เร่งแพ็กเกจยักษ์กระตุ้นศก.


เพิ่มเพื่อน    

 คลังเร่งทำแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ ปูพรมช่วยคนทุกหย่อมหญ้า ชง ครม.เคาะ ส.ค.นี้ "อุตตม" เชื่อมาตรการนี้ดันจีดีพีโตเกิน 3% "สมคิด" สวนฝ่ายค้าน "บิ๊กตู่" เหมาะนั่งประธาน ครม.ศก.  ปลื้มนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นไทย 

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า  ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน ส.ค.นี้ โดยแพ็กเกจมาตรการที่ออกมาจะหวังผลเต็มที่ได้ผลจริงจัง และจะดูแลประชาชนทุกกลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป  มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และร้านโชห่วย กลุ่มผู้ประกอบการเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
    "ตอนนี้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปศึกษารูปแบบมาตรการออกมาเป็นแพ็กเกจใหญ่ และให้มีผลต่อเศรษฐกิจในทันที และเต็มที่ ทำแล้วหวังผลจริงจัง สัมผัสได้ มีผลกับเศรษฐกิจเชิงบวก ว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง และจะช่วยกลุ่มไหน อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะต้องส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว อาจจะเกิน 3% ก็ได้" นายอุตตมระบุ
     สำหรับชุดมาตรการ เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างเร่งด่วน มาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ทำเป็นภาพกว้างที่จะไม่ใช่แค่การช่วยเหลือท่องเที่ยวเมืองรอง แต่จะเน้นถึงการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศทั้งหมด ส่วนจะเป็นรูปแบบช็อปช่วยชาติหรือไม่นั้นคงไม่สามารถระบุได้ รวมทั้งจะมีการทบทวนการแจกเงินเพื่อให้ไปท่องเที่ยว 1,500 บาท ซึ่งเป็นนโยบายในช่วงที่ผ่านมานั้น ให้ไปทำการบ้านก่อนยังบอกไม่ได้
     รมว.การคลังกล่าวว่า ในส่วนวงเงินและงบประมาณที่ใช้นั้น เบื้องต้นจะใช้งบประมาณปี 2562 ที่เหลืออยู่ ซึ่งมั่นใจจะเพียงพอ เนื่องจากบางมาตรการจะใช้เงิน และบางมาตรการอาจไม่จำเป็นต้องใช้  และยังจำเป็นต้องมีการทำมาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ด้วย อย่างไรก็ตามรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะต้องนำเข้า ครม.เศรษฐกิจก่อนเข้าสู่ ครม.เห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งในแต่ละกระทรวงต้องมีแผนการปรับโครงสร้างภาษีของตัวเอง เช่น ภาษีพลังงาน ภาษีอุตสาหกรรม 
    ส่วนเรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยยังไม่ได้มีการพูดว่าจะปรับแบบไหนหรือเท่าไหร่ โดยทั้งหมดยังต้องดูให้รอบคอบก่อน  เพราะต้องดูว่าการลดภาษีแต่ละส่วนจะกระทบกับรายได้คลังแค่ไหน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ได้รายงานว่าการลดภาษีจะกระทบฐานภาษีเท่าไหร่ ดังนั้นทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด นี่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่มอบให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
ยังไม่หารือยืดตรึงแวต 7%
     นายอุตตมกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 10% เหลือ 7% ออกไป จากที่จะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับรัฐบาลก่อน  
    อย่างไรก็ดี ในส่วนของการผลักดันการระดมทุนผ่านโครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ระยะที่ 2 นั้น จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่ต้องการระดมทุน โดยกระทรวงการคลังมีแผนจะขยายการลงทุน เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนการลงทุนที่สำคัญของประเทศ   เช่น กระทรวงคมนาคม ถึงความพร้อมและความเหมาะสมของโครงการที่จะนำเข้ามาระดมทุน โดยต้องดูในรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะมีแผนดำเนินการอย่างไรเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน จากในช่วงแรกส่วนใหญ่นักลงทุนเป็นรายย่อย
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า นายสมคิดได้เห็นชอบในหลักการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเบื้องต้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้กลับมานำเสนอได้ทันใน ครม.เศรษฐกิจรอบหน้า ก่อนเสนอให้ ครม.ชุดใหญ่เพื่อให้สามารถนำเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 3/2562 โดยมาตรการจะเน้นกระตุ้นกำลังซื้อคนชั้นกลางและดูแลผู้มีรายได้น้อย  โดยมีกรอบงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพราะต้องการให้เป็นยาแรงหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว
    สำหรับแนวทางมาตรการเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จะเน้นกระตุ้นให้คนไทยออกไปเที่ยวในประเทศเพิ่มเพื่อช่วยกระจายเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น เช่น การแจกเงินให้ท่องเที่ยว เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือกับกระทรวงการคลังไปแล้ว ซึ่งประเมินว่าวิธีนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ 2 ต่อ นอกจากมีเม็ดเงินของรัฐลงสู่ระบบแล้ว ยังทำให้ประชาชนกล้านำเงินส่วนตัวไปท่องเที่ยวเพิ่มอีก ช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้เร็ว 
    "มาตรการท่องเที่ยวมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวยังชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศ นอกจากนี้รองนายกฯ สมคิดยังให้จัดทำมาตรการผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดูแลผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จัดทำมาตรการสินเชื่อพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่คนมีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีเงินหมุนเวียนนำไปทำธุรกิจ" แหล่งข่าวระบุ
    ทางด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนายชินจิ นาคาโนะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เข้าพบว่า ยืนยันประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลัก เช่นเรื่อง  4.0 แม้ตอนนี้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ทุกอย่างจะไปในทิศทางเดียวกัน การตั้ง ครม.เศรษฐกิจจะทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบเดียวกัน พร้อมกันนี้เขายังขอให้เราดูแลเรื่องค่าแรง หากจะขึ้นขอให้มีการหารือกันอย่างมีเหตุมีผล และอีกเรื่องคือการสำรวจความรู้สึกของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างอ่อนเพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็ง และการเมืองที่ไม่ชัดเจนในครึ่งปีแรก ทำให้นักลงทุนกังวล แต่ตอนนี้เขามองว่าเมื่อชัดเจนครึ่งหลังของปีน่าจะดีขึ้น และเชื่อว่านักลงทุนประเทศอื่นคงรู้สึกเช่นเดียวกัน
บิ๊กตู่เหมาะคุม ครม.ศก.
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีฝ่ายค้านวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธาน ครม.เศรษฐกิจ นายสมคิดกล่าวว่าเป็นความคิดของฝ่ายค้าน แต่ประเทศไทยจะเดินหน้าได้ทุกอย่างต้องอยู่ในทิศทางที่ชัดเจนและมีพลัง ไม่มีสิ่งใดจะเดินหน้าได้หากนายกฯ ไม่สนับสนุน การที่นายกฯ สนับสนุนเต็มที่และทุกคนร่วมมือกันทำงานน่าจะดี 
    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เปิดเผยว่า ประธานหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด พร้อมแสดงความยินดีและหารือเรื่องการสนับสนุนการลงทุนของคนญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งการหารือมี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.ประเทศญี่ปุ่นคาดหวังให้ไทยขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่องจากนโยบายที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องไทยแลนด์ 4.0  เรื่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยนายสมคิดยืนยันว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลจริง แต่นโยบายต่างๆ จะเดินหน้าตามสิ่งที่ได้ทำมาอย่างเต็มที่ และจะเพิ่มนโยบายเสริมจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นก็มีความสบายใจ 
    2.เรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวน และมีปัญหาเรื่องสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นายสมคิดได้ให้ความมั่นใจกับญี่ปุ่นว่านโยบายต่างๆ จะก้าวไปข้างหน้า และประเทศไทยมีการจัดตั้ง ครม.เศรษฐกิจขึ้นเพื่อให้นโยบายดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของคนญี่ปุ่นในประเทศไทย เขาอยากให้ประเทศไทยสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจกับเขาต่อไป ทั้งเรื่องการลงทุน การคืนภาษี หรือการส่งสินค้าข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนายสมคิดได้ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของประเทศไทยอยู่แล้ว
     นอกจากนี้เขาได้เชิญให้เราไปเยี่ยมประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเราตั้งใจจะไปหารือและพบกับผู้นำของคนญี่ปุ่น และอาจมีการจัดสัมมนาสำคัญเรื่องของการลงทุนในประเทศไทยและในอินโดจีนทั้งหมด ซึ่งการชักชวนครั้งนี้ไม่ใช่ชักชวนมาลงทุนทำมาหากินกับคนไทย แต่ชักชวนให้มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการทำมาหากินกับอินโดจีนทั้งหมด เป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งกำลังดูรายละเอียดว่าจะจัดวันไหนอย่างไร ขณะเดียวกันรอให้ญี่ปุ่นหาวันที่เหมาะสม เพราะเขาก็กำลังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล 
    ทั้งนี้ จากการทำแบบสำรวจความมั่นใจของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าครึ่งหลังของปีนี้ดีกว่าปีแรก นักลงทุนมีความมั่นใจประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาที่นักลงทุนกังวลคือเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า เรื่องการชะลอตัวลงของประเทศจีน และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามคิดว่าการที่เขาทำแบบสำรวจช่วงต้นเดือน พ.ค.นั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีคำตอบเรื่องรัฐบาลอย่างชัดเจน ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความเชื่อมั่นว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และนโยบายต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะเดินไปตามรูปแบบเดิมที่เราตั้งใจไว้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"