บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่บัญญัติไว้ว่า...
“ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ในกรณีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้คณะรัฐมนตรีนั้นดําเนินการตามมาตรา ๑๖๒ วรรคสองได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๘ (๑) พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดังกล่าว
พบว่าในขณะนี้ ปมปัญหาเรื่อง การถวายสัตย์ปฏิญาณตน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คือประเด็นที่ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกำลังวางน้ำหนักในการรุกไล่พลเอกประยุทธ์
ถึงขั้น ส.ส.เพื่อไทยบางรายพร้อมทิ้งน้ำหนักให้พรรคฝ่ายค้านควรยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 18 ก.ย. แม้ล่าสุด นักเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวไปแล้วเมื่อ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
เรื่องดังกล่าวเมื่อดูท่าที ความรู้สึกของพลเอกประยุทธ์ได้ว่า ก็เริ่มกดดันพอสมควรกับเรื่องนี้ หลังฝ่ายค้านรุกไล่ไม่เลิกรา จนต้องออกมาพยายามตัดบท เพื่อหวังให้เรื่องจบโดยเร็ว
“ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการในการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ณ ตรงนั้นก็เสร็จไปแล้วว่าต้องทำอะไรในการดูแลประชาชน ข้อความต่างๆ ที่พูดไปแล้วถือว่าครอบคลุมทั้งหมด และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย ที่สำคัญที่สุดเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งพระองค์ท่านมีรับสั่งมาให้ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ
ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจบดีกว่า อย่าให้บานปลาย หลายคนในนั้นก็เป็นทหาร ขอร้องว่าเคยเป็นพี่น้องกันมา อย่าให้การเมืองมาทำให้ประเทศชาติปั่นป่วนไปทั้งหมด ถ้าจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ให้รอเลือกตั้งคราวหน้าก็แล้วกัน
ไม่กังวลอะไรทั้งสิ้น จะกังวลไปทำไม เพราะมีเรื่องที่น่ากังวลมากกว่านี้อีกมาก การที่เป็นนายกฯ และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเรื่องหลายอย่างต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมีตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยรัฐธรรมนูญได้เขียนแบบกว้างๆ เอาไว้ แต่ก็ไปทะเลาะกันแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ” (พลเอกประยุทธ์ ส.ค.)
และมาตอกย้ำอีกครั้งในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังการประชุม ครม.เมื่อ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังฝ่ายค้านเตรียมยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีกลางที่ประชุมสภาฯ ในสัปดาห์นี้
“สำหรับเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน และเรื่องดังกล่าวก็คงต้องว่ากันต่อไป ก็กำลังหาทาง ไม่รู้จักคำว่าหาทางหรืออย่างไร เอาล่ะ เรื่องนี้ผมจะทำของผมเอง ถ้าให้ชี้แจงในวันที่ 7 ส.ค.นี้ คงไปไม่ได้ เพราะจะเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการที่ภาคใต้ คงรอไปก่อน เพราะเรื่องบางเรื่องต้องฟังเหตุฟังผลกันบ้าง ถ้าเอาทุกอย่างมาผูกกันหมดก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ขอให้ไว้ใจผม เชื่อว่าผมทำได้ และต้องทำให้ได้”
เรื่องนี้ประเมินได้ว่า ฝ่ายค้านคงไม่เลิกราแค่นี้ และจะรุกไล่ กดดัน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในลักษณะทิ้งปมปัญหาให้คาไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อคอยกวนใจพลเอกประยุทธ์
โดยมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านอาจไม่ขยับ โดยใช้ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพราะอาจมองว่าปล่อยเรื่องให้เป็นปมปัญหาไว้แบบนี้จะดีกว่า เพื่อสร้างประเด็นทางการเมืองคาไว้ แต่จะถึงขั้นนำไปสู่การยื่นซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ในเดือนกันยายน อย่างที่คนในพรรคเพื่อไทยอย่าง สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้านเสนอไว้หรือไม่ ข้อเสนอดังกล่าวจับกระแสดูคร่าวๆ ดูเหมือนเสียงตอบรับจากคนในเพื่อไทยด้วยกันเองสุ้มเสียงขานรับยังไม่ดังพอ
เช่นเดียวกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ที่ออกมาขย่ม-รุกไล่เรื่องนี้เช่นกัน ทั้งพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคประชาชาติ ของวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติและอดีตประธานรัฐสภา นักการเมืองรุ่นใหญ่ฝ่ายค้านที่อ้างว่า การถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าก่อนปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลต้องเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อไม่ได้ทำหรือทำไม่ครบ ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องทำให้สมบูรณ์ ไม่เช่นนั้นการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายหรือการใช้งบประมาณ จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ สมัยนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเขาปฏิญาณตนไม่ครบยังไม่กล้าบริหาร ต้องปฏิญาณใหม่ถึงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แม้รัฐธรรมนูญของไทยกับสหรัฐจะไม่เหมือนกัน แต่เขาเป็นประเทศใหญ่ยังต้องทำใหม่ ดังนั้นนายกฯ ควรทำอะไรให้ประชาชนหายข้องใจ ไม่ใช่ตีขลุมไม่ตอบคำถาม เมื่อทำไม่สมบูรณ์ก็ทำใหม่ให้สมบูรณ์ ไม่มีอะไรมาก ต่อไปสภาฯ จะได้สบายใจว่าการบริหารของรัฐบาลถูกต้อง"
แม้ “อดีตประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา” จะมีท่าทีดุดันดังกล่าว แต่ก็พบว่า ก็ยังไม่ถึงกับแสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนให้ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ไปขยายผล ถึงขั้นยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ เช่นเดียวกับท่าทีของแนวร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคจาก 7 พรรค ก็ยังพบว่ายังไม่มีท่าทีใดๆ ว่าจะนำเรื่องนี้ไปขยายผลด้วยการนำไปสู่การขอเปิดซักฟอก บิ๊กตู่ กลางสภาฯ ในสมัยประชุมนี้เช่นกัน เสมือนกับต้องการรอความชัดเจนอะไรบางอย่างอยู่ว่าสุดท้าย พลเอกประยุทธ์จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
โดยล่าสุดเรื่องนี้ก็เริ่มพอจะเห็นเส้นทางเดินของการคลายปมปัญหาได้ระดับหนึ่ง
เมื่อผลการประชุม “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่มี พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ เป็นประธาน มีมติรับคำร้องที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยปรากฏว่าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเร่งตรวจสอบทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา
ทั้งนี้ แม้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว แต่พบว่าแนวทางของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ก็พบว่า ทิศทางการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังไม่ชัด ยังไม่ได้มีแนวทางว่าจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาหรือไม่ จึงต้องรอดูสักระยะว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะมาทำให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจนขึ้นหรือไม่ หลังมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปรวบรวมประเด็นข้อเท็จจริงประเด็นข้อกฎหมายจากทางฝ่ายกฎหมายก่อน จากนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะมาพิจารณาเรื่องนี้เพื่อหาข้อสรุปต่อไปอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกต่อไป จะต้องไปออกช่องทางไหน เพื่อทำให้เรื่องสะเด็ดน้ำ
การที่ พลเอกประยุทธ์ ย้ำว่า กำลังพิจารณาหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ผนวกกับผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาในเบื้องต้น แต่ยังไม่ชัดว่า สุดท้ายเรื่องจะจบลงแบบไหน โดยที่ฝ่ายค้านก็คงไม่เลิกราที่จะไล่บดพลเอกประยุทธ์ต่อไปเรื่อยๆ ในจังหวะและโอกาสที่ทำได้
จึงทำให้พอมองเห็นทิศทางของปมปัญหาดังกล่าวได้ระดับหนึ่งว่า เรื่องดังกล่าวหากสุดท้ายไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมา ยามเมื่อ Tempo ทางการเมืองมาถึง เช่น มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อาจไม่ใช่ในสมัยประชุมสภาฯ รอบนี้ แต่เป็นสมัยหน้า เรื่องนี้คงถูกฝ่ายค้านนำมาขยายผลให้หนักขึ้น.
......................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |