จัดทัพ ‘ขรก.การเมือง’ ทั่วถึง–อยู่ในสายตา


เพิ่มเพื่อน    

           ท่ามกลางการถกกันระหว่าง ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีและผู้ช่วยรัฐมนตรีได้หรือไม่

                แต่ไม่มีใครรู้ว่า ช่วงที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้

                โดยกำหนดประเด็นสอบถามชัดเจนว่า ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง อันประกอบด้วย เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และผู้ช่วยรัฐมนตรี ได้หรือไม่ โดยไม่รวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่สามารถเป็นได้

                ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นกลับมาอย่างรวดเร็ว เลขที่ 882/2562 ระบุชัดว่า ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะขัดกับมาตรา 184 (1) ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์

                ตรงกับที่ “บิ๊กตู่” ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า ส.ส.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองได้

                ถือเป็นการสร้างความชัดเจนในแง่กฎหมาย และสงบศึกภายในพรรคพลังประชารัฐทางอ้อม เนื่องจากมี ส.ส.บางส่วนต้องการจะมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หลังพลาดเก้าอี้รัฐมนตรี

                ทว่า สำหรับ “บิ๊กตู่” และแกนนำพรรคบางส่วนนั้น ไม่เห็นด้วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กับการนำ ส.ส.มาเป็นข้าราชการการเมือง มิใช่เพียงแค่กลัวขัดรัฐธรรมนูญ หรือถูกนำไปร้องต่อศาล

                แต่เป็นเพราะ “บิ๊กตู่” ต้องการจะดูแลคนในพรรคพลังประชารัฐให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากยอมลงเรือลำเดียวกันในช่วงเลือกตั้ง

                "บิ๊กตู่” ไม่สามารถพาทุกคนให้เป็น ส.ส. และรัฐมนตรีได้ ดังนั้น ตำแหน่งข้าราชการการเมืองจึงเป็นอีกช่องทางที่จะดูแลผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตก และเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยงานพรรคตั้งแต่ต้น

                มิใช่เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล แต่ต้องดูแลทุกคนเอาไว้ อย่างน้อยในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว

                กระนั้น บรรดาผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตก กับจำนวนเจ้าหน้าที่นั้นมีปริมาณมาก ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีตำแหน่งได้ จึงต้องมีการวางเกณฑ์ โดยดูผลเลือกตั้งจากครั้งที่ผ่านมาว่า แพ้คู่แข่งมากน้อยเพียงใด หากปราชัยให้คู่แข่งไม่มาก จะอยู่ในข่ายได้ตำแหน่ง เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า

                เดิมทีเคยมีบางส่วนเสนอว่า ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ควรจะให้ตำแหน่งข้าราชการการเมืองแก่ลำดับที่ใกล้เคียงจะได้ ส.ส.โดยไล่ลำดับลงไปเรื่อยๆ แต่ถูกคัดค้าน เพราะบรรทัดฐานนี้ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากบางคนแม้จะอยู่ลำดับท้ายๆ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีความสามารถ

                อีกทั้งตอนจัดทำผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น การไล่เรียงใช้หลักโควตา ไม่ได้ใช้หลักความรู้ความสามารถเป็นหลัก ที่สุดข้อเสนอนี้จึงตกไป

                เปลี่ยนมาเป็นให้รัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะเลือกจากบุคคลในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี

                เช่น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เสนอ นายธนกิจ จิตอารีย์รัตน์ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรค เป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 30 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีดีอี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เสนอ นายภิรมย์ พลวิเศษ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 เป็นเลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม เป็นต้น

                ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อที่สอบตก ซึ่งเป็นบิ๊กเนมและเข้ามาช่วยงานพรรคในช่วงเลือกตั้ง จะต้องมีตำแหน่งรองรับทั้งหมด อาทิ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี, นายทศพล เพ็งส้ม อดีต ส.ส.นนทบุรี, นายฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส.นนทบุรี, นายเวียง วรเชษฐ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตส.ส.นครราชสีมา, นายทวี สุระบาล อดีต ส.ส.ตรัง

                ส่วนตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อ นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐนั้น ปรากฏว่าจะไปดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่มีรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐอยู่ และจะทำหน้าที่ปกป้อง “บิ๊กตู่” ในฐานะโฆษกพรรคแทนนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองแล้ว

                อย่างไรก็ดี แม้รัฐมนตรีทุกคนได้สิทธิ์เสนอชื่อคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่ตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ถูกสงวนไว้ให้นายกฯ

                ไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐ แต่หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ที่ “บิ๊กตู่” จะเป็นคนเลือกผู้ช่วยรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงด้วยตัวเอง

                เป็นการจัดทัพที่ต้องการดูแลให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขณะเดียวกันก็เป็นยุทธศาสตร์ในการกำกับดูแลเพื่อให้ทุกคนอยู่ในสายตา “บิ๊กตู่”. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"