลวง งบประมาณ 9,600,000 บาท, ไปรษณีย์ธัญบุรี งบประมาณ 8,530,000 บาท, ไปรษณีย์ปทุมธานี งบประมาณ 8,608,000 บาท และไปรษณีย์คูคต งบประมาณ 5,360,000 บาท ซึ่งทางสหภาพพิจารณาจากหลักฐาน จึงสงสัยว่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวนั้นส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะสงสัยว่าเหตุใดงบประมาณในการปรับปรุงจึงสูงผิดปกติ
    ขณะเดียวกัน มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือโรงพักทดแทน 396 แห่งนั้น นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อกล่าวหาแล้ว ได้ไปชี้แจงหลายครั้งหลายหนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในที่สุด ป.ป.ช.ก็ได้สรุปและมีมติชี้มูล ทำให้จะได้มีโอกาสไปพิสูจน์ความจริงในศาล เรื่องราวจะได้จบ เพราะว่าตนเองเสียหายและเสียชื่อเสียงมาเยอะแล้ว 
    “กรณีไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย แต่เดิม ป.ป.ช. พยายามกล่าวหาว่าผมกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในที่สุดก็ไม่มีความผิด เพราะว่ามติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีอยู่จริง แต่ฟังจากการแถลงของ ป.ป.ช. กลายเป็นว่าผมเสนอเรื่องขออนุมัติ ครม.เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดซื้อจัดจ้างใหม่ กลับไม่เสนอขอมติที่ประชุม ครม.อีกครั้ง คล้ายกับใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีดังกล่าว จะทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ผมเห็นว่าอาจจะผิดจากข้อเท็จ” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพอธิบายต่อว่า ข้อเท็จจริงคือ ครม.มีมติครั้งเดียวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ให้สร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ในวงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แล้วผูกพันงบประมาณเป็นเวลา 5 ปี ซึ่ง ครม.อนุมัติเพียงครั้งเดียว เรียกว่า ครม.อนุมัติโดยหลักการ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่อำนาจของ ครม.อนุมัติ ไม่มีการอนุมัติในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใดที่ต้องไปขออนุมัติจากมติ ครม. เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างว่าด้วยระเบียบพัสดุของสำนักนายกฯ อยู่แล้ว ว่าเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานคืออธิบดี หรือถ้าเกินอำนาจของอธิบดี ก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงนั้น  
ลั่นไม่ใช่เรื่องโกงกิน
    นายสุเทพกล่าวต่อว่า ที่กล่าวหาว่าตนเองเสนอ ครม.ครั้งหนึ่งแล้ว แต่พอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างกลับไม่เสนอขอมติ ครม.นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปพิสูจน์ให้ศาลได้เห็น และขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจ เพราะทั้งหมดนี้ที่ ป.ป.ช.กล่าวหาไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลย เป็นเพียงประเด็นว่าใช้อำนาจหน้าที่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น เรื่องการทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.แจ้งมติชี้มูลตำรวจ ข้าราชการ หรือพ่อค้าคนอื่นในวันเดียวกัน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าไปสมคบทุจริตกับเขาด้วย ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะชี้ให้ประชาชนได้เห็นก็คือว่า กรณีนี้มีการประมูลกันโดยวิธีอีออคชั่น มีผู้เข้าประมูลหลายรายและแข่งขันกันกว่า 70 ครั้งในการประกวดราคา ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดนั้น ได้เสนอต่ำกว่าราคากลางประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริง
    "การก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งการของผม เกี่ยวกับการบริหารสัญญาคือการกำกับควบคุมดูแลการก่อสร้าง น่าสังเกตว่าระหว่างการก่อสร้างกว่าจะทำสัญญาได้ก็นาน และเวลาก่อสร้างมีการขยายสัญญาให้หลายครั้ง โดยผู้บัญชาการตำรวจหลายคน ซึ่งผมไม่พูดว่าใครถูกใครผิดอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องไปพิสูจน์ความจริงกันในศาล ด้วยพยานหลักฐานที่ผมมี" นายสุเทพกล่าว
    วันเดียวกัน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นศาลปกครองเพื่อรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้านบาทให้มีการพิจารณาใหม่ว่า ทุกค่าโง่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน และค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอีก โดยในส่วนของโฮปเวลล์ ถือเป็นเรื่องดีที่อัยการยื่นเรื่องให้รื้อคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่ที่จะส่งให้ศาลปกครองพิจารณาเพื่อทบทวนคำพิพากษา แต่ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าศาลปกครองกลางจะรับไว้พิจารณาหรือไม่
    นพ.ระวีกล่าวอีกว่า บทเรียนค่าโง่ของรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ต้นทางมาจากการทุจริตแบบสามประสานที่สมรู้ร่วมคิดกันระหว่างรัฐ เอกชน และข้าราชการ ดังนั้นนอกจากตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว ควรพิจารณาในเชิงหลักการว่าจะมีการตรวจสอบดูแลอย่างไรให้การจัดทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนไม่ให้รัฐเสียเปรียบ และควรพิจารณาข้อเสนอของสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้กฎหมาย เพื่อกำหนดว่ากรณีที่ศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีนั้น เมื่อคู่กรณีแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ศาลจะต้องตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ มิใช่ดูแต่เพียงผลของคำวินิจฉัยว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ แล้วตัดสินให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการโดยไม่ตรวจสอบลงไปในรายละเอียด
          “ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนที่ให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ส่วนใหญ่จบลงที่รัฐเป็นฝ่ายแพ้ และหลายโครงการมีการกระทำไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น จึงมีการเสนอว่าควรแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ให้ครอบคลุมเฉพาะข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรศึกษาผลดี-ผลเสีย เพื่อหาบทสรุปที่ดีที่สุดโดยไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน” นพ.ระวีกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"