ประกาศเรียกร้องให้มีการ "ผละงานทั่วเกาะฮ่องกง" นี้ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สะท้อนว่าการประท้วงของคนฮ่องกงเพื่อต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่งนั้น กำลังบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบแบบประนีประนอมหรือนองเลือด
มีคนถามว่ารัฐบาลจีนพร้อมจะลงมือปราบผู้ประท้วงแบบ "เหตุการณ์เทียนอันเหมิน" ปี 1989 ซึ่งลงเอยด้วยการสังหารผู้ประท้วงเป็นจำนวนมาก
หรือจะเป็นการต่อรองเจรจาเพื่อหาทางออกที่สันติ
ไม่มีใครให้คำตอบในวันนี้ อยู่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะตัดสินใจเดินแนวทางไหน
เพื่อนชาวฮ่องกงของผมส่วนใหญ่มองโลกในแง่ค่อนข้างร้าย เพราะมองไม่เห็นหนทางของการเจรจาแบบถ้อยทีถ้อยเข้าใจกัน
เพื่อนคนหนึ่งตอบคำถามของผมด้วยประโยคที่ว่า
"ผมยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำเลย...สถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน"
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านออกมารณรงค์อย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ของการก่อหวอด เพื่อกดดันให้รัฐบาลต้องยอมตามเงื่อนไขของตน 5 ข้อ
1.ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถาวร ไม่เพียงแค่ระงับการพิจารณาเท่านั้น
2.ยกเลิกข้อหาจลาจลต่อผู้ประท้วง (โทษจำคุกสูงถึง 10 ปี)
3.ปล่อยและนิรโทษกรรมผู้ถูกจับทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นคดีการเมือง ไม่ใช่อาชญากรรม
4.ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลฮ่องกงหรือปักกิ่ง
5.ขอให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีสิทธิ์เสียงในการเลือกผู้ว่าฯ และ ส.ส.เท่าเทียมกัน คือคนละหนึ่งเสียงเหมือนกัน (เรียกว่า universal suffrage) และให้ผู้บริหารสูงสุดกับสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง
ทางการฮ่องกงจะยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดไหม?
ตอบได้ว่ายากมาก
เพราะอย่างไรเสีย ปักกิ่งก็ยังต้องการกำกับและควบคุมฮ่องกงภายใต้ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"
การจะยอมให้คนฮ่องกงมีสิทธิ์โหวตเลือกผู้แทนและผู้ว่าฯ ของตัวเองได้อย่างเสรี หนึ่งคนหนึ่งเสียงนั้นย่อมจะเป็นการเปิดทางให้ส่วนอื่นๆ ของจีนเรียกร้องตามด้วย
ซึ่งสำหรับจีนแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้ซินเจียงหรือทิเบตมีโอกาสเรียกร้องแบบเดียวกับฮ่องกง
หรือแม้แต่ไต้หวันก็กำลังจับตาเหตุการณ์ในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด เพราะไต้หวันก็อยู่ใต้ระบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของปักกิ่งเช่นกัน
ต่างกันตรงที่ว่าไต้หวันมีระบบการเลือกตั้งแบบที่ฮ่องกงต้องการ แต่ปักกิ่งถือว่าสองเกาะนี้มีที่มาที่ไปต่างกัน
ฮ่องกงตกอยู่ใต้อังกฤษ 99 ปี และส่งคืนจีนเมื่อปี 1979 หรือเมื่อ 22 ปีก่อนภายใต้กฎเกณฑ์ที่ตกลงกันล่วงหน้าว่ากติกาการเมืองจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่
เสียงจากแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมายังแข็งกร้าว
เธอยืนยันว่าจะไม่ลาออก
เธอบอกว่าผู้ประท้วงได้เรียกร้องเกินกว่าที่เป็นประเด็นเดิม นั่นคือร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งทางการฮ่องกงบอกว่าได้ระงับเอาไว้แล้ว
แต่ผู้ประท้วงกลับ "ได้คืบเอาศอก" และเธอยืนกรานว่าสิ่งที่ผู้ต่อต้านทำนั้นได้ล้ำเส้นที่เหมาะควรแล้ว ทำให้ประชาชนคนฮ่องกงส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัดและลำบากใจ
"ผู้ประท้วงได้ผลักดันให้สถานการณ์เข้าสู่จุดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง" เธอประกาศด้วยสีหน้าที่เคร่งขรึม
แม้ว่าก่อนหน้านี้แคร์รี หล่ำจะมีท่าทีที่ผ่อนคลายลง ยอมรับว่าตัวเองได้ประเมินความรู้สึกของคนฮ่องกงในเรื่องร่างกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนต่ำไป เธอพร้อมขอโทษ
แต่วันจันทร์ที่ผ่านมาเธอเปลี่ยนน้ำเสียงไปอย่างเห็นได้ชัด
เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลปักกิ่งได้กำหนดจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้น ไม่ยอมให้รัฐบาลฮ่องกงถอยให้กับผู้ประท้วงอีกต่อไป
สถานการณ์เข้าขั้นการเผชิญหน้าอย่างเต็มพิกัด ผู้ประท้วงล้อมสถานีตำรวจและพยายามสกัดระบบขนส่งมวลชน ตำรวจปราบจลาจลของฮ่องกงใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสาดใส่ผู้ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง
เข้าขั้นปฏิบัติการ Shut Down Hong Kong กันเลยทีเดียว
อีกทั้งกองทัพจีนที่ประจำการอยู่ฮ่องกงก็ออกคลิปวิดีโอ แสดงให้เห็นถึงการซ้อมของหน่วยทหารที่มีหน้าที่ "ปราบจลาจล"
จะถือว่าขู่หรือเตือนก็แล้วแต่ สิ่งที่กำลังเกิดที่ฮ่องกงเป็นจุดร้อนแรงที่ยังหาทางลงอย่างสันติไม่ได้
ใกล้จุดเดือดเต็มทีครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |