ดื่มด่ำวิถี “ไทดำ” บ้านพิพิธภัณฑ์หนึ่งเดียวในอีสาน


เพิ่มเพื่อน    

 

การละเล่นตามประเพณีชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด อ.เชียงคาน จ.เลย 

 

     เสียงกระบอกไม้ไผ่กระแทกพื้นเป็นจังหวะอย่างพร้อมเพรียง แล้วยังมีการเคาะเครื่องดนตรีที่หาจากข้าวของในชีวิตประจำวัน ทั้งถาด โอ่งน้ำ เกาะไม้ไผ่ กลายเป็นเพลงประกอบ “การละเล่นแซปาง” โดยมีหมอมดผู้นำพิธีสวมชุดแขนยาวสีดำ สวมซิ่นดำ มือถือดาบขับร้องเชิญผีสางเทวดามารับเครื่องเซ่นที่ต้นปาง ร่ายรำไปรอบๆ พร้อมกับผู้เข้าร่วมพิธีแต่งกายชุดประจำเผ่าไทดำ ถือเป็นการแสดงที่ไม่มีใครเหมือน และหาชมได้ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด อ.เชียงคาน จ.เลย แห่งเดียวเท่านั้น แล้วยังมีการฟ้อนแคนร่ายรำอ่อนช้อยงดงามตามประเพณี สร้างความตื่นตาตื่นใจกับผู้มาเยือน
    เรื่องราววัฒนธรรมและวิถีชีวิตไทดำยังไม่หมด ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ยังได้เห็นภาพชีวิตประจำวันของชาวไทดำ ทั้งการทอผ้าแบบดั้งเดิม การตีมีดของผู้เฒ่าผู้แก่ ตลอดจนลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวไทดำ แค่หลังคาก็แปลกตาเพราะเป็นทรงกระดองเต่า มุงด้วยหญ้าคายาวจนเกือบถึงพื้น กันลม ฝนและอากาศหนาว ยอดจั่วหลังคามีไม้แกะสลักประดับไว้ เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่สร้าง “เฮือนไทดำ” แบบนี้อีกแล้ว หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำมีส่วนช่วยรักษาอัตลักษณ์ไว้

 

สตรีไทดำแต่งกายชุดประจำถิ่น กระดุมรูปผีเสื้อเป็นเอกลักษณ์
 


    การเดินทางมาเรียนรู้และสัมผัสบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำครั้งนี้อยู่ในกิจกรรม “แต่งผ้าไทยไปเลย” ภายใต้แคมเปญ “นุ่งสยามสามฤดู” ส่งเสริมแนวคิดซื้อผ้าไทย ใส่ผ้าไทย เที่ยวเมืองไทย จัดโดยกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนหนุ่มๆ สาวๆ แต่งผ้าไทยแล้วไปซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนที่มีเอกลักษณ์ ที่บ้านนาป่าหนาดก็มีการทอผ้าไทดำ ออกแบบลวดลายสวยงามไม่แพ้ที่อื่น แล้วยังมีกลุ่มผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านนาป่าหนาด จุดเด่นเป็นศูนย์เรียนรู้ผ้าทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสุดๆ เป็นอีกสถานที่ที่ผู้ร่วมกิจกรรมแต่งผ้าไทยไปเลยได้แวะเที่ยวชมด้วย

 

สตรีไทดำทอผ้าให้ชมใต้ถุนบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ 
 


    เพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ได้รับการยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม กล่าวว่า บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เกิดจากความคิดที่ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีวัฒนธรรมประเพณีไม่เหมือนใคร ผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มล้มหายตายจากไป ห่วงจะไม่มีอะไรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงจัดสร้างบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำขึ้นเพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ไทดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ใช้พูดคุยในหมู่บ้าน เรือนไทดำหลังคากระดองเต่า ยอดจั่วมีขอกุด จำนวน 10 รูปแบบ สื่อ 10 ตระกูลของไทดำบ้านนาป่าหนาด ดูได้ที่นี่ที่เดียว
    “ ส่วนการแต่งกายของชาวไทดำยังคงเอกลักษณ์ ชายและหญิงแต่งกายชุดสีดำในชีวิตประจำวัน เสื้อแขนยาวของผู้ชายมีกระดุมถี่ๆ บรรพบุรุษบอกว่า สื่อคนไทดำต้องรอบคอบ ถี่ถ้วน ส่วนกระดุมติดเสื้อผู้หญิงรูปผีเสื้อ แทนความรักของผู้ชาย มาจากตำนานรักไม่สมหวัง ส่วนเสื้อผ้าประกอบพิธีกรรมหรืองานสำคัญ จะประดับด้วยผ้าไหมชิ้นเล็กๆ เพิ่มความสวยงามตามแบบฉบับชาวไทดำ ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ ใต้ถุนบ้านมีผู้หญิงไทดำรวมตัวกันทำผ้าทอแบบไทดำแท้ๆ หลังเสร็จจากทำสวนทำไร่ให้ได้ชมกัน นักท่องเที่ยวชื่นชอบและซื้อเป็นของฝาก สร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น” เพชรตะบองในชุดไทดำโบราณ กล่าว และว่า การส่งเสริมแต่งผ้าไทย เรียนรู้วิถีทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์จะเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน

 

 

ยอดจั่วหลังคามีไม้แกะสลัก เรียกว่า "ขอกุด" 
 


    นุ่งผ้าไทยชมสาธิตทอผ้าแล้ว เพชรตะบองพาไปชมเรือนไทดำตามอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบรรพบุรุษ ห้องนี้ผู้หญิงห้ามผ่าน เพราะเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษไว้ จะมีการเซ่นไหว้ทุก 5 วัน แล้วมาห้องลูกชาย จัดแสดงเสื้อผ้าไทดำ สิ่งของตามจารีตประเพณีชาวไทดำ ส่วนห้องลูกสาว รวบรวมเครื่องมือทำมาหากินมาให้ชม เรือนไทดำแห่งนี้รวบรวมข้อมูลความเป็นมาและวิถีไทดำครบ มาที่เดียวรู้ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
    “ ชาวไทดำนับถือผีเรือน มีผีเรือน ผีบรรพบุรุษ แล้วยังมีผีประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านยังคงสืบทอดการละเล่นและพิธีกรรมเลี้ยงผี ทำตุ้มนกตุ้มหนูเป็นเครื่องรางไว้บูชาผีและเทพเจ้า ชาวไทดำจะประกอบพิธีกรรมแซปาง แสดงความเคารพหมอมดประจำหมู่บ้าน หรือบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเพื่อคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บป่วย แล้วยังมีการละเล่นแซไต ท่ารำจะจับมือกันและปรบมือ มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คนล้มตายจำนวนมาก ครอบครัวสูญเสีย ก็คิดท่ารำแซไต คลายความเศร้าโศก” เพชรตะบองบอก

ผู้ร่วมกิจกรรมนแต่งผ้าไทยไปเลย#นุ่งสยามสามฤดู เรียนรู้ผ้าไทยของ จ.เลย ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
 


    สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่หมอมดประจำหมู่บ้านได้ เพชรตะบองบอก ต้องมีลักษณะพิเศษ เช่น สืบสายเลือดจากพ่อแม่เป็นหมอมด หรือเกิดมามีสายสะดือพันรอบตัว และคนที่เจ็บป่วยแต่เล็ก รักษาไม่หาย ชาวบ้านช่วยกันจะยกให้เป็นหมอมดจึงหายจากโรค และเติบโตขึ้นมาต้องเรียนวิชาอาคม ดำรงตนไม่ทิ้งศีลธรรม เป็นสิ่งที่ชาติพันธุ์ไทดำยึดถือ ต้องไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี
    ที่นี่สามารถทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะชมเรือนไทดำสวยงาม ร่วมสนุกกับการละเล่นท้องถิ่น อย่างมะกอนลอดบ่วง อดีตไว้เสี่ยงทายเลือกคู่ให้กับหนุ่มสาวในหมู่บ้าน เป็นกุศโลบายให้หนุ่มๆ สาวๆ ได้มีโอกาสมาเจอกันนั่นเอง แล้วมานั่งชม ช็อปงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้าน ทุกเรื่องราวของชาวไทดำน่าสนใจ ยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นหนึ่งเดียวในภาคอีสาน ทุกปีวันที่ 10 ธันวาคม ยังมีงานประเพณีพบปะรวมตัวของพี่น้องชาวไทดำจากไทยและเพื่อนบ้าน สร้างขวัญกำลังใจ ใครมา อ.เชียงคาน อยากให้มารู้จักวิถีไทดำบ้านนาป่าหนาดสักครั้ง แล้วอย่าลืมใส่ผ้าไทยในสไตล์ของตัวเองมาเที่ยว

 

 

 


 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"