คณะทำงานของยูเอ็นเผยรายงานเปิดโปงอาณาจักรธุรกิจของกองทัพเมียนมา ที่รายได้มหาศาลถูกนำมาใช้สนับสนุนปฏิบัติการปราบปรามอย่างโหดร้าย พร้อมแฉมีบริษัทต่างชาติอย่างน้อย 59 แห่ง ทำธุรกิจกับกองทัพเมียนมาที่อาจถือเป็นผู้ร่วมก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศด้วย
แฟ้มภาพ วันที่ 15 กันยายน 2559 สำนักงานใหญ่บริษัท เมียนมาอีโคโนมิกคอร์ปอเรชัน ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กลุ่มบริษัทของกองทัพเมียนมา และโดนสหรัฐคว่ำบาตร / AFP
รายงานของเอเอฟพีและรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 กล่าวว่า คณะสอบสวนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานการค้นหาข้อเท็จจริงความยาว 111 หน้า เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกองทัพเมียนมา และลงโทษบริษัทต่างชาติเหล่านี้ที่อาจมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของกองทัพเมียนมา
มาร์ซูกิ ดารุสมาน ประธานคณะทำงานของยูเอ็นชุดนี้กล่าวที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันอาทิตย์ หนึ่งวันก่อนเผยแพร่รายงานว่า รายงานฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่ให้ภาพชัดเจนว่ามีบริษัทจากยุโรปและเอเชียแห่งใดบ้างที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงเปิดโปงความสัมพันธ์และการละเมิดสนธิสัญญาและบรรทัดฐานหลายอย่างของยูเอ็น การตัดสัมพันธ์จะลดศักยภาพของกองทัพเมียนมาในการปฏิบัติการทางทหารที่ปราศจากการกำกับดูแล และจะถือเป็นการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
เมื่อปีที่แล้ว คณะทำงานชุดเดียวกันนี้เคยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับพวกนายพลเมียนมาข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สืบเนื่องจากการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ที่ทำให้ชาวโรฮีนจาหนีเข้าบังกลาเทศราว 740,000 คน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า มีบริษัทต่างชาติไม่ต่ำกว่า 59 บริษัท ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกองทัพเมียนมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บริษัทเหล่านี้มีทั้งจากฝรั่งเศส, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, ฮ่องกง และจีน เป็นอาทิ ในจำนวนนี้ 15 บริษัททำกิจการร่วมค้ากับกลุ่มบริษัท 2 แห่งของกองทัพเมียนมา หรือบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทเหล่านี้
คณะสอบสวนชุดนี้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเปิดการสอบสวนอาญาบริษัทเหล่านี้ รวมถึงห้ามการค้าอาวุธแก่เมียนมาอย่างสิ้นเชิง โดยรายงานยังได้ระบุชื่อบริษัท 14 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทของรัฐ เช่น อิสราเอล, อินเดีย, เกาหลีใต้ และจีน ที่ขายอาวุธหรือยุทธภัณฑ์ให้แก่กองทัพเมียนมานับแต่ปี 2559
กลุ่มบริษัทของกองทัพเมียนมา 2 แห่ง ได้แก่ เมียนมาอีโคโนมิกโฮลดิงส์ลิมิเตด (เอ็มอีเอชแอล) และเมียนมาอีโคโนมิกคอร์ปอเรชัน (เอ็มอีซี) กับบริษัทลูกและบริษัทพวกพ้องอีกจำนวนมาก มีการลงทุนในหลายภาคธุรกิจ เช่น อัญมณี, ทองแดง, โทรคมนาคม และสิ่งทอ ทั้งยังเป็นเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่สุดของเมียนมา 2 แห่ง คือ เมียวดีและอินวะ
รายงานยังกล่าวถึงการบริจาคของบริษัทเอกชนหลายสิบแห่ง ที่มอบเงินรวมกันมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ แก่กองทัพเมียนมาในช่วงปฏิบัติการต่อต้านโรฮีนจา ซึ่งต่อมาเงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในโครงการพัฒนา เพื่อช่วยเหลือกองทัพเมียนมาลบหลักฐานที่ว่าโรฮีนจาเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |