ทปอ. อนุมัติ เปิดกลุ่มแพทย์ ในการรับ Admissions ปี 61 “ประเสริฐ” เผย ทปอ. เล็ง สร้างระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์กลาง ให้นักเรียนเก็บข้อมูลและมหา’ลัย ดึงใช้ ได้อย่างสะดวก พร้อมเล็งปรับ การสอบ GAT/PAT ให้เป็นข้อสอบความถนัดทางเชาว์ปัญญา หวัง มีความยืดหยุ่นในช่วงเวลาในการสอบ ชี้ ระบบ TCAS เป็นปัญหากับเด็กที่ยังไม่รู้ว่าตัวอยากเรียนอะไร เชื่อ ระบบ 1 คน 1 สิทธิ์จะทำให้เด็กมีวินัยมากชึ้น
นายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (เลขาฯ ทปอ.) กล่าวในมหกรรมอุดมศึกษา:อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้หัวข้อ TCAS 2018 Forum: กล่าวต่อไปของระบบ TCAS ปรับหรือเปลี่ยน ว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง Thai university Central Admission System (TCAS) ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย แต่ ทปอ. ได้นำกระบวนการเหล่านี้มาบริหารจัดการ เพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำ และเด็กก็ยังมีโอกาสที่จะเลือกเข้าเรียนได้ถึง 5 รอบ คือ รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ รอบที่ 3 การรับสมัครตรงร่วมกัน รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร และสุดท้ายรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ แต่ที่ผ่านมาตนก็ยังได้รับเสียงสะท้อนในหลายเรื่อง เช่น การสอบ GAT/PAT ที่สามารถสอบได้แค่ครั้งเดียว ว่า ไม่เปิดโอกาส หรือ การที่เราใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์ก็มีกระแสว่าตัดสิทธิ์ รวมทั้งยังมีมหาวิทยาลัยที่กังวลเรื่องการรับนักศึกษาด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มมหาวิทยาลัย จะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปอย่างพร้อมกัน
“จากการที่ผมส่งสายสืบลงไปหาข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ทำให้พบว่าระบบ TCAS จะเป็นปัญหาหนักที่สุดกับกลุ่มเด็กที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ต้องการที่จะเลือกเรียนสาขาไหน ซึ่งที่ผ่านมาเด็กกลุ่มนี้จะลงสมัครในหลายสาขาวิชาและหลายมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเป็นระบบ TCAS เด็กจะไม่สามารถทำแบบนี้ได้ และจะเป็นผลดีต่อเด็กที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนในสาขาที่เขาเลือก เพราะเมื่อเขาได้รับการคัดเลือกตั้งแต่รอบที่ 1 แล้ว ก็จบเด็กไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครในรอบอื่นเลย แต่หากในกรณีที่ต้องการสละสิทธิ์ก็สามารถทำได้ แต่การสละสิทธิ์ก็จะต้องทำตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งระบบนี้จะทำให้เด็กมีวินัยรู้จักสิทธิ์ของตัวเอง มีวินัยในการใช้และสละสิทธิ์ ในแบบที่การกระทำของเราไม่กระทบต่อผู้อื่น”เลขาฯ ทปอ.กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการในปีพ.ศ. 2562 ทปอ.ก็ยังคงยึดหลักการเดิม และปฏิทินของแต่ละรอบก็อาจจะไม่แตกต่างกันมากเท่าไร แต่ขณะนี้ ทปอ. กำลังมีแนวคิดว่าในอนาคตการคัดเลือกรอบที่ 1 ซึ่งเป็นการรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน อาจจะมีระบบแฟ้มสะสมกลางให้นักเรียนสามารถทำแฟ้มเป็นอิเล็กทรอนิกส์เก็บไว้และมหาวิทยาลัยสามารถดึงมาดูได้ รอบที่ 2 โควต้าก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น และการรับโควต้าไม่จำเป็นต้องใช้ข้อเขียน แต่คุณสมบัติจะต้องตรงกับเงื่อนไข รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions จะมีการปรับน้ำหนักการรับในสาขา ทันตแพทย์ ตั้งแต่ปี 2561 คือ จากที่เคยใช้ PAT2 ร้อยละ 30 ปรับเป็นใช้ PAT1 ร้อยละ 10 และ PAT2 ร้อยละ 20 ส่วน GAT ใช้ตามเดิม และ ทปอ.ยังอนุญาตให้มีกลุ่มที่ 10 เพิ่มคือ กลุ่มแพทย์ศาสตร์ จากเดิมที่มี 9 กลุ่ม ตามที่มหาวิทยาลัยบูรพาเสนอขอ โดยในกลุ่มนี้จะใช้เกณฑ์พิจารณา วิชาเฉพาะแพทย์ ร้อยละ 30 และ 7 วิชาสามัญ ร้อยละ 70 โดยแต่ละวิชาต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 โอเน็ต 5 วิชา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 แต่จะมีสาขาแพทยศาสตร์ของหมาวิทยาลัยใดเข้าร่วมบ้างนั้น คากว่าจะสรุปได้ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ส่วนรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ก็ยังคงเปิดให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการเหมือนเดิม
“นอกจากนี้เรายังรวบรวมและนำประเด็นปัญหา ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในปี 2561 มาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น เช่น การพัฒนาระบบค้นหาข้อมูลที่สะดวกขึ้น มหาวิทยาลัยจะพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับ TCAS ที่ดีขึ้น ระบบการบริหารสิทธิ์จะมีการเชื่อมต่อมากขึ้นและจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง ทปอ. ยังเตรียมที่จะปรับการสอบ GAT/PAT ให้เป็นในรูปแบบข้อสอบความถนัดทางเชาว์ปัญญาให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้มีความยืดหยุ่นในช่วงเวลาในการสอบด้วย สิ่งที่ผมยังตอบไม่ได้คือเรื่องการเข้าร่วมของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของแต่ละมหาวิทยาลัย”เลขาฯ ทปอ.กล่าว